บาลีวันละคำ

บรมบรรพต (บาลีวันละคำ 3,337)

บรมบรรพต

คือภูเขาทองวัดสระเกศ

อ่านว่า บอ-รม-มะ-บัน-พด

ประกอบด้วยคำว่า บรม + บรรพต 

อธิบายให้เห็นความหมายในคำบาลีได้ดังนี้ –

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “บรรพต” 

บาลีเป็น “ปพฺพต” อ่านว่า ปับ-พะ-ตะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ปพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + (ตะ) ปัจจัย 

: ปพฺพฺ + = ปพฺพต แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่เพิ่มเข้ามา” 

(2) ปพฺพ (ปุ่ม, ปล้อง) + (ตะ) ปัจจัย 

: ปพฺพ + = ปพฺพต แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปุ่มเพราะก่อตัวขึ้นด้วยปุ่มคือเทือกต่อกัน” (หมายถึงมียอดหลายยอดยาวต่อกันเป็นเทือก) 

ปพฺพต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) บรรพต, ภูเขา, หิน (a mountain range, hill, rock) (2) นักไต่เขา (a mountaineer)

ปรม + ปพฺพต = ปรมปพฺพต แปลว่า “ภูเขาอันยอดเยี่ยม” 

บาลี: “ปรมปพฺพต” (ปะ-ระ-มะ-ปับ-พะ-ตะ)

คำไทย: “บรมบรรพต” (บอ-รม-มะ-บัน-พด)

พึงเข้าใจว่า ที่แสดงมานี้เป็นการอธิบายคำว่า “บรมบรรพต” เป็นคำบาลี หมายความว่า คำว่า “บรมบรรพต” ถ้าแปลงกลับเป็นคำบาลีก็จะเป็นดังที่แสดงมานี้ แต่มิได้หมายความว่า ชื่อ “บรมบรรพต” ตั้งขึ้นตามคำบาลีว่า “ปรมปพฺพต” ในเวลาที่ตั้งชื่อนี้ผู้ตั้งอาจจะไม่ได้คิดถึงคำบาลีใดๆ เลย หากแต่คิดถึงคำว่า “บรม” และคำว่า “บรรพต” ที่เป็นภาษาไทยล้วนๆ ก็ได้

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “พระบรมบรรพต” (อ่านเมื่อ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงประวัติของ “บรมบรรพต” ไว้ ขอยกข้อความบางตอนมาเสนอ ดังนี้ (ผู้ประสงค์จะนำไปอ้างอิง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อน)

…………..

บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์บนภูเขาจำลองตั้งอยู่ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร จากพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริให้สร้างพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร คล้ายพระเจดีย์วัดภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เนื่องจากโครงสร้างมีน้ำหนักมาก ดินเลนในบริเวณนั้นไม่สามารถรองรับได้ องค์ปรางค์จึงทะลายลงมา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแบบให้เป็นภูเขาทองขึ้นดั่งเช่นในปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ.2408

การก่อสร้างบรมบรรพตใช้เวลาถึง 2 รัชกาล คือแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเจดีย์มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับการบรรจุถึง 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2420 และ พ.ศ.2441 มีทางขึ้นทั้ง 2 ทางในทิศเหนือและใต้

ปัจจุบันบรมบรรพตถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในบริเวณเขตนั้นเนื่องจากความสูงกว่า 59 เมตร หรือเท่าตึกสูง 19 ชั้น เคียงคู่กันกับ โลหปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมาก และในช่วงวันลอยกระทงของทุกปีจะมีงานสำคัญของบรมบรรพต คืองานพิธีห่มผ้าแดงบรมบรรพตภูเขาทอง ซึ่งมักจัดต่อเนื่องกันยาว 10 วัน

…….

…….

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีดำริให้จัดสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองไว้เป็นปูชนียสถานในพระนครเหมือนดั่งที่กรุงเก่ามีวัดภูเขาทองซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทุ่ง มีองค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยาลงไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลประจำปี โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงเลือกเอาบริเวณวัดสระเกศเป็นที่ก่อสร้าง

เริ่มก่อสร้างโดยใช้โครงไม้ทำเป็นรูปปรางค์ใหญ่ ขุดฐานเอาไม้ซุงปูเป็นตาราง เอาศิลาแลงก่อขึ้นจนเสมอดินแล้วจึงก่อด้วยอิฐ ในองค์พระปรางค์เอาศิลาก้อนที่ราษฎรเก็บมาขายใส่ลงไป แต่ก่อสร้างได้ไม่เท่าไรก็ทรุดยุบตัวพังลงมา เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ใกล้ชายคลอง พื้นดินไม่แข็งแรงพอ จึงต้องปักเสารอบๆ องค์พระปรางค์หลายๆ ชั้นไม่ให้ดินทลายออกไป จึงเริ่มก่อใหม่ แต่ก็ยังทรุดอีก จึงยุติการก่อสร้างชั่วคราวจนสิ้นรัชกาลที่ 3

ครั้นพอถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้สร้างใหม่

เดือน 6 ปีฉลู พ.ศ.2408 รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์และให้เปลี่ยนชื่อใหม่ตามพระเมรุบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง จากภูเขาทองเป็น “บรมบรรพต” การก่อสร้างครั้งนี้ได้แปลงพระเจดีย์องค์เดิม ให้เป็นภูเขามีพระเจดีย์อยู่ด้านบน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด มีบันไดเวียนขึ้นลง 2 สาย เพื่อสะดวกในเวลาเทศกาล

การก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการก่อสร้างภูเขาทองที่ยังค้างอยู่จนสำเร็จ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “บรมบรรพต” เป็นคำเพราะ

ดูไม่เหมาะกับปากไทย

ภูเขาทอง” เถอะคล่องใจ

จึงใครใครรู้จักครัน

: ค่าคำกับค่าคน

ดูชอบกลพอพอกัน

คนดีที่เงียบงัน

จึงมักไม่ทันพวกทรชน

————-

ภาพประกอบ: จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

#บาลีวันละคำ (3,337)

1-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *