พหูสูต ทำไมไม่ต้องมี ร เรือ (บาลีวันละคำ 2,372)
พหูสูต ทำไมไม่ต้องมี ร เรือ
คนส่วนมากเมื่อเขียนคำว่า “พหูสูต” มักเขียนเป็น “พหูสูตร” (-สูตร มี ร เรือ ด้วย)
“พหูสูตร” (-สูตร มี ร เรือ) เป็นคำที่เขียนผิด
“พหูสูต” (ไม่มี ร เรือ) เป็นคำที่ถูกต้อง
ทำไม “พหูสูต” จึงไม่ต้องมี ร เรือ
“พหูสูต” บาลีเป็น “พหุสฺสุต” อ่านว่า พะ-หุด-สุ-ตะ แยกศัพท์เป็น พหุ + สุต
(๑) “พหุ”
บาลีอ่านว่า พะ-หุ รากศัพท์มาจาก พหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อุ ปัจจัย
: พหฺ + อุ = พหุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, หลาย, ใหญ่, ล้นเหลือ; อุดมสมบูรณ์; อย่างมาก, ยิ่งใหญ่ (much, many, large, abundant; plenty; very, greatly)
ในที่นี้ “พหุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พหู”
(๒) “สุต”
บาลีอ่านว่า สุ-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ต ปัจจัย
: สุ + ต = สุต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาฟังแล้ว”
“สุต” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) ได้ยิน; เรียนรู้; ได้ฟัง (heard; learned; taught)
(2) มีชื่อเสียง (renowned)
พหุ + สุต ซ้อน สฺ ระหว่างคำ
: พหุ + สฺ + สุต = พหุสฺสุต แปลว่า “ผู้ได้ฟังมาก”
“พหุสฺสุต” (คุณศัพท์) หมายถึง –
(1) มีความรู้มาก, พหูสูต, ได้สดับมาดี, คงแก่เรียน (having great knowledge, very learned, well-taught)
(2) ผู้ได้เรียนมามาก, พหูสูต (one who has much learning, famous for inspired knowledge)
“พหุสฺสุต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พหูสูต” (พะ-หู-สูด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พหูสูต : (คำนาม) ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก. (ป. พหุสฺสุต).”
โปรดสังเกตว่า บาลี –สุต (สุ-ตะ, ที่เป็นคำกริยา แปลว่า “(อันเขา) ฟังแล้ว”) เราใช้ในภาษาไทยเป็น “-สูต” (สูด) ไม่มี ร เรือ
ส่วน “สูตร” มี ร เรือ มาจากคำบาลีว่า “สุตฺต” (สุด-ตะ) เป็นคำนาม แปลว่า –
(1) ด้าย, เส้นด้าย (a thread, string)
(2) พระสูตร, ปาพจน์, พระพุทธพจน์ (the part of the Buddhist Scriptures containing the suttas or dialogues, later called Sutta-piṭaka)
สรุปว่า
บาลี “สุตฺต” (ต 2 ตัว) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สูตร” มี ร เรือ
บาลี “สุต” (ต ตัวเดียว) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สูต” ไม่มี ร เรือ
“พหูสูต” มาจากบาลีว่า “พหุสฺสุต” คือ พหุ + สุต (ต ตัวเดียว)
ดังนั้น เมื่อใช้ในภาษาไทย “พหุสฺสุต” (สุต ไม่ใช่ สุตฺต) จึงต้องเป็น “พหูสูต” (ไม่มี ร เรือ) ไม่ใช่ “พหูสูตร” (มี ร เรือ) ดังที่มักเขียนกันผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ายอมให้การมีความรู้มาก
: ทำให้ท่านกลายเป็นคนรู้มาก
#บาลีวันละคำ (2,372)
10-12-61