คำบูชาพระปิยมหาราช (บาลีวันละคำ 2,352)
คำบูชาพระปิยมหาราช
มีผู้ส่งภาพ “คาถาบูชาพระปิยะมหาราช” มาขอให้แปลและแสดงความเห็น ข้อความตามภาพเป็นดังนี้ (ดูภาพแรก)
………………………………….
คาถาบูชาพระปิยะมหาราช
พระสยามมินโธ วะโรอิติ พุทธสังมิ อิติอรหัง
สะหัตสกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ
………………………………….
คำบาลีข้างต้นนี้ ถ้าจะให้แปลก็แปลเป็นคำๆ ได้ดังนี้
พระสยามมินโธ (สฺยามินฺโท) = ผู้เป็นใหญ่ในสยาม
วะโร = ผู้ประเสริฐ
อิติ = ดังนี้, ด้วยประการฉะนี้
พุทธสังมิ = คำนี้เป็น “หัวใจไตรสรณคมน์”
“พุท” ย่อมาจาก พุทธัง
“ธะ” ย่อมาจาก ธัมมัง
“สัง” ย่อมาจาก สังฆัง
“มิ” ย่อมาจาก คัจฉามิ
คำเต็มๆ –
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
แปลว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”
อรหัง = ผู้ไกลจากกิเลส, พระอรหันต์
สะหัตสกายัง (สะหัสสะกายัง) = กายหนึ่งพัน, ร่างกายหนึ่งพันร่าง
วะรัง = ประเสริฐ
พุทโธ = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, พระพุทธเจ้า
นะโม พุทธายะ = ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า
อภิปราย :
ดูตามคำแปลจะเห็นได้ว่า คำที่เรียกกันว่า “คาถาบูชาพระปิยะมหาราช” นี้ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวอะไรกับ “พระปิยมหาราช” เลยแม้แต่คำเดียว ยกเว้นคำว่า “พระสยามมินโธ” (ดูคำอธิบายข้างหน้า)
คำบูชาลักษณะนี้เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นโดยจับเอาคำบาลีนั่นนี่โน่นมาประสมกันตามความเข้าใจหรือความต้องการของตนเองโดยไม่รับรู้ว่าคำบาลีนั้นๆ จะมีความหมายอย่างไร
หลายๆ แห่งเกิดจากความนิยมส่วนตัวของบางคน (อย่างเช่นบอกกันว่า ทำเรื่องนี้ข้าพเจ้าใช้คาถาบทนี้) แล้วเผยแพร่ออกไป ใครที่ชอบก็เอาไปบอกต่อไปอีก ครั้นมากเข้าก็เลยกลายเป็นถ้อยคำที่ดูเหมือนว่าเป็นสากลหรือสาธารณะ
คนที่คัดลอกบอกต่อกันมาส่วนมากไม่รู้บาลี คนที่มีศรัทธา “สร้าง” คำบูชาก็ไม่รู้บาลี ร้านที่รับจ้างทำคำบูชาก็ไม่รู้บาลี เวลาคิด-ผลิตคำบูชาออกมาก็ไม่เคยสอบถามคนที่รู้บาลีให้ได้คำที่ถูกต้องถ่องแท้ แต่น่าประหลาดที่ชอบสร้างถวายกันนัก
คำพวกนี้จึงมักสะกดผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามๆ กันไปจนน่าเอือมระอาที่จะตามไปแก้
อย่างเช่น “พระสยามมินโธ” “พระสะยามะมินโท” “พระสยามมินทร์โธ” นี่คือสะกดตามเสียงที่ได้ยินผสมกับความเข้าใจเอาเองเรื่อยเปื่อย
คำนี้ถ้าจะสะกดให้ถูกตามบาลีต้องเขียนว่า “สฺยามินฺโท”
“สฺยามินฺโท” รูปคำเดิมเป็น “สฺยามินฺท” แยกคำเป็น สฺยาม + อินฺท
(๑) “สฺยาม”
อ่านตามบาลีว่า สฺ-ยา-มะ หรือจะออกเสียงว่า เซีย-อา-มะ ก็ได้ คำนี้เขียนในภาษาไทยเป็น “สยาม” อ่านว่า สะ-หฺยาม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สยาม : ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒; ของประเทศไทย.”
มีผู้สันนิษฐานว่า “สยาม” ที่เป็นชื่อประเทศไทยมาจากคำสันสกฤตว่า “ศยาม” เนื่องจากคนไทยมีผิวสีคล้ำ
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศฺยาม : มีสีดำหรือสีครามหม่น; มีสีเขียว black or dark-blue; green.”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ศยาม : (คำวิเศษณ์) ดํา, คลํ้า. (ส.).”
“ศฺยาม” สันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ)
“สาม” รากศัพท์มาจาก –
(1) สา (ธาตุ = ทำให้บาง) + ม ปัจจัย
: สา + ม = สาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาทำให้จางลงด้วยสีตรงข้าม” (2) “สีที่ทำให้ความสวยงามด้อยลง”
(2) สา (ศรี, สิริ) + เม (ธาตุ = เปลี่ยน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แผลง เอ ที่ เม เป็น อ (เม > ม)
: สา + เม = สาเม + กฺวิ = สาเมกฺวิ > สาเม > สาม แปลตามศัพท์ว่า “สีเป็นเหตุเปลี่ยนไปแห่งสิริ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า “สาม : เทียบ ศฺยาม ดำ ศฺยาว น้ำเงิน (śyāma black & śyāva brown) และบอกความหมายไว้ดังนี้ –
1 ดำ, มืด (เหมือนน้ำตาลแก่) (black, dark [something like deep brown])
2 เหลือง, มีสีทอง, งดงาม (yellow, of a golden colour, beautiful)
จะเห็นได้ว่า สาม–ศฺยาม–สยาม ไม่ได้แปลว่าดำ หรือคล้ำ อย่างเดียว แต่หมายถึงสีเหลือง สีทอง หรืองดงามก็ได้ด้วย
(๒) “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(๑) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
(๒) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
“อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”
สฺยาม + อินฺท = สฺยามินฺท (เซีย-อา-มิน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ในสยาม” หมายถึง พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย คำนี้ในภาษาไทยใช้เป็น “สยามินทร์”
“สฺยามินฺท” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สฺยามินฺโท”
สฺยามินฺโท > สฺยามินฺท > สยามินทร์ ตามศัพท์แล้วหมายถึงพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ ไม่ใช่เฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือ “พระปิยมหาราช” แต่มีเอกสารลายพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “สยามินทร์” (ดูภาพประกอบ) จึงพอจะอนุโลมให้ได้ว่า ในที่บางแห่งคำบาลีว่า “สฺยามินฺโท” หมายถึง “พระปิยมหาราช” ก็ได้
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนหนึ่งในบ้านเมืองเราศรัทธากับปัญญายังไม่สมดุลกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ศรัทธาเกินปัญญา เชื่อหมดทุกอย่าง
: ปัญญาเกินศรัทธา ค้านหมดทุกเรื่อง
: ศรัทธากับปัญญาสมดุลกัน ทำเหมาะสมทุกกรณี
—————–
(ตอบคำถามค้างปีของ ฉัตรบดินทร์ ฉัตรมิตร)
#บาลีวันละคำ (2,352)
20-11-61