บาลีวันละคำ

อิสฺวาสุ (บาลีวันละคำ 2,344)

อิสฺวาสุ

หัวใจพระรัตนตรัย

อ่านว่า อิ-สฺวา-สุ

เป็นคำที่ตัดมาจากบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แยกเป็น อิ + สฺวา + สุ

(๑) “อิ

ตัดมาจากคำเต็มว่า “อิติปิ โส” (มีข้อความต่อไปอีก) ขอยกคำบาลีมาอธิบาย 3 คำ คือ “อิติ” “ปิ” “โส” ดังนี้ –

(1) “อิติ” (อิ-ติ)

เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้

(2) ว่าดังนี้

(3) ด้วยประการนี้

(4) ชื่อ

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น)

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

(2) “ปิ

เป็นคำจำพวกนิบาต ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “ปิ” ว่า “แม้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิ” เป็นภาษาอังกฤษไว้หลายคำ ขอยกมาเสนอในที่นี้เพื่อประกอบความรู้ โปรดสังเกตว่าบางข้อใช้คำแปลซ้ำกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน ความหมายก็ย่อมจะต่างกันไปด้วย

(1) also, and also, even (ด้วย, และ, ถึงกระนั้น)

(2) even, just so (ถึงแม้, เช่นนั้นทีเดียว)

(3) but, however, on the other hand, now [continuing a story] (แต่, อย่างไรก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง, บัดนี้ [ดำเนินเรื่องให้ติดต่อกัน])

(4) although, even (แม้ว่า, ถึงแม้ว่า)

(5) perhaps, it is time that, probably (บางที, พอจะ, อาจจะ)

(3) “โส

เป็นคำสรรพนามชนิด “วิเสสนสัพพนาม” คือสรรพนามที่ขยายคำนามทั่วไป คำเดิมคือ “” (เรียกกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “ตะศัพท์” แปลว่า “นั้น” (คนนั้น เรื่องนั้น สิ่งนั้น ฯลฯ)

” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โส

ในคำว่า “อิติปิ โส” นี้ “โส” เป็นคำขยายคำว่า “ภควา” คือเป็น “โส ภควา” แปลว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

(๒) “สฺวา

ตัดมาจากคำเต็มว่า “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม” (มีข้อความต่อไปอีก) ขอยกมาอธิบายเฉพาะคำว่า “สฺวากฺขาโต” คำเดียวดังนี้ –

สฺวากฺขาโต” (สฺวาก-ขา-โต) รูปคำเดิมคือ “สฺวากฺขาต” (สฺวาก-ขา-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อกฺขาต

(ก) “อกฺขาต” (อัก-ขา-ตะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ปัจจัย, รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > + กฺ + ขา)

: อา > + กฺ + ขา = อกฺขา + = อกฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้ว” หมายถึง ประกาศ, ป่าวร้อง, กล่าว, บอก, แสดง (announced, proclaimed, told, shown)

(ข) สุ + อกฺขาต แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ทีฆะสระหลัง คือ อะ ที่ อกฺ-(ขาต) เป็น อา (อกฺขาต > อากฺขาต)

: สุ > โส > สฺว + อกฺขาต = สวกฺขาต > สฺวากฺขาต

(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ปัจจัย, แปลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา + กฺ + ขา)

: สุ > โส > สฺว + อา + กฺ + ขา = สฺวากฺขา + = สฺวากฺขาต

สฺวากฺขาต” แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กล่าวดียิ่งแล้ว” นิยมแปลกันทั่วไปว่า (พระธรรม) อัน (พระผู้มีพระภาค) ตรัสไว้ดีแล้ว (well preached)

(๓) “สุ

ตัดมาจากคำเต็มว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ” (มีข้อความต่อไปอีก) ขอยกมาอธิบายเฉพาะคำว่า “สุปฏิปนฺโน” คำเดียวดังนี้ –

สุปฏิปนฺโน” (สุ-ปะ-ติ-ปัน-โน) รูปคำเดิมคือ “สุปฏิปนฺน” (สุ-ปะ-ติ-ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปทฺ > ), แปลง เป็น นฺน (หรือนัยหนึ่ง แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น นฺน)

: สุ + ปฏิ + ปทฺ = สุปฏิปทฺ + = สุปฏิปทฺต > สุปฏิปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปถึงเฉพาะด้วยดี” “ผู้ดำเนินไปด้วยดี” “ผู้ปฏิบัติดี

สุปฏิปนฺน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุปฏิปนฺโน” (สุ-ปะ-ติ-ปัน-โน)

ดูเพิ่มเติม:

อิติปิ โส [2]” บาลีวันละคำ (2,282) 11-9-61

สฺวากฺขาโต [2]” บาลีวันละคำ (2,298) 27-9-61

พระสุปฏิบัน” บาลีวันละคำ (2,277) 6-9-61

อภิปราย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “หัวใจ” บอกไว้ว่า –

หัวใจ : (คำนาม) อวัยวะภายในสําหรับฉีดเลือดให้หมุนเวียนเลี้ยงร่างกาย; ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ รู้สึก นึก และคิด, เช่น เขาทำอย่างนี้เหมือนเป็นคนไม่มีหัวใจ; ส่วนสําคัญแห่งสิ่งต่าง ๆ; อักษรย่อของหลักธรรมหรือข้อความต่าง ๆ ที่ผูกไว้เพื่อกําหนดจําได้ง่าย นิยมว่าเป็นของขลัง เช่น หัวใจอริยสัจ ว่า ‘ทุ. ส. นิ. ม.’ หัวใจนักปราชญ์ ว่า ‘สุ. จิ. ปุ. ลิ.’ หัวใจเศรษฐี ว่า ‘อุ. อา. ก. ส.’.”

คำว่า “อิสฺวาสุ” เรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ตามนัยแห่งคำนิยามในพจนานุกรมฯ เพราะเป็นคำที่ตัดมาจากคำแรกของบทแสดงคุณพระรัตนตรัยแต่ละห้อง คือ –

อิ” ตัดมาจาก “อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ  …” (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า…)

สฺวา” ตัดมาจาก “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม …” (พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว…)

สุ” ตัดมาจาก “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ …” (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว…)

อิสฺวาสุ” จึงเรียกกันว่า “หัวใจพระรัตนตรัย

ในหมู่นักเล่นคาถาอาคมย่อมนิยมกันว่า “หัวใจ” ต่างๆ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นของขลัง มีอานุภาพแตกต่างกันไปตามชนิดของหัวใจแต่ละอย่างๆ

เหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดถ้อยคำจำพวก “หัวใจ” ขึ้นในคำบาลีนั้น ผู้รู้ท่านอธิบายไว้ว่า เพราะประสงค์จะให้เป็นเครื่องช่วยระลึกถึงคำเต็มหรือข้อความเต็มๆ ได้ เป็นอย่างที่ว่า-พอเห็นหัวข้อก็ระลึกถึงข้อความต่อไปได้ง่าย

โดยนัยนี้ “หัวใจ” ก็คือเทคนิคหรือศิลปะอย่างหนึ่งในการจำนั่นเอง ต่อมาจึงเกิดนิยมกันขึ้นว่าเป็นคำขลังคำศักดิ์สิทธิ์

บางท่านอธิบายเสริมว่า ในยามฉุกละหุกฉุกเฉิน เช่นในสงครามมีการสู้รบติดพันกัน จะสวดสาธยายบทเต็มๆ ไม่ทัน จึงตัดเอามาเฉพาะคำย่อสำหรับภาวนาเสริมกำลังใจ นี่ก็เป็นทางมาของ “หัวใจ” อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของคำประเภท “หัวใจ” ก็คือต้องรู้คำเต็มหรือข้อความเต็ม พร้อมทั้งรู้ความหมายของคำหรือข้อความนั้นโดยตลอดด้วย

ถ้ารู้แต่คำที่เป็น “หัวใจ” แต่ไม่รู้คำเต็มหรือไม่รู้ความหมาย “หัวใจ” ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีหัวใจ

: ไม่สำคัญเท่ากับมีอะไรอยู่ในหัวใจ

#บาลีวันละคำ (2,344)

12-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *