วิพุธํ (บาลีวันละคำ 2,351)
วิพุธํ
ไม่ใช่ วิพุทฺธํ
อ่านว่า วิ-พุ-ทัง
“วิพุธํ” เขียนเป็นคำอ่านว่า “วิพุธัง” เป็นคำบาลีที่อยู่ในพุทธชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) บทที่ 7
“วิพุธํ” ปรากฏอยู่ในวรรคแรกของบทที่ 9 ข้อความเต็มๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทธึ
ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต
อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
พญานาคราชชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก
พระจอมมุนีโปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส
นิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
พระจอมมุนีโปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส
นิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานพญานาคราชชื่อนันโทปนันทะ
ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
…………..
ขยายความ :
คำว่า “วิพุธํ” (วิ-พุ-ทัง) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + พุธฺ (ธาตุ = ตื่น, รู้) + อ ปัจจัย
: วิ + พุธฺ = วิพุธฺ + อ = วิพุธ (วิ-พุ-ท)
คำว่า “วิพุธ” แปลว่าอะไรได้บ้าง
(๑) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตื่นอย่างวิเศษ” (คือไม่หลับ) หมายถึง เทวดา
ในความหมายนี้ “วิ-” แปลว่า “วิเศษ” “ตื่นอย่างวิเศษ” คือตื่นชนิดที่ไม่ต้องหลับก็อยู่ได้ตามปกติ
(๒) เป็นคุณศัพท์ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้อย่างพิเศษ” “ผู้รู้แจ้ง” หรือ “ผู้รู้ต่างๆ” หมายถึง บัณฑิต, นักปราชญ์
ในความหมายนี้ “วิ-” แทนศัพท์ว่า “วิเสส” (วิ-เส-สะ) แปลว่า “พิเศษ”
(๓) เป็นคุณศัพท์ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ผิด” หมายถึง คนพาล, คนเห็นผิดเป็นชอบ
ในความหมายนี้ “วิ-” แทนศัพท์ว่า “วิปรีต” (วิ-ปะ-รี-ตะ) แปลว่า “ผิดปรกติ, ผิดแนวทาง” หรือ “วิปลฺลาส” (วิ-ปัน-ลา-สะ) แปลว่า “ความผิดเพี้ยน”
คำว่า “วิพุธํ” ในพุทธชัยมงคลคาถาบทนี้ใช้ในความหมายตามข้อ (๓)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิพุธ” บอกไว้ดังนี้ –
“วิพุธ : (คำนาม) เทวดา, อมร; บัณฑิต; นรผู้คงแก่เรียน; ครู, อาจารย์; จันทร์; a god, an immortal; a Paṇḍit, a learned man; a teacher; the moon.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิพุธ : (คำนาม) ผู้รู้, นักปราชญ์. (ป., ส.).”
อภิปราย :
คำว่า “วิพุธํ” นี้ บางวัดบางสำนัก (หลายวัดหลายสำนัก) สวดเป็น วิ-พุด-ทัง คือออกเสียง -พุ- เป็น -พุด-
โปรดทราบว่า “วิพุธํ” (วิพุธัง)
ไม่ใช่ “วิพุทฺธํ” (วิพุทธัง)
เป็นคนละคำกัน โปรดออกเสียงให้ถูก
ถ้าดูในแผนผังวสันตดิลกฉันท์จะเห็นชัดเจนว่า –พุ– ในคำว่า “วิพุธํ” อยู่ในลำดับคำที่เป็นลหุ คือคำที่เป็นเสียงเบาหรือเสียงสั้น (พุ– เสียงเบาหรือเสียงสั้น, พุท– เสียงหนักหรือเสียงยาว)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รู้ ก็แค่ไม่ใช่บัณฑิต
: แต่ถ้ารู้ผิด เป็นคนพาล
#บาลีวันละคำ (2,351)
19-11-61