กายสิทธิ์ (บาลีวันละคำ 2,355)
กายสิทธิ์
อ่านว่า กาย-ยะ-สิด
ประกอบด้วยคำว่า กาย + สิทธิ์
(๑) “กาย”
บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > ก)
: กุ > ก + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย”
(2) ก (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + อ ปัจจัย
: ก + อายฺ = กายฺ + อ = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย”
(3) กาย (ร่างกาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กาย + ณ = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)
“กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, และมักใช้เข้าคู่กับคํา ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”
(๒) “สิทธิ์”
บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า สิด-ทิ รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ
: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right)
กาย + สิทฺธิ = กายสิทฺธิ > กายสิทธิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จแห่งกาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กายสิทธิ์ : (คำวิเศษณ์) มีฤทธิ์เดชต่าง ๆ อยู่ในตัว.”
อภิปราย :
“กายสิทธิ์” ดูตามรูปคำก็เป็นภาษาบาลี แต่ในคัมภีร์ยังไม่พบศัพท์เช่นนี้
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาชาดก) ภาค 3 วลาหกัสสชาดก ทุกนิบาต (อ่านว่า ทุ-กะ-นิ-บาด) หน้า 199 มีศัพท์ว่า “เทวสงฺขลิกา” (เท-วะ-สัง-ขะ-ลิ-กา)
“สงฺขลิกา” แปลว่า โซ่
“เทว” ตามศัพท์สามัญแปลกันว่า “เทวดา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทวสงฺขลิกา” ว่า a magic chain
พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ขึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ ที่คำว่า “เทว” มีลูกคำคือ “เทวสงฺขลิกา” แปลเป็นไทยว่า โซ่เทวดา, ตรวนทิพย์ และที่คำว่า “สงฺขลิกา” มีลูกคำคือ “เทวสงฺขลิกา” แปลเป็นไทยว่า โซ่กล, โซ่วิเศษ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม เล่ม 57 หน้า 252-253 แปลศัพท์นี้เป็นไทยว่า “โซ่กายสิทธิ์”
โซ่เทวดา, ตรวนทิพย์, โซ่กล, โซ่วิเศษ, โซ่กายสิทธิ์ ความหมายสอดคล้องกัน
เป็นอันว่า “กายสิทธิ์” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในความหมายแบบไทย ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์บาลี ถ้าจะพูดเป็นคำบาลีให้ได้ความตรงกับ“กายสิทธิ์” ก็น่าจะใช้คำว่า “เทว-” เติมเข้าข้างหน้า เช่นคำว่า “เทวสงฺขลิกา” = โซ่กายสิทธิ์ เป็นตัวอย่าง
เคยได้ยินชื่อภาพยนตร์ที่ตั้งเป็นภาษาไทยว่า “ดาบเทวดา” “หมัดเทวดา” ถ้าแปลเป็นบาลีก็ใช้คำว่า “เทว-” เติมเข้าข้างหน้าได้พอดี ความหมายก็ไปทางเดียวกับ “ดาบกายสิทธิ์” “หมัดกายสิทธิ์” ได้พอดีเช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ฝึกใจอย่าให้คิดผิด
: เป็นกายสิทธิ์ทันที
#บาลีวันละคำ (2,355)
23-11-61