บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผมขอ ๒ ข้อเท่านี้แหละ

ผมขอ ๒ ข้อเท่านี้แหละ

————————

วันที่ผมเข้าไปเรียนบาลีที่วัดมหาธาตุราชบุรีนั้น จำง่ายที่สุด เพราะเป็นวันสิ้นปี คือวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ 

ตอนบ่ายวันนั้นผมหิ้วกระเป๋าไม้ฉำฉาสีเหลือง-อันเป็นกระเป๋าที่ผลิตขึ้นเพื่อให้พระเณรใช้ใส่บริขารที่จำเป็นเพิ่มขึ้นจากย่าม-เดินตัดสนามหน้าโรงเรียนเทศบาล ๔ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นโรงเรียนประชาบาลวัดมหาธาตุ บูรณเวชชนูปถัมภ์-ซึ่งก็เป็นสนามหน้าวัดด้วย-เข้าไปยังกุฏิเจ้าอาวาส 

ในกระเป๋าใบนั้นมีจีวรเก่าๆ ผืนหนึ่ง กับหนังสือบาลีไวยากรณ์ ๓-๔ เล่มซึ่งผมขอมาจากวัดหนองกระทุ่ม-ผมมีสมบัติติดตัวมาแค่นั้น-ในวันที่เข้ามาแสวงหาอนาคตของชีวิตในตัวเมืองราชบุรี

ถอยไปก่อนหน้านั้นไม่นาน ท่านอาจารย์มหาเพียร ช้างเพชร สำนักวัดหนองกระทุ่ม ซึ่งเรียนบาลีด้วยตัวเองจนสอบได้ ป.ธ.๔ แล้วลาสิกขาออกไปเป็นครู ท่านมาสอนนักธรรมชั้นตรีให้ผมตอนที่ผมเป็นเณรอยู่ที่ถ้ำเขาพลอง-ข้างเขาช้าง ท่านบอกว่า “ท่านเจ้าคุณช้อย” วัดมหาธาตุ ราชบุรี อยากได้เณรเข้าไปเรียนบาลีที่วัดมหาธาตุกันให้มากๆ ท่านอาจารย์มหาเพียรแนะนำว่าผมควรจะเข้าไปเรียนบาลีที่วัดมหาธาตุ ตัวท่านเองก็ได้เคยเกริ่นๆ ไว้กับ “ท่านเจ้าคุณช้อย” แล้วด้วยว่าจะช่วยหาเณรส่งเข้าไปเรียน

ฟังคำแนะนำของท่านอาจารย์มหาเพียรแล้วผมไม่ต้องคิดมากเลย ตัดสินใจไปเรียนบาลีทันที เพราะผมรักเรียนอยู่แล้ว 

ตอนจบประถม ๔ ถ้าผมมีฐานะดีหน่อยก็คงไปเรียนต่อชั้นมัธยม แล้วต่อมหาวิทยาลัยต่อไป 

แต่เพราะฐานะยากจนจึงเลือกบวช-เรียนทางพระ

หลังจากได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์มหาเพียร ผมก็เข้าไปที่วัดหนองกระทุ่มเพื่อหาตำราเรียนบาลี พระที่เคยเรียนบาลีมาก่อนได้กรุณาเปิดหนังสือบาลีไวยากรณ์แนะนำผมว่า เล่มนี้ให้ท่องตั้งแต่นี่ถึงนี่ เล่มนั้นให้ท่องตั้งแต่นั่นถึงนั่น 

ผมลงมือท่องไวยากรณ์ หรือที่เรียกกันว่า “ท่องหลัก” มาตั้งแต่วันนั้น

เมื่อลงมือเรียนบาลีนั้นผมท่องหลักได้มากพอใช้-หมายความว่ามากพอที่จะใช้งานในการเรียนในชั้นเรียนในแต่ละวัน เพราะเรียนบาลีสมัยนั้นนักเรียนต้องท่องหลักได้ และต้องท่อง-ทวนหลักให้ครูฟังในชั้นเรียนทุกวัน ต้อง “ได้หลัก” จึงจะเรียนรู้เรื่อง 

ตอนที่เริ่มเรียนบาลี ผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนไปทำไม อันที่จริงเรื่องเป้าหมายนี่แทบจะไม่มีใครคิด ทั้งนี้เพราะคติของการบวชในเวลานั้นก็คือบวชเพื่อเรียน ดังคำที่พูดกันว่า “บวชเรียน” และหลักสูตรการเรียนของคณะสงฆ์ก็มี ๒ อย่างเท่านั้น คือเรียนนักธรรมกับเรียนบาลี 

สมัยนั้นเราเรียนกันเพื่อรู้ หรือเรียนเพื่อให้มีความรู้ ส่วนการสอบได้นั้นเป็นผลระยะใกล้หรือผลเฉพาะหน้าที่แต่ละคนมุ่งหวัง-ต่อจากการมีความรู้ 

สอบได้แล้วจะเอาภูมิรู้ไปทำอะไรต่อไป เป็นผลระยะไกล หรือเป็นเรื่องในอนาคต ที่พระเณรส่วนมาก-รวมทั้งผม-ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ก่อน

พ.ศ.๒๕๐๘ ผมสอบบาลีครั้งแรก 

สมัยนั้นระยะเวลาในการเรียนบาลีที่เป็นมาตรฐานคือ เรียนไวยากรณ์ ๒ ปี เรียนแปลธรรมบทอีก ๑ ปี จึงเข้าสอบ และสอบชั้น ป.ธ.๓ เป็นชั้นแรก (ประโยค ๑-๒ เพิ่งมากำหนดขึ้นในภายหลัง) 

ตอนเข้าสอบผมเป็นสามเณร สอบแล้วก็พอดีอายุครบ ๒๐ ก็จึงญัตติเป็นพระ

ผมสอบได้ปีละประโยค จนถึง พ.ศ.๒๕๑๓ พระเดชพระคุณพระอุปัชฌาย์จึงส่งเข้าไปเรียนชั้น ป.ธ.๘ ที่วัดสามพระยา กรุงเทพฯ 

สอบชั้น ป.ธ.๘ ได้ก็อยู่เรียนชั้น ป.ธ.๙ ต่อไปอีกปีหนึ่ง 

สอบชั้น ป.ธ.๙ ตกในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ผมก็กลับวัดมหาธาตุ ราชบุรี และสอบ ป.ธ.๙ ได้ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ 

ตอนสอบ ป.ธ.๙ ได้แล้วนี่แหละที่ผมเริ่มคิดถึงอนาคตว่าจะอยู่หรือจะออก 

ตอนนั้นเส้นทางที่ผู้จบ ป.ธ.๙ จะออกไปทำงานได้ก็มี (๑) เป็นอนุศาสนาจารย์ทั้ง ๓ เหล่าทัพ (๒) เป็นอนุศาสนาจารย์กรมการศาสนา (๓) เป็นอนุศาสนาจารย์กรมราชทัณฑ์ (๔) เป็นนักภาษาโบราณหอสมุดแห่งชาติ (๕) เป็นนักวิชาการราชบัณฑิตยสถาน (ชื่อในสมัยนั้น)

ผมมั่นใจว่าลาสิกขาออกไปก็คงไม่อดตาย 

———————

ผมลาสิกขาในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ก่อนลาสิกขาผมตระเวนไปตามหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เพื่อสมัครเข้าทำงาน 

ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ฯลฯ หนังสือพิมพ์ดังๆ สมัยนั้นผมไปมาแล้วทั้งนั้น 

ขอเป็นคนตรวจปรู๊ฟก่อนก็เอา ผมรักงานหนังสือพิมพ์ 

ลาสิกขาแล้วผมก็ยังตระเวนต่อไป 

สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชที่ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นปราชญ์ปราดเปรื่องอยู่ในเวลานั้น ผมก็บุกบั่นไปหามาแล้ว 

หนังสือฟ้าเมืองไทย ที่ท่านอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นกัปตันใหญ่ ผมก็ไปมาแล้ว

ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนหรือสำนักพิมพ์ไหนรับผม

ทุกแห่งบอกให้ผมเขียนใบสมัครไว้ ตำแหน่งว่างเมื่อไร จะเรียก-ซึ่งอีกเนิ่นนานต่อมาผมจึงได้เรียนรู้ว่า-นั่นเป็นภาษาที่สุภาพ 

แปลไทยเป็นไทยว่า-เอ็งรีบไปซะให้พ้นๆ 

มีแห่งเดียวที่รับ คือฟ้าเมืองไทย ซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายที่ผมไปสมัคร

ท่านอาจินต์บอกว่า กำลังอยากได้คนมีความรู้ทางบาลี จะเอาไว้ช่วยตรวจภาษาไทย ท่านเชื่อว่าคนที่เรียนบาลีมาหลักภาษาไทยมักแม่น

ตอนนั้นผมทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา งานหลักของที่นี่คือปริวรรตคัมภีร์อักษรขอมและอักษรโบราณท้องถิ่นเป็นอักษรไทย ชำระและแปลเป็นภาษาไทย เป็นงานที่ตรงกับสายที่ผมเรียนมา 

ตอนนั้นแรงดึงออกไปทางหนังสือพิมพ์เริ่มแผ่ว

แรงรั้งให้อยู่กับงานวิชาการภาษาบาลีเริ่มเข้มข้น 

ผมตัดสินใจอยู่กับภาษาบาลี 

แต่เมื่อได้ออกปากของานกับฟ้าเมืองไทยและทางนั้นยินดีต้อนรับไว้แล้ว ผมก็ต้องขอลุกะโทษด้วยการหาพวกพ้องที่จบ ป.ธ.๙ และรักงานหนังสือพิมพ์ไปส่งให้ท่านอาจินต์แทนตัวผม ซึ่งท่านก็รับไว้ด้วยความเต็มใจ 

ผมอยู่กับมูลนิธิภูมิพโลภิกขุตั้งแต่เป็นพนักงานไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยเลี้ยงรายวัน จับคลำคัมภีร์อักษรขอม เป็นผู้ช่วยปรมาจารย์ทางบาลีรุ่นเก่าเก๋ากึ๊กชำระคัมภีร์ภาษาบาลี รับถ่ายทอดศิลปวิทยาทางภาษาบาลีที่ไม่มีสอนในชั้นเรียน จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คุมงานธุรการทางวิชาการบาลีทั้งหมดของมูลนิธิ 

พร้อมๆ กันไปนั่นเอง มูลนิธิภูมิพโลภิกขุซึ่งมีผู้บริหาร “เขี้ยวลากดิน” ทำงานด้วยระบบฝรั่ง เข้างาน-ออกงานตรงเวลา ก็สอนให้ผมเป็นคนสู้งานหนักได้-อย่างที่ไม่มีสอนกันในที่ทั่วไป

เวลาทำงานคือ “เวลาทำงาน” ไม่ใช่เวลานั่งคุยกันหรือนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ 

เวลาเลิกงานคือ “เวลาเลิกงาน” ไม่ใช่ที่จะมามัวอ้อยอิ่งอยู่กับโต๊ะทำงาน

มูลนิธิภูมิพโลภิกขุฝึกผมทั้งศิลปวิทยาการภาษาบาลีและศิลปะในการทำงาน เป็นแหล่งงานที่ผมนึกถึงด้วยคารวะไม่เคยลืมเลย 

———————

พอแต่งงานและมีลูกคนแรก ผมจึงเริ่มคิดถึงความมั่นคงของครอบครัว ผมคิดถึงงานราชการ-ที่มีความมั่นคงกว่างานเอกชน

ผมเอาวุฒิ ป.ธ.๙ ไปสอบเป็น “นักภาษาโบราณ” ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่มีตำแหน่งสำหรับคนที่จบ ป.ธ.๙ 

ตอนนั้นหอสมุดเปิดรับตำแหน่ง “นักภาษาโบราณ” ๑ ตำแหน่ง มีคนสมัคร ๗ คน ไปสอบจริง ๕ คน ผมสอบได้อันดับ ๒ (ผู้สอบได้อันดับ ๑ เป็นลูกจ้างประจำอยู่แล้ว) 

ไข้ขึ้น!

โชคดีที่มีข้าราชการลาออกไปคนหนึ่ง ตำแหน่งว่าง จึงเรียกบรรจุคนสอบได้อันดับ ๒

ตอนนั้นหอสมุดแห่งชาติมี “แผนกบริการหนังสือภาษาโบราณ” รับผิดชอบเกี่ยวกับใบลานสมุดข่อยทั้งหมด เป็นแผนกที่มีข้าราชการซึ่งเป็นคนไปจากวัดมากที่สุด 

ใบลาน-ก็คือคัมภีร์ภาษาบาลีซึ่งส่วนมากเป็นอักษรขอม – ก็ตรงกับสายที่ผมเรียนมา

ระหว่างรับราชการที่หอสมุด ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญชิ้นหนึ่งเสมือนเป็นการประลองฝีมือ นั่นคืองานที่สมัยนี้เรียกเป็นคำฝรั่งว่า edit คัมภีร์จักกวาฬทีปนี ภาษาบาลี ซึ่งหอสมุดปริวรรตออกมาจากต้นฉบับใบลานอักษรขอมและยกร่างแปลเป็นไทยไว้แล้ว ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ edit เพื่อเตรียมพิมพ์เผยแพร่ 

งานชิ้นนี้ที่หนักหนาสาหัสมากที่สุดก็คือการค้นหา “อาคตสถาน” หรือ reference เนื่องจากคัมภีร์จักกวาฬทีปนีเป็นคัมภีร์ที่ยกข้อความจากคัมภีร์ต่างๆ มาอ้างอิงมากมายชนิดที่เรียกได้ว่ามากเป็น “ประวัติการณ์” คือนับได้มากกว่าพันแห่ง นั่นหมายถึงผมจะต้องตามไปอ่านข้อความจากคัมภีร์ต่างๆ เป็นจำนวนมากมายมหาศาล

สมัยนั้น (พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๓) หอสมุดแห่งชาติยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มี google เหมือนเวลานี้ ต้องเขียนหนังสือด้วยปากกาดินสอบนแผ่นกระดาษ อ่านหนังสือจากเล่มหนังสือที่เป็นกระดาษ อุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดคือพิมพ์ดีด 

แผนกบริการหนังสือภาษาโบราณอยู่ชั้น ๔ ของอาคารหอสมุดแห่งชาติ และไม่มีคัมภีร์ที่เป็นเล่มหนังสือของตัวเอง คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือเก่าเก็บไว้ที่ชั้น ๒ เป็นหนังสือที่ “ไม่ให้บริการ” แก่ประชาชน และไม่อนุญาตให้นำออกจากห้องโดยเด็ดขาด 

เพราะฉะนั้น เวลาผมจะต้องค้นหา “ที่มา” จากคัมภีร์ ก็ต้องเดินลงมาที่ชั้น ๒ ห้องเก็บหนังสือเก่าไม่มีที่นั่งอ่านหนังสือ ต้องหาเก้าอี้มานั่งแบบทุลักทุเล กว่าจะค้นที่มาได้สักแห่งหนึ่งสิ้นเปลืองเวลาและแรงงานเป็นอันมาก 

แต่ผมก็ทำงานชิ้นนี้จนสำเร็จไปได้ด้วยดี ได้ทั้งความภูมิใจ และที่สำคัญ-ได้ทั้งความรู้ทางบาลีเพิ่มพูนขึ้น

อยู่หอสมุดแห่งชาติ ๓ ปี ๔ เดือน-จำได้แม่น 

น่าแปลกมาก ตั้งแต่ลาสิกขามาจนถึงเวลานั้น ผมไม่เคยมีความคิดที่จะไปสอบเป็นอนุศาสนาจารย์-ไม่ว่าจะเป็นเหล่าทัพไหน ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาดังกล่าวเพื่อนฝูงที่จบ ป.ธ.๙ พากันไปสอบและสอบได้กันเป็นแถว 

———————

จนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ กองทัพเรือเปิดรับสมัครอนุศาสนาจารย์ ทีแรกผมก็ไม่รู้ แต่มีคนในกองทัพเรือโทรศัพท์ไปบอก และเชิญชวนให้ไปสมัครสอบ 

ปีนั้นผมอายุ ๓๕ เป็นปีสุดท้ายที่จะมีสิทธิ์สอบได้-ถ้าคิดจะสอบ ผมก็เลยตกลงใจว่าจะลองไปสอบดูเล่นๆ 

ปรากฏว่า มีคนสมัคร ๑๗ คน เอา ๔ คน ผมสอบได้อันดับ ๑ 

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมใช้วุฒิ ป.ธ.๙-ที่ได้มาจากการเรียนบาลีเป็นใบเบิกทางในการสมัครเข้าทำงาน

งานวิชาการเท่าที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นภาคทฤษฎี แต่งานอนุศาสนาจารย์ในกองทัพเป็นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ คือต้องรู้ธรรมะ ต้องสอนธรรมะ และที่สำคัญต้องปฏิบัติธรรมะด้วยตัวเองจริงๆ ด้วย-เป็นงานที่ตรงสายกับที่เรียนมาอย่างสมบูรณ์แบบ

สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดในการรับราชการเป็นทหารเรือก็คือ เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ผมบริหารงานด้วยระบบ “สามัคคีธรรม” ที่เราเรียนกันมาจากพระพุทธศาสนา-แต่ไม่มีใครเอามาใช้ 

เริ่มข้อแรก-ผมจัดให้มีการประชุมกันเนืองนิตย์ คือประชุมระดับหัวหน้าแผนกขึ้นไป-ซึ่งเป็นระดับผู้บริหาร-ทุกสัปดาห์ 

กองอนุศาสนาจารย์จะทำอะไรหรือจะไม่ทำอะไร จะไปทางไหนหรือจะไม่ไปทางไหน ต้องเป็นมติที่ออกไปจากที่ประชุมนี้ ไม่ใช่เป็นไปตามความต้องการของผู้อำนวยการ-อย่างที่เป็นอย่างนั้นมาทุกสมัย 

น่าเสียดายที่-พอหมดยุคสมัยของผม-การบริหารงานก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม-ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่มันจะต้องเป็นเช่นนั้น 

———————–

ผมไม่เสียใจเลยกับการที่เลือกเรียนบาลี 

อันที่จริงผมพูดผิดไป เพราะจริงๆ แล้ว การเรียนบาลีเป็นหนทางที่จำเป็นต้องเลือกเพราะผมไม่มีตัวเลือกเป็นอย่างอื่น 

แต่เมื่อถึงเวลานี้ ผมมาคิดดูแล้ว บาลีเป็นวิชาที่ผมสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต ต่างจากผู้ที่มีโอกาสเลือกเรียนสายอื่นๆ-ที่ผมนึกได้ตอนนี้ก็อย่างเช่นสายทหาร

คนที่เลือกสายทหาร ได้ใช้วิชาก็เฉพาะตอนที่ยังรับราชการอยู่ พอปลดเกษียณก็ไม่มีโอกาสที่จะต้องใช้วิชาอีกแล้ว 

ยังมีอีกหลายสายวิชาที่เมื่อปลดเกษียณแล้วก็ไม่ได้ใช้ทำอะไรอีก-นอกจากเอาไว้ภูมิใจว่า-ฉันจบนั่นจบนี่มา 

แต่วิชาบาลีไม่มีวันเลิกใช้-อย่างน้อยก็สำหรับผม 

ทุกวันนี้ผมยังใช้วิชาบาลีศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ ทั้งเพื่อเพิ่มเติมความรู้ของตัวเอง ทั้งเพื่อแจกจ่ายเผยแผ่ความรู้ไปยังเพื่อนมนุษย์ 

ตั้งแต่ปลดเกษียณ ไม่มีแม้สักวันเดียวที่ผมรู้สึกว่าว่างงาน ไม่รู้จะทำอะไร

ผมไม่เคยรู้สึกอยากที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปดูอะไรที่โน่นที่นั่น-เหมือนกับที่คนเกษียณอายุราชการมักนิยมทำกันด้วยเหตุผล-เป็นกำไรชีวิต 

สำหรับผม กำไรชีวิตคือการได้ศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์เอาความรู้มาสอนตัวเองและแนะนำเพื่อนมนุษย์เท่าที่พอจะทำได้ และที่สำคัญ การได้ใช้ความรู้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง-งานเหล่านี้เวลาวันละ ๒๔ ชั่วโมงก็ยังน้อยเกินไป ไม่พอที่จะทำให้หมดจดบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ง่ายๆ เลย

แล้วก็-อย่างที่ผมเคยบอก- ผมไม่รู้สึกเลยว่าจำจะต้องวางงานแล้วใช้เวลาไปทำอย่างอื่นเพื่อพักผ่อน-ตามที่ใครๆ เขานิยมทำกัน สำหรับผม การทำงานตามสายงานของผมเป็นการพักผ่อนที่วิเศษที่สุดอยู่แล้วในตัวเอง 

———————–

ญาติมิตรที่อ่านเรื่องที่ผมเขียนมายืดยาวนี้อาจสงสัยว่า ผมนึกขลังอะไรหรือเนื่องในโอกาสอะไร จึงเอาเรื่องของตัวเองมาบอกเล่า 

ไม่มีเหตุอะไรอื่นหรอกครับ เพียงแต่ผมมานึกขึ้นว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม (คือวันที่ผมโพสต์เรื่องนี้) เมื่อ ๕๕ ปีมาแล้ว เป็นวันที่ผมหิ้วกระเป๋าไม้ฉำฉาสีเหลืองมีจีวรเก่าผืนหนึ่งกับหนังสือบาลีไวยากรณ์ ๓-๔ เล่มอยู่ในกระเป๋า เดินเข้ามาในวัดมหาธาตุ ราชบุรี และตัดสินใจเลือกทางชีวิตด้วยการเรียนบาลี

และบาลีที่ผมเรียนได้ช่วยชีวิตผมและกลายมาเป็นวิถีชีวิตของผมอยู่ในทุกวันนี้ 

………………….

ก่อนจบ ผมมีเรื่องที่อยากพูด ๒ เรื่อง 

(๑) เรื่องที่หนึ่ง ผมอยากจะกราบขอร้องเพื่อนมนุษย์ในสังคมไทยว่า-เลิกดูถูกกันเสียทีว่าพวกมหาเปรียญ-พวกที่มาจากวัด เป็นพวกโง่ๆ เซ่อๆ ไม่ทันโลก 

คำดูถูกทำนองนี้ผมได้ยินมาตลอดชีวิต-แม้จากคนรอบตัว เช่น อ๋อ มหาย้อยนะเรอะแกจะรู้เรื่องนี้หรือ เรื่องดาราหนัง เรื่องวงการบันเทิง เรื่องในวงการกีฬา ฯลฯ แกจะไปรู้อะไร ก็พวกคนวัดๆ น่ะ

ผมจะรู้อะไรหรือจะไม่รู้อะไร ผมคงไม่จำเป็นต้องติดป้ายประกาศบอกใครๆ ไม่ใช่หรือครับ? 

แล้วโลกไหนครับที่ว่าพวกผมไม่ทันน่ะ? 

ท่านว่าผมไม่ทันโลก ท่านเองก็ไม่ทันโลกของพวกผม อย่างน้อยท่านก็รู้ภาษาบาลีไม่ทันผม รู้เรื่องพระศาสนาไม่ทันพวกผม 

ถ้าผมโต้กลับไปอย่างนี้บ้าง จะว่าอย่างไร 

แต่ที่แน่ๆ คนวัดๆ อย่างพวกเราไม่เคยดูถูกใครว่าไม่ทันโลก แล้วทำไมจึงจะต้องมารุมดูถูกพวกเรากันจัง 

(๒) เรื่องที่สอง ผมอยากขอร้องบรรดาท่านที่เรียนบาลีว่าโปรดตั้งสติคิดกันสักหน่อยว่า เราเรียนบาลีกันไปทำไม 

ที่ผมสะท้อนใจมากก็คือเวลานี้เราเรียนบาลีกันเพียงเพื่อให้สอบได้เท่านั้น ความรู้ดีความปฏิบัติดีก็ถูกอ้างอิงพูดถึง แต่ทว่าพูดถึงในฐานะเป็นผลพลอยได้เท่านั้น หาใช่จุดหมายที่แท้จริงไม่ 

ผมว่าเราหลงทางแล้วนะครับ

เรียนบาลี (๑) เพื่อศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์-โดยเฉพาะพระธรรมวินัย-เพื่อให้มีความรู้  (๒) เพื่อใช้ความรู้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง (๓) แล้วและเผยแผ่ต่อไปยังเพื่อนมนุษย์-นี่คือจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของการเรียนบาลี 

การสอบได้-และแม้การใช้วุฒิทางบาลีเป็นใบเบิกทางเพื่อเลี้ยงชีพ-เป็นเพียงผลในระหว่างทางเท่านั้น ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง 

ถ้าเราไม่กลับตัวกันตั้งแต่ตอนนี้ เราจะเดินผิดทางตลอดไป 

อีกประการหนึ่ง ท่านที่มีความรู้ทางบาลีแล้ว กราบขอร้องให้ช่วยกันใช้ความรู้นั้นศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยออกมาเผยแพร่สู่ปวงชนกันบ้างเถิด อย่าเอาแต่ภาคภูมิใจว่าฉันจบประโยคนั้นประโยคนี้ แต่ไม่ทำอะไรต่อไปอีก-โดยเฉพาะการค้นคว้าเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องของพระผู้มีพระภาคเจ้าแทบจะไม่ได้แตะต้องกันเลย 

สังเกตในเฟซบุ๊กนี่เองก็จะเห็นได้ มีท่านที่ทรงภูมิรู้ทางบาลีปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แทบจะไม่มีเลยที่เอาใจใส่กับการศึกษาและเผยแผ่พระธรรมวินัย 

น่าวังเวงใจเป็นที่สุด 

ความเป็นจริงที่น่าตระหนกก็คือ ชาวพุทธในเมืองไทยของเรานี้ส่วนมากมีศรัทธา แต่ที่ขาดอย่างยิ่งก็คือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา-อาการเช่นนี้จะเปรียบไปก็เหมือนคนป่วย 

ผู้ที่เรียนบาลีอุปมาเหมือนคนที่เรียนหมอ 

เรียนบาลีจบแล้ว ศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ต่อไป แล้วเอาความรู้ในพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไปแนะนำสั่งสอนเผยแผ่ให้คนที่ยังขาดความรู้-อุปมาเหมือนคนที่เรียนหมอจบแล้วออกไปรักษาคนป่วย

จบบาลีแล้วไม่ศึกษาพระคัมภีร์ ไม่เผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้อง-ก็เหมือนคนเรียนจบออกมาเป็นหมอแล้ว แต่ไม่ได้รักษาคนป่วย-หรือรักษาคนป่วยไม่ได้ 

จะเป็นหมอไปทำไม 

เป็นหมอแค่เอาไว้อวดใครๆ ว่าฉันจบหมอ-เท่านั้นเองหรือ

เรียนบาลี จบบาลีเพียงเพื่อเอาไว้อวดใครๆ ว่าฉันจบประโยค ๙-เท่านั้นเองหรือ

ผมจะไม่ขออภัย-ถ้าใครเห็นว่าผมพูดแรง เพราะผมตั้งใจจะพูด

ถ้าจะขออะไรกันได้ในโอกาสสิ้นปีเก่า+ขึ้นปีใหม่นี้ 

ผมขอ ๒ ข้อเท่านี้แหละ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๗:๑๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *