บาลีวันละคำ

ปถมัง (บาลีวันละคำ 2,386)

ปถมัง

สูตรเขียนขอม

อ่านว่า ปะ-ถะ-หฺมัง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปถมัง : (คำนาม) วิธีทําผงด้วยเวทมนตร์คาถาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์.”

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “ปถมัง” เป็นคำเรียกวิธีทําผงด้วยเวทมนตร์คาถา แต่พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำแปลหรือความหมายของคำว่า “ปถมัง” ไว้ด้วย

ตามรูปและเสียง “ปถมัง” เป็นคำบาลีสันสกฤต แต่จะชี้ชัดว่าเป็นบาลีหรือเป็นสันสกฤตยังไม่ได้ รูปคำเดิมคือ “ปถม” บาลีเป็น “ปฐม” (ฐ ฐาน) สันสกฤตเป็น “ปฺรถม” (ปฺรถ– ไม่ใช่ ปถ-) “ปถม” จึงเป็นการเขียนนอกแบบ จะว่าเป็นบาลีประสมสันสกฤตก็คงได้

บาลี “ปฐม” (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม ปัจจัย

: ปฐฺ + อม > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด

(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ

: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น

ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)

(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)

(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)

สันสกฤต “ปฺรถม” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรถม : (คำวิเศษณ์) ‘ประถม,’ แรก, เดิม, ต้น; เอก, ประธาน, เป็นใหญ่; first, prior, initial; chief, principal.”

ในภาษาไทย มีทั้ง “ปฐม” และ “ประถม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) “ปฐม, ปฐม– : (คำวิเศษณ์) ประถม, ลำดับแรก, ลำดับเบื้องต้น; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลจุลจอมเกล้าว่า ปฐมจุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ. (ป.).”

(2) “ประถม : (คำวิเศษณ์) ปฐม, ลําดับแรก, ลําดับเบื้องต้น, เช่น ประถมศึกษา ชั้นประถม; ชั้นที่ ๑, เรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทยว่า ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย. (ส.).

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปฐม” คือ “ประถม” และ “ประถม” ก็คือ “ปฐม” มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ลําดับแรก, ลําดับเบื้องต้น

ปถมัง” มาจากไหน แปลว่าอะไร?

เท่าที่ทราบกันในหมู่นักเล่นคาถาอาคม และเท่าที่พอจะค้นพบในเบื้องต้น พบว่า คำว่า “ปถมัง” เป็นคำขึ้นต้นคาถา “สูตรเขียนขอม” (คำนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียกเอง) โดยเฉพาะก็คือ สูตรเขียนตัว “น” มีข้อความเต็มๆ ดังนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี :

ปฐมํ พินฺทุกํ ชาตํ

ทุติยํ ทณฺฑเมว จ

ตติยํ เภทกญฺเจว

จตุตฺถํ องฺกุสมฺภวํ

ปญฺจมํ สิรสํ ชาตํ

นกาโร โหติ สมฺภโว.

เขียนแบบคำอ่าน :

ปะฐะมัง พินทุกัง ชาตัง

ทุติยัง ทัณฑะเมวะ จะ

ตะติยัง เภทะกัญเจวะ

จะตุตถัง อังกุสัมภะวัง

ปัญจะมัง สิระสัง ชาตัง

นะกาโร โหติ สัมภะโว.

แปลเอาความ :

เบื้องต้น เขียนเป็น “พินทุ” คือจุดกลม

ขั้นที่สอง เขียนเป็น “ทัณฑะ” คือลากเส้นลงมาเหมือนไม้เท้า

ขั้นที่สาม เขียนเป็น “เภทะ” คือเส้นแตกออกไปทางขวา

ขั้นที่สี่ เขียนเป็น “อังกุส” คือหยักที่ปลายเหมือนตาขอ

ขั้นที่ห้า เขียนเป็น “สิระ” คือเส้นโค้งด้านบนเหมือนศีรษะ

สำเร็จเป็น “-กาโร” คืออักษร “

…………..

” (อ่านว่า นะ) ในที่นี้หมายถึง “” อันเป็นพยัญชนะตัวหนึ่งในอักษรขอม

จึงสรุปความได้ว่า “ปถมัง” ก็คือคาถาว่าด้วยขั้นตอนการเขียนตัว “น” อันเป็นอักษรขอมตัวหนึ่ง คำนี้บางทีก็จึงเรียกกันว่า “นะปถมัง

คำว่า “ปฐมํ” คนเก่าออกเสียงว่า ปะ-ถะ-หฺมัง บางทีก็เป็น ปัด-ถะ-หฺมัง แต่เวลาเขียน ไม่เขียน “ปฐมํ” แบบบาลี ไม่เขียน “ปฺรถมมฺ” แบบสันสกฤต แต่เขียนแบบไทยๆ เป็น “ปถมัง

ปถมัง” วิธีทําผงด้วยเวทมนตร์คาถาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ยังมีรายะเอียดต่อไปอีกมาก แต่อยู่นอกขอบเขตของบาลีวันละคำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผูกใจด้วยไมตรีปรานีสนิท

: ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าเสกด้วยเลขยันต์

#บาลีวันละคำ (2,386)

24-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *