บาลีวันละคำ

จิตสาธารณะ (บาลีวันละคำ 2,394)

จิตสาธารณะ

อ่านว่า จิด-สา-ทา-ระ-นะ

ประกอบด้วยคำว่า จิต + สาธารณะ

(๑) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต (จิด-ตะ) ความหมายในที่นี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คิด” “สิ่งที่รู้อารมณ์” “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้ทำอะไรได้แปลกๆ” ความหมายนี้คือที่เราคุ้นกัน หมายถึง จิต, ใจ หรือความคิด (the heart, mind, thought)

(๒) “สาธารณะ

บาลีเขียน “สาธารณ” อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป

(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน

สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน general, common, joint

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”

จิต + สาธารณะ = จิตสาธารณะ เป็นคำประสมแบบไทย และมีความหมายแบบไทย

อภิปราย :

คำว่า “จิตสาธารณะ” เป็นคำที่ใช้พูดกันมาไม่นานมานี้ (น่าจะประมาณ 10-15 ปีมาแล้ว) เข้าใจว่า เจตนาของผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาต้องการให้คำว่า “จิต” หมายถึง ความมีน้ำจิตน้ำใจคิดช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่นิ่งเฉยดูดาย และคำว่า “สาธารณะ” พูดตัดมาจากคำว่า “สาธารณประโยชน์

จิตสาธารณะ” จึงหมายถึง การมีความคิดที่จะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม หรือใช้คำพูดแบบภาษาตลาดว่า “ทำตัวให้มีประโยชน์

ในภาษาไทย เรามีคำพูดกันอยู่แล้วว่า “บำเพ็ญสาธารณประโยชน์” คำว่า “สาธารณะ” ในคำว่า “จิตสาธารณะ” ก็เล็งความหมายไปที่ “สาธารณประโยชน์” นี่เอง เพราะลำพัง “สาธารณะ” คำเดียวแปลว่า “ทั่วไป” เท่านั้น อะไรทั่วไป หรือทั่วไปอะไร ไม่อาจเข้าใจได้เลย

ยิ่งถ้าเทียบกับคำที่เราใช้กันอยู่ เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ ส้วมสาธารณะ แล้วเอาคำว่า “จิตสาธารณะ” มาเข้าชุดกัน ความหมายจะเพี้ยนไปจากเจตนาที่ตั้งไว้มากทีเดียว คือ “จิตสาธารณะ” ก็จะต้องหมายถึง “จิตเพื่อประชาชนทั่วไป” และต้องหมายความว่า มีคลังที่เก็บ “จิต” ไว้ ใครจำเป็นจะต้องใช้จิต ก็มารับเอาหรือมาใช้บริการจิตที่คลังนั้น-อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ประสงค์ และผู้คิดคำนี้ก็คงไม่ทันได้คิดด้วยว่าถ้าเอาคำว่า “จิตสาธารณะ” มาเข้าชุดกับคำที่มีอยู่แล้วดังกล่าวนั้น ความหมายจะเพี้ยนไปคนละโลกเลยทีเดียว

ในภาษาบาลี คำที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “บำเพ็ญสาธารณประโยชน์” ท่านใช้ศัพท์ว่า “หิเตสี” (หิ-เต-สี) ประกอบด้วยคำว่า “หิต” (หิ-ตะ) แปลว่า ประโยชน์ และ “เอสี” แปลว่า “ผู้แสวงหา

หิต + เอสี = หิเตสี แปลว่า “ผู้แสวงหาประโยชน์” คำว่า “ประโยชน์” ในที่นี้ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว แต่หมายถึงประโยชน์ของผู้อื่น หรือประโยชน์ส่วนรวม ที่เราเรียกว่า “สาธารณประโยชน์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิเตสี” ว่า desiring another’s welfare, well-wishing (ปรารถนาสวัสดิภาพให้แก่ผู้อื่น, แสวงหาประโยชน์, ปรารถนาดี)

หิเตสี” เป็นคำคุณศัพท์แสดงลักษณะของบุคคล ถ้าจะแปลงให้เป็นภาวนามหรืออาการนาม ก็เติม “ตา” ปัจจัย เป็น “หิเตสิตา” (หิ-เต-สิ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้แสวงหาประโยชน์เพื่อผู้อื่น” (seeking another’s welfare, solicitude) ตรงกับความหมายตามประสงค์ของคำว่า “จิตสาธารณะ

เวลานี้ พูดว่า “จิตสาธารณะ” มีผู้เข้าใจถูกต้องตามเจตนากันทั่วไปแล้ว ใครพูดว่า “หิเตสิตา” ก็จะมีค่าเท่ากับภาษามนุษย์ต่างดาวเท่านั้นเอง

คนโบราณเดินไปไหนมาไหนมักถือพร้าติดมือ ระหว่างทางเห็นหญ้ารก หรือมีกิ่งไม้กีดขวางทางเดิน ก็ใช้พร้าหวดไปตลอดทาง เจอหนามหรือเศษแก้วแตก ก็เก็บออกให้พ้นทางเดิน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะตัว แต่เพื่อให้คนอื่นๆ ได้เดินสะดวกและปลอดภัยด้วย

นี่คือ “จิตสาธารณะ” ในชีวิตจริง ไม่ต้องมีค่าจ้างรางวัล ไม่ต้องมีใครสอน แต่มีคนทำให้ดูในชีวิตจริง

จิตสาธารณะ” ไม่ใช่แค่จัดให้มีกิจกรรมเป็นครั้งคราว แต่ต้องทำเป็นกิจวัตร และพัฒนาต่อไปจนถึงเป็นวิถีชีวิต

อยู่ในสังคม อยู่กับสังคม ยังมีลมหายใจเพราะอาศัยสังคมอยู่ ใครยังไม่มี “จิตสาธารณะ” คือยังไม่ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ก็คือยังเป็นหนี้สังคม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

: คือการใช้หนี้ค่าลมหายใจ

——————-

(ใช้หนี้พระคุณท่าน กฤษณุวัฒน์ กิตฺติธมฺโม)

#บาลีวันละคำ (2,394)

1-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *