บาลีวันละคำ

เข้าฌาน ไม่ใช่ เข้าญาณ (บาลีวันละคำ 2,371)

เข้าฌาน ไม่ใช่ เข้าญาณ

ถ้าพูดว่า “พระฤๅษีนั่งเข้า–” แล้วให้ต่อ-ว่าเข้าอะไร คนมักจะพูดและเขียนว่า “เข้าญาณ

“เข้าญาณ” ( หญิง สระอา เณร) เป็นคำพูดที่ผิด

คำที่ถูกคือ “เข้าฌาน” ( เฌอ สระอา หนู)

“พระฤๅษีนั่งเข้าฌาน

ไม่ใช่ “พระฤๅษีนั่งเข้าญาณ

คนที่พูดหรือเขียนว่า “พระฤๅษีนั่งเข้าญาณ” ซึ่งเป็นคำที่ผิด ก็เพราะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “ฌาน” กับ “ญาณ

(๑) “ฌาน

บาลีอ่านว่า ชา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เฌ (ธาตุ = คิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), แปลง เฌ เป็น ฌา

: เฌ + ยุ > อน = เฌน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ความคิด

(2) ฌาปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ลบที่สุดธาตุ (ฌาปฺ > ฌา)

: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาตที่เผาข้าศึกคือนิวรณ์

ฌาน” หมายถึง ความคิด, ความเพ่ง (ซึ่งเมื่อมีกำลังเต็มที่จะมีพลังเหมือนไฟที่สามารถเผาอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลให้มอดไหม้ได้ ทำให้จิตดิ่งนิ่งสงบควรแก่การที่จะเจริญปัญญาต่อไป)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “ฌาน” ไว้ว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์, การเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ, เรียกลักษณะการทําจิตให้สงบตามหลักทางศาสนาว่า เข้าฌาน เช่น พระเข้าฌาน ฤษีเข้าฌาน, โดยปริยายหมายถึงนั่งหลับหรือนั่งเหม่อใจลอยไม่รับรู้อะไร เรียกว่า เข้าฌาน, ฌานนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น เรียกชื่อตามลําดับที่ประณีตขึ้นไปกว่ากัน คือ ปฐมฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ ยังมีตรึก ซึ่งเรียกว่า วิตก มีตรอง ซึ่งเรียกว่า วิจาร เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ มีปีติ คือความอิ่มใจ มีสุข คือความสบายใจอันเกิดแต่วิเวกคือความเงียบ และประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปซึ่งเรียกว่า เอกัคตา, ทุติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ละวิตกวิจารเสียได้ คงอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคตา, ตติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุขกับเอกัคตา, จตุตถฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ เหมือนกัน ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือเฉย ๆ กับเอกัคตา, ฌานทั้ง ๔ นี้จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ. (ป.; ส. ธฺยาน).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เหลืองเพียงว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปฌาน กับ อรูปฌาน. (ป.; ส. ธฺยาน).”

บาลี “ฌาน” สันสกฤตเป็น “ธฺยาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธฺยาน : (คำนาม) ธยาน, สมาธิ, ภาวนา, วิมรรศ์; meditation, reflection.”

(๒) “ญาณ

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: ญา + ยุ > อน = ญาน > ญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญา

ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาณ, ญาณ– : (คำนาม) ปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ, ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ. (ป.; ส. ชฺญาน).”

ความหมายที่แตกต่างระหว่าง “ฌาน” กับ “ญาณ:

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฌาน” ว่า meditation (การเพ่งภาวนา หรือสมาธิ)

และแปล “ญาณ” ว่า knowledge, intelligence, insight, conviction, recognition; cognizance, learning, skill (ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเชื่อ, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้; การรับรู้, ความคงแก่เรียน, ทักษะ, ความฉลาด)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ฌาน” และ “ญาณ” เป็นอังกฤษดังนี้ –

ฌาน (Jhāna) meditation; absorption; a state of serene contemplation attained by meditation; (mis.) trance; ecstasy.

ญาณ (Ñāṇa) knowledge; real knowledge; wisdom; insight.

สรุปว่า :

ฌาน” คือ สมาธิ (meditation)

ญาณ” คือ ปัญญา (wisdom)

ในคัมภีร์มีคำว่า “ฌานํ  อุปสมฺปชฺช  วิหรติ” ซึ่งแปลว่า “เข้าฌานอยู่” แต่ไม่มีคำว่า “ญาณํ  อุปสมฺปชฺช  วิหรติ” ที่จะแปลได้ว่า “เข้าญาณ

“เข้าญาณ” จึงไม่มี

มีแต่ “เข้าฌาน

อนึ่ง โปรดสังเกตไว้ด้วยว่า คำว่า “ฌาน เฌอ สระอา สะกดด้วย หนู ไม่ใช่ “ฌาณ” สะกดด้วย เณร ดังที่มักเขียนกันผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โรคไม่รู้ พอบอกให้รู้ก็หายสนิท

: แต่โรครู้ผิด ยากที่จะรักษาให้หาย

#บาลีวันละคำ (2,371)

9-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย