อกฺขรํ เอกเมกญฺจ (บาลีวันละคำ 2,356)
อกฺขรํ เอกเมกญฺจ
พุทฺธรูปสมํ สิยา
อ่านว่า อัก-ขะ-รัง เอ-กะ-เม-กัน-จะ
พุด-ทะ-รู-ปะ-สะ-มัง สิ-ยา
ข้อความนี้เป็นคาถาปัฐยาวัต 2 บาทหรือ 2 วรรค แหล่งที่มาเท่าที่ปรากฏเป็นแห่งแรกคือเป็นข้อความที่เขียนไว้ตอนท้ายคัมภีร์สาสนวํสปฺปทีปิกา ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ (ดูภาพประกอบภาพแรก และโปรดสังเกตว่ามีการนำไปอ้างอิงต่อไปอีกด้วยตามภาพประกอบอีก 2 ภาพ)
อกฺขรา เอกํ เอกญฺจ……….พุทฺธรูปํ สมํ สิยา
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส….ลิกฺเขยฺย ปิฏกตฺตยํ.
ผู้เขียนบาลีวันละคำข้องจิตในคาถา 2 บาทแรกเป็นอันมาก ขอแสดงความเห็นดังนี้
(๑) “อกฺขรา” รูปคำเดิมคือ “อกฺขร” (อัก-ขะ-ระ) ศัพท์นี้เป็นทั้งปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์ “อกฺขรา” เป็นรูปปุงลิงค์ พหุวจนะ (พหูพจน์) ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค
(๒) คำที่เป็นกริยาในประโยคคือ “สิยา” เป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) จะเห็นได้ว่าประธานกับกริยามีวจนะไม่ตรงกัน-ผิดแห่งที่ 1
(๓) “เอกํ” ทั้ง 2 คำ (เอกํ เอกํ + จ) ทำหน้าที่เป็น “วิเสสนะ” คือคำขยายประธาน ตามหลัก ประธานเป็นวจนะใด คำขยายก็ต้องเป็นวจนะนั้น ในที่นี้ “เอกํ” เป็นรูปเอกวจนะ ประธานคือ “อกฺขรา” เป็นพหุวจนะ-ผิดแห่งที่ 2
(๔) คำว่า “เอกํ” คำแรก พยางค์ –กํ เป็นคำลำดับที่ 5 ในบาทที่ 1 ซึ่งตามกฎของคาถาปัฐยาวัตคำลำดับที่ 5 ในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 ต้องเป็นคำลหุ (คำเสียงเบา คือเสียงสั้น) แต่ –กํ เป็นคำครุ (คำเสียงหนัก คือเสียงยาว) -ผิดแห่งที่ 3
ในที่นี้ วิธีแก้ก็ทำได้ง่ายๆ คือเอา เอกํ คำแรกสนธิกับ เอกํ คำหลังเป็น “เอกเมกํ” (เอ-กะ-เม-กัง และ –กํ คำหลังก็ไปสนธิกับ “จ” เป็น “เอกเมกญฺจ”) เท่านี้ –กํ (กัง) คำแรกก็กลายเป็น –ก (กะ) เป็นคำลหุตรงตามกฏ
(๔) “พุทฺธรูปํ สมํ” แยกเป็นคนละศัพท์ แปลอย่างไร? แยกอย่างนี้ต้องแปลว่า “พุทฺธรูปํ” = (อักษรตัวหนึ่งๆ) เป็นพระพุทธรูป “สมํ” = เป็นสิ่งที่เสมอ
จะเห็นได้ว่าความหมายผิดเพี้ยน อักษรจะเป็นพระพุทธรูปได้อย่างไร ผิดไปจากความหมายที่ต้องการจะพูด
ที่ถูก ทั้ง 2 คำ ต้องเป็นศัพท์เดียวกัน คือเป็น “พุทฺธรูปสมํ” แปลว่า “เสมอกับพระพุทธรูป” หรือ “เทียบเท่ากับพระพุทธรูป” – อย่างนี้ได้ความตามที่ประสงค์
ตามความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ คาถา 2 บาทนี้ควรแก้เป็น –
อกฺขรํ เอกเมกญฺจ……….พุทฺธรูปสมํ สิยา
แปลยกศัพท์ :
อกฺขรํ = อันว่าอักษร
เอกํ จ = ตัวหนึ่งด้วย
เอกํ จ = ตัวหนึ่งด้วย
(เอกเมกญฺจ แยกคำเป็น เอกํ + เอกญฺจ เวลาแปลต้องเอา “จ” [จะ] ควบ “เอกํ” ทั้ง 2 คำ)
พุทฺธรูปสมํ = เป็นสิ่งอันเสมอกับพระพุทธรูป
สิยา = พึงเป็น
ตสฺมา หิ = เพราะเหตุนั้นแล
ปณฺฑิโต โปโส = อันว่าคนผู้เป็นบัณฑิต
ลิกฺเขยฺย = พึงเขียน
ปิฏกตฺตยํ = ซึ่งหมวดสามแห่งปิฎก
แปลเอาความ :
อักขระตัวหนึ่งๆ เทียบเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
เหตุนั้น คนฉลาดควรเขียน (คือควรสร้าง) พระไตรปิฎก
…………..
ระวัง: คำว่า “ตัวหนึ่งๆ” อ่านว่า “ตัวหนึ่งตัวหนึ่ง”
ไม่ใช่ “ตัวหนึ่งหนึ่ง”
…………..
เข้าใจว่าคาถาบทนี้เป็นคำที่มีผู้แต่งเติมขึ้นภายหลังในเวลาที่มีการจารหรือเขียนต้นฉบับคัมภีร์สาสนวํสปฺปทีปิกา (ไม่ใช่ถ้อยคำของผู้รจนาคัมภีร์) เพื่อแสดงอานิสงส์ของการ “สร้าง” พระไตรปิฎกขึ้นไว้ในพระศาสนา เป็นการจูงใจคนให้เกิดศรัทธาในการสร้างคัมภีร์ ทำนองเดียวกับที่เมื่อมีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือก็มีการชักชวนผู้คนให้ “สร้าง” พระไตรปิฎกถวายวัด และคลี่คลายมาเป็นพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทานที่นิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน
ท่านอาจารย์สิริ เพชรไชย เปรียญธรรม 9 ประโยค (พ.ศ.2490) สำนักวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ (ถึงแก่กรรมแล้ว) เคยนำคติที่มีผู้ตั้งขึ้นว่า “เขียนอักษรพระไตรปิฎกตัวหนึ่งเท่ากับสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” ตามคาถานี้มาตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นที่ว่านี้ ใครลบอักษรพระไตรปิฎกตัวหนึ่งจะมิเท่ากับว่าทำลายพระพุทธรูปไปองค์หนึ่ง-ดอกหรือ?
คำถามนี้นักเชิญชวนให้สร้างพระไตรปิฎกควรมีคำตอบ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สร้างพระไตรปิฎก ต่ออายุโรงพิมพ์หนังสือไทย
: ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ต่ออายุพระศาสนา
#บาลีวันละคำ (2,356)
24-11-61