บาลีวันละคำ

นก-วายุภักษ์ ไม่ใช่ “วายุพักตร์” (บาลีวันละคำ 2,381)

นก-วายุภักษ์ ไม่ใช่ “วายุพักตร์

ถ้าให้เขียนชื่อนกชนิดหนึ่งที่อ่านออกเสียงว่า วา-ยุ-พัก คนส่วนมากจะสะกดเป็น “วายุพักตร์

ชื่อนกชนิดนี้สะกดว่า “วายุภักษ์

ไม่ใช่ “วายุพักตร์” หรือ “วายุภักดิ์” หรือ “วายุพรรค” หรือ “วายุภัค

คำว่า “วายุภักษ์” แยกศัพท์เป็น วายุ + ภักษ์

(๑) “วายุ

บาลีอ่านว่า วา-ยุ รากศัพท์มาจาก วา (ธาตุ = ไป) + อาคม + อุ ปัจจัย

: วา + + อุ = วายุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พัดไป” “สิ่งเป็นเหตุให้ฟุ้งไปแห่งกลิ่นดอกไม้เป็นต้น” “สิ่งที่ประกาศกลิ่น” หมายถึง ลม (wind)

ในภาษาไทย แผลง เป็น เขียนเป็น “พายุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วายุ” และ “พายุ” บอกไว้ดังนี้ –

(1) วายุ : (คำนาม) ลม, อากาศ, ลมหายใจ; เทพแห่งลม. (ป., ส.). (ดู พายุ).

(2) พายุ : (คำนาม) ลมแรง. (ป., ส. วายุ ว่า ลม).

(๒) “ภักษ์

บาลีเป็น “ภกฺข” (พัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ภกฺขฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย

: ภกฺขฺ + = ภกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกิน” “สิ่งที่กิน

ภกฺข” ในบาลี:

– เป็นคำนาม หมายถึง อาหาร, เหยื่อ, ภักษา (food, prey)

– เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) รับประทาน, กินเป็นอาหาร (eating, feeding)

(2) กินได้, สำหรับกิน (eatable, to be eaten)

บาลี “ภกฺข” สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” หมายถึง การเลี้ยงอาหาร, การรับประทานอาหาร, การดื่มน้ำโสม (feeding, partaking of food, drink of Soma)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ภักขะ” “ภักษ” และ “ภักษา” บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภักขะ : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (ป. ภกฺข; ส. ภกฺษ).

(2) ภักษ-, ภักษ์ : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (คำกริยา) กิน. (ส. ภกฺษ; ป. ภกฺข).

(3) ภักษา : (คำนาม) เหยื่อ, อาหาร. (ส. ภกฺษ; ป. ภตฺต).

โปรดสังเกตที่คำว่า “ภักขะ” และ “ภักษ” พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” บาลีเป็น “ภกฺข

แต่ที่คำว่า “ภักษา” พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ภกฺษ” แต่บอกว่าบาลีเป็น “ภตฺต” ไม่ใช่ “ภกฺข” นับว่าชอบกลอยู่

วายุ + ภักษ์ = วายุภักษ์ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีลมเป็นภ้กษา” หมายความว่ากินลมเป็นอาหาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วายุภักษ์ : (คำนาม) ชื่อนกในวรรณคดี แปลว่า นกกินลม. (ส.).”

วายุภักษ์” เป็นชื่อนกในวรรณคดี กล่าวกันว่านกชนิดนี้กินลมเป็นอาหาร จึงชื่อ “วายุภักษ์” แปลว่า “นกกินลม

ทางราชการไทยใช้รูปนกวายุภักษ์เป็นตราหรือเครื่องหมายของหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง

อภิปราย :

เนื่องจากคนส่วนมากไม่คุ้นกับรูปคำ “ภักษ์” เมื่อได้ยินคำว่า วา-ยุ-พัก จึงไม่ได้นึกถึงคำว่า “ภักษ์” นี้ แต่ไปนึกถึง “พัก” อื่นๆ ที่คุ้นตาคุ้นมือ

ที่คุ้นมากที่สุดคือ “พักตร์” ที่แปลว่า หน้า

ต่อไปก็ “ภักดิ์” ที่แปลว่า จงรักภักดี

พรรค” ที่หมายถึงกลุ่มพวก ที่รู้จักกันดีก็คือ พรรคการเมือง

ที่ช่างคิดศัพท์ก็นึกถึง “ภัค” ที่หมายถึง โชค, โชคดี

เสียง วา-ยุ-พัก จึงมีผู้เขียนไปต่างๆ เป็น —

“วายุพักตร์

“วายุภักดิ์

“วายุพรรค

“วายุภัค” 

จากนั้นก็พยายามอธิบายความหมายให้สอดคล้องกับคำว่า “-พักตร์” “-ภักดิ์” “-พรรค” “-ภัค” ที่คิดขึ้นมา

แต่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร น่าจะเป็นไปได้เพียงไร ก็ไม่มีทางที่จะถูกต้องไปได้เลย เนื่องจากคำนี้เป็นชื่อเฉพาะ คือเป็นชื่อนกในวรรณคดี สะกดได้อย่างเดียว คือ “วายุภักษ์” –ภักษ์ ภ สำเภา ไม้หันอากาศ ก ไก่สะกด ษ ฤษี การันต์ สะกดอย่างอื่น ผิด

ทางแก้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่พยายามอฺธิบายผิดให้เป็นถูก

แต่คือ-แก้ไขคำที่เขียนผิดให้เป็นคำที่ถูกต้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอมรับผิด เสียหน้าชั่วเวลาแค่อึดใจ

: แต่ได้รับความนับถือยิ่งใหญ่ชั่วกาลนาน

…………..

หมายเหตุ: เมื่อคืนนี้ (19 ธันวาคม 2561) อินเตอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผมขัดข้อง รออยู่จนห้าทุ่มก็ยังใช้ไม่ได้ จึงไม่ได้โพสต์บาลีวันละคำ และจึงต้องเอามาโพสต์ย้อนหลังในเช้าวันนี้

โปรดทราบว่า บาลีวันละคำที่ท่านอ่านอยู่นี้เป็นงานประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2561 นะครับ

ขออภัยในความไม่เรียบร้อยมา ณ ที่นี้

#บาลีวันละคำ (2,381)

19-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย