ปัจฉาภัต (บาลีวันละคำ 3,456)
ปัจฉาภัต
คุ้นตา แต่น่าจะไม่มีใครรู้จัก
อ่านว่า ปัด-ฉา-พัด
ประกอบด้วยคำว่า ปัจฉา + ภัต
(๑) “ปัจฉา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺฉา” อ่านว่า ปัด-ฉา เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ศัพท์จำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ” นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “ปจฺฉา ภายหลัง” หมายถึง ข้างหลัง, ส่วนหลัง, ภายหลัง, ถอยหลังไป; ไปทางตะวันตก (behind, aft, after, afterwards, back; westward)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัจฉา : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ภายหลัง, เบื้องหลัง, ข้างหลัง. (ป.).”
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
ปจฺฉา + ภตฺต = ปจฺฉาภตฺต (ปัด-ฉา-พัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภายหลังอาหาร”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและอธิบายความหมายของ “ปจฺฉาภตฺต” ดังนี้ –
“after-meal,” i. e. after the midday meal, either as ˚ŋ (acc. — adv.) in the afternoon, after the main meal,
“ภายหลังอาหาร”, คือ ภายหลังอาหารกลางวัน, ใช้ในรูปกิริยาวิเสสนะเป็น ปจฺฉาภตฺตํ ในเวลาบ่าย, หลังอาหารมื้อสำคัญ,
usually combd with piṇḍapāta-paṭikkanta “returning from the alms-round after dinner.”
ตามปกติรวมกับ ปิณฺฑปาต-ปฏิกฺกนฺต “กลับจากบิณฑบาตภายหลังอาหาร”
“ปจฺฉาภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจฉาภัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัจฉาภัต : (คำนาม) เวลาภายหลังบริโภคอาหาร คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วไป. (ป.).”
ขยายความ :
คำว่า “ปจฺฉาภตฺต” หรือ “ปัจฉาภัต” เป็นคำที่คู่กับ “ปุเรภตฺต” (ปุ-เร-พัด-ตะ) หรือ “ปุเรภัต” (ปุ-เร-พัด) ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ก่อนอาหาร” หมายถึง ก่อนถึงเวลารับประทานอาหารตามปกติ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุเรภตฺต” ว่า the early meal, morning meal, breakfast (ก่อนภัตร, ภัตตาหารมื้อเช้า, อาหารเช้า)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปัจฉาภัต” และ “ปุเรภัต” ไว้ดังนี้ –
(1) ปัจฉาภัต : ภายหลังภัต, เวลาหลังอาหารสำหรับพระภิกษุ โดยทั่วไปหมายถึงเวลาเที่ยงไปแล้ว; เทียบ ปุเรภัต.
(2) ปุเรภัต : ก่อนภัต, ก่อนอาหาร หมายถึงเวลาก่อนฉันของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ แต่เมื่อพูดอย่างกว้าง หมายถึง ก่อนหมดเวลาฉัน คือ เวลาเช้าจนถึงเที่ยง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภิกษุฉันอาหารได้; เทียบ ปัจฉาภัต.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนส่วนมากคิดแต่เพียงว่ากินอะไร
: คนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้ว่ากินเพื่ออะไร
#บาลีวันละคำ (3,456)
28-11-64
……….