บาลีวันละคำ

อภิวาเทมิ – นมสฺสามิ – นมามิ (บาลีวันละคำ 2,387)

อภิวาเทมินมสฺสามินมามิ

ใช้ต่างกันอย่างไร

คำไหว้พระ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “บทนมัสการพระรัตนตรัย” มีข้อความดังนี้ –

อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ ภควา,

พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง,

ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม,

ธมฺมํ นมสฺสามิ.

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว,

ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ,

สงฺฆํ นมามิ.

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว,

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

มีข้อสังเกตว่า

ไหว้พระพุทธ ใช้คำกริยาว่า “อภิวาเทมิ

ไหว้พระธรรม ใช้คำกริยาว่า “นมสฺสามิ

ไหว้พระสงฆ์ ใช้คำกริยาว่า “นมามิ

จึงทำให้สงสัยว่า คำกริยาทั้ง 3 นี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร และมีเหตุผลอย่างไรจึงใช้คำกริยาต่างกัน

(๑) “อภิวาเทมิ” (อะ-พิ-วา-เท-มิ)

รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน) + วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + เอ ปัจจัย, ลบ นฺ ทีฆะต้นธาตุ (วนฺทฺ > วทฺ > วาท) + มิ วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ อุดมบุรุษ หรือบุรุษที่สาม = ตัวผู้พูด)

: อภิ + วนฺทฺ = อภิวนฺทฺ + เอ = อภิวนฺเท + มิ = อภิวนฺเทมิ > อภิวเทมิ > อภิวาเทมิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าพเจ้าไหว้อย่างยิ่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to salute, greet, welcome, honour (สดุดี, อภิวาท, ต้อนรับ, ให้เกียรติ)

อภิวาเทมิ” รูปคำกริยาสามัญ (เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง) เป็น “อภิวาเทติ” (อะ-พิ-วา-เท-ติ)

(๒) “นมสฺสามิ” (นะ-มัด-สา-มิ)

รากศัพท์มาจาก นมสฺสฺ (ธาตุ = กราบ, ไหว้) + ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ อุดมบุรุษ หรือบุรุษที่สาม = ตัวผู้พูด), ทีฆะ อะ เป็น อา

: นมสฺสฺ + = นมสฺส + มิ = นมสฺสมิ > นมสฺสามิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าพเจ้าไหว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to pay honour to, to venerate, honour, do homage to (นมัสการ, ไหว้, ให้เกียรติ, เคารพ)

นมสฺสามิ” รูปคำกริยาสามัญ เป็น “นมสฺสติ” (นะ-มัด-สะ-ติ)

(๓) “นมามิ” (นะ-มา-มิ)

รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม, โน้ม, นอบน้อม) + ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ อุดมบุรุษ หรือบุรุษที่สาม = ตัวผู้พูด), ทีฆะ อะ เป็น อา

: นมฺ + = นม + มิ = นมมิ > นมามิ แปลตามศัพท์ว่า “ข้าพเจ้านอบน้อม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to bend, bend down (โค้ง, งอ, ก้มลง)

นมามิ” รูปคำกริยาสามัญ เป็น “นมติ” (นะ-มะ-ติ)

อภิปรายขยายความ :

ประมวลความหมายตามรากศัพท์ในบาลีแล้วจะเห็นได้ว่า อภิวาเทมินมสฺสามินมามิ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ แต่ในคำแปลภาษาไทย รสภาษาอาจชวนให้เกิดจินตนาการที่ต่างกัน กล่าวคือ –

อภิวาเทมิ” เราแปลว่า “อภิวาท” และในภาษาไทย “อภิวาท” แปลว่า การกราบ คือไม่ใช่เพียงไหว้เฉยๆ แต่ก้มกราบลงไปทีเดียว

ได้ภาพตามจินตนาการว่า แสดงความเคารพพระพุทธเจ้า ด้วยการกราบ

นมสฺสามิ” เราแปลว่า “นมัสการ” ไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องกราบเหมือนอภิวาท เพียงแต่ประนมมือแล้วน้อมไหว้ก็ถือว่าเป็น “นมัสการ” แล้ว

ได้ภาพตามจินตนาการว่า แสดงความเคารพพระธรรม ด้วยการไหว้

นมามิ” เราแปลว่า “นอบน้อม” ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องกราบหรือต้องไหว้ เพียงแต่สำรวมกิริยาให้สงบเรียบร้อย เช่นยืนประสานมือไว้ข้างหน้า ก้มตัวลงเล็กน้อย ถ้าจะต้องพูดอะไรด้วยก็พูดด้วยถ้อยคำน้ำเสียงที่สุภาพนุ่มนวล ก็ถือว่าเป็นการ “นอบน้อม” แล้ว

ได้ภาพตามจินตนาการว่า แสดงความเคารพพระสงฆ์ ด้วยกิริยาสุภาพนอบน้อม

ได้ลองตรวจดูในคัมภีร์ว่าท่านแบ่งแยกการใช้คำแสดงความเคารพพระรัตนตรัยไว้บ้างหรือไม่ ก็พบว่าไม่มีการแบ่งแยกระดับของคำ คำเดียวกันใช้แสดงความเคารพได้ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคำ เช่น “อภิวาเทมิ” ที่เราใช้ไหว้พระพุทธเจ้า ปรากฏว่าแม้ไหว้คนทั่วไปก็ใช้ “อภิวาเทมิ

จึงพอสรุปในขั้นต้นนี้ได้ว่า คำไหว้พระรัตนตรัยของเรา ท่านใช้คำกริยาอภิวาเทมินมสฺสามินมามิ ยักเยื้องแตกต่างกันไปน่าจะเป็นเพียงลีลาของภาษา อาจมีจินตนาการตามรสของคำไทยเข้าประกอบบ้างเล็กน้อย

ในที่นี้ได้ยกคำแปลจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาให้ดูไว้ด้วยเพื่อประกอบการพิจารณาว่า คำทั้ง 3 นี้ ฝรั่งที่เรียนบาลีอย่างเอาจริงเอาจังเข้าใจว่าอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “มอง” เฉยๆ ด้วยสายตาเคารพนับถือ

: ประเสริฐกว่า “มือ” ที่ประนมด้วยความไม่จริงใจ

————–

(ตามคำขอของ นันทภพ บรรจบพุดซา และ ลูงแดง ป้าอัจ)

#บาลีวันละคำ (2,387)

25-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย