บาลีวันละคำ

พิเภกสวามิภักดิ์ (บาลีวันละคำ 2,357)

พิเภกสวามิภักดิ์

อ่านว่า พิ-เพก-สะ-หฺวา-มิ-พัก

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงโขน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2561

โขนที่แสดงในครั้งนี้เป็นตอนที่ตั้งชื่อว่า “พิเภกสวามิภักดิ์

บาลีวันละคำขอแนะนำคำว่า “พิเภก” และ “สวามิภักดิ์

(๑) “พิเภก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิเภก : (คำนาม) ชื่อสมอชนิดหนึ่ง. (ดู สมอ ๒). (ป. วิภีตก).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำไทยว่า “พิเภก” บาลีเป็น “วิภีตก

วิภีตก” บาลีอ่านว่า วิ-พี-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก วิภูต (ไม่มี, ไม่เป็น, ดับสูญ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, แปลง อู ที่ วิภูต เป็น อี (วิภูต > วิภีต), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ) และลบ กฺวิ ปัจจัย

: วิภูต + กรฺ = วิภูตกรฺ + กฺวิ = วิภูตกรกฺวิ > วิภีตกรฺกฺวิ > วิภีตกร > วิภีตก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้โรคหาย

การกลายรูป :

(1) แผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย : วิภีตก = พิภีตก

(2) แผลง อี เป็น เอ : พิภีตก = พิเภตก

(3) ลบ (ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง) : พิเภตก = พิเภก

วิภีตก” ควรจะกลายรูปเป็น “พิเภตก์” (-สะกด -การันต์) อ่านว่า พิ-เพด แต่ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พิ-เพด ออกเสียงไม่ถนัดปาก หรือ ในภาษาไทยกลายเป็น ได้ (เช่น ตรึง = กรึง ตรอก = กรอก) “พิเภตก์” จึงกลายเป็น “พิเภกก์” แล้วเลยลบ ออกเสียตัวหนึ่ง กลายเป็น “พิเภก” อย่างที่เห็นอยู่

พึงทราบว่า ที่มาของศัพท์ตามที่แสดงมานี้หมายถึง “พิเภก” ที่เป็นชื่อไม้สมอชนิดหนึ่ง ซึ่งสะกดอย่างเดียวกับชื่อ “พิเภก” ในเรื่องรามเกียรติ์

ส่วนชื่อ “พิเภก” ในเรื่องรามเกียรติ์จะมาจาก “วิภีตก” คำเดียวกันนี้หรือมิใช่ ไม่อาจยืนยันได้

สมญาภิธานรามเกียรติ์ เรียบเรียงโดย “นาคะประทีป” บรรยายสรุปเรื่องของ “พิเภก” ไว้ดังนี้

…………..

พิเภก (ว. วิภีษณ) : ชาติก่อนเป็นเวสสุญาณเทพบุตร, เกิดเป็นน้องร่วมครรภ์ทศกัณฐ์ โดยความประสงค์ของพระเป็นเจ้าให้เป็นไส้ศึกรู้ตื้นลึกในพวกยักษ์จะได้เผยแก่พระนารายณ์ ผู้จะอวตารไปปราบพวกยักษ์, หน้าสีเขียว, ทรงมงกุฎน้ำเต้า, เมียชื่อตรีชฎา. ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์ทรงสุบิน อันเป็นนิมิตต์บอกมรณสัญญา, ให้พิเภกทำนาย, และขอให้บอกพิธีสะเดาะเคราะห์. พิเภกแนะนำให้ส่งนางสีดาคืน. ทศกัณฑ์กริ้ว, ให้ริบราชบาทว์แล้วขับจากลงกา, ส่งตัวนางตรีชฎาไปอยู่เป็นสาวใช้นางสีดา. เมื่อพิเภกพิจารณาดวงชาตาของตน, เห็นว่าพระรามเป็นผู้อุปถัมภ์อย่างดี, จึงไปสมัครอยู่กับพระราม, ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ในการสงครามมาก. เสร็จศึกลงกาแล้ว, พระรามอภิเษกให้เป็นเจ้าลงกา ขนานนามว่าท้าวทศคิริวงศ์, ให้นางตรีชฎาเป็นมเหสีฝ่ายขวา นางมณโฑเป็นฝ่ายซ้าย. เมื่อไพนาสุริยวงศ์ลูกทศกัณฐ์เป็นกบฏ ไปขอกองทัพท้าวจักรวรรดิเมืองมลิวันไปตีลงกา. ท้าวจักรวรรดิไปด้วย จับพิเภกได้จำตรุไว้, ตั้งไพนาสุริยวงศ์เป็นเจ้าลงกามีนามว่าทศพิน. ครั้นพระพรตพระสัตรุดยกกองทัพไปปราบกบฏที่ลงกา แก้พิเภกออก, สำเร็จโทษไพนาสุริยวงศ์แล้ว, ยกกองทัพไปปราบท้าวจักรวรรดิ. พิเภกไปในกองทัพด้วย, ต่อเสร็จศึกมลิวันแล้วจึ่งกลับครองลงกาตามเดิม, มีโคลงประจำภาพว่า –

พิเภกน้องแทตย์ท้าว…….ทศกัณฐ์

คือแว่นเวสสุญาณสรร……สืบสร้าง

เพทางคศาสตร์ขยัน……..ยลยวด ยิ่งเฮย

ทรงมงกุฎน้ำเต้าอ้าง…….อาตม์พื้นขจีพรรณ.

ที่มา: สมญาภิธานรามเกียรติ์ เรียบเรียงโดย “นาคะประทีป”

สำนักพิมพ์แพร่พิทยา พระนคร. 2510. หน้า 67-68

…………..

“ว. วิภีษณ” ในวงเล็บ หมายความว่า ชื่อ “พิเภก” นี้ในรามเกียรติ์ฉบับวาลมีกิไม่ใช่ชื่อ “พิเภก” แต่ชื่อ “วิภีษณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิภีษณ” บอกไว้สั้นๆ ว่า –

วิภีษณ : (คำนาม) ภราตฤของท้าวราวณะ; the brother of Rāvaṇa.”

หมายเหตุ: “ท้าวราวณะ” คือ ทศกัณฐ์

วิภีษณ” ถ้ากลายรูปก็ควรเป็น “พิเภษณ์” (พิ-เพด) ซึ่งยากที่จะกลายต่อไปเป็น “พิเภก” ในคำไทย

(๒) “สวามิภักดิ์

แยกศัพท์เป็น สวามิ + ภักดิ์

(ก) “สวามิ” บาลีเป็น “สามิ” (เป็น “สามี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามิ ปัจจัย

: + อามิ = สามิ

มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า

: สํ ธนํ อสฺสตฺถีติ สามิ = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามิ = ผู้มีทรัพย์

สามิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)

(2) สามี (husband)

บาลี “สามิ > สามี” สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺวามินฺ : (คำนาม) ‘สวามิน,’ เจ้าของ, คำว่า ‘สวามี, บดี, อธิการี, หรือสวามินี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; นาย, เจ้าหรือจ้าว, คำว่า ‘อธิภู, นายก, อธิป, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ผัว, คำว่า ‘ภรฺตา, ปติ, สฺวามี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อธิราช, ราชันหรือราชา; อุปาธยาย, อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท; พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน; การติเกย; พระวิษณุ; พระศิวะ; มุนิวัตสยายน; ครุฑ; an owner, proprietor, a master or mistress, &c.; a master or lord, &c.; a husband, a lover, &c.; a sovereign, a monarch; a spiritual preceptor, religious teacher; a learned Brāhmaṇ or Paṇḍit; Kartikeya; Vishṇu; Śiva; the Muni Vatsyāyana; Garuḍa.”

จะเห็นว่า “สฺวามิน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “สามิ” หรือ “สามี” ในบาลี

(ข) “ภักดิ์

บาลีเป็น “ภตฺติ” (พัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ภชฺ (ธาตุ = คบหา, รัก) + ติ ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ

: ภชฺ + ติ = ภชติ > ภตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การคบหาสมาคม” “ความรัก” หมายถึง ความจงรักภักดี, ความผูกพัน, ความรักอย่างสุดซึ้ง (devotion, attachment, fondness)

บาลี “ภตฺติ” สันสกฤตเป็น “ภกฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ภกฺติ : (คำนาม) ‘ภักติ,’ การบูชา; ศรัทธา, ความเชื่อ; ความภักดีต่อ; ภาค, ส่วน; worship; faith; belief; devotion or attachment to; part, portion.”

ภตฺติ > ภกฺติ ภาษาไทยมักใช้เป็น “ภักดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภักดี : (คำนาม) ความจงรัก, ความเลื่อมใสยิ่ง. (ส. ภกฺติ; ป. ภตฺติ).”

ภักดี” เมื่อต้องการให้อ่านว่า “พัก” ในกรณีใช้ในคำประพันธ์หรือใช้เป็นชื่อเฉพาะ จึงสะกดเป็น “ภักดิ์

สามิ + ภตฺติ = สามิภตฺติ > สามิภักดิ์ : สฺวามินฺ + ภกฺติ > สวามิภักดิ์ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความจงรักต่อนาย” (2) “ความจงรักต่อสามี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวามิภักดิ์ : (คำกริยา) ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อํานาจ เช่น ข้าศึกเข้ามาสวามิภักดิ์, สามิภักดิ์ ก็ว่า. (ส. สฺวามินฺ + ภกฺติ ว่า ความซื่อตรงต่อเจ้า).”

พิเภก + สวามิภักดิ์ = พิเภกสวามิภักดิ์ แปลว่า “พิเภกเข้ามาสวามิภักดิ์” หมายถึง พิเภกซึ่งถูกขับออกจากกรุงลงกาเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระราม

โขนตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” มีรายละเอียดเป็นประการใด เชิญไปดูกันได้ตามอัธยาศัยเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีนาย จงรักนาย

: ไม่รักนาย อย่ามีนาย

#บาลีวันละคำ (2,357)

25-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย