ทุกขะโต ทุกขะฐานัง (บาลีวันละคำ 2,395)
ทุกขะโต ทุกขะฐานัง
พูดกันอย่างนี้ คำบาลีควรจะเป็นอย่างไร
“ทุกขะโต ทุกขะฐานัง” เขียนตามคำที่พูดกันเป็นเช่นนี้ และมีคำที่พูดต่อไปดังจะให้เข้าใจว่าเป็นคำแปล-ว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว”
มีปัญหาว่า คำบาลีควรจะเป็นอย่างไร และแปลตามหลักบาลีว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์เขียน วงศ์ศรีสังข์ ป.ธ.9 (2484) สำนักวัดสุวรรณาราม เคยแสดงความเห็นเรื่อง “ทุกขะโต ทุกขะฐานัง” ให้ผู้เขียนบาลีวันละคำฟังว่า
(๑) คำว่า “ทุกขะโต” คำบาลีควรเป็น “ทุกฺขโท” (ทุก-ขะ-โท)
“ทุกฺขโท” รากศัพท์มาจาก ทุกฺข (ความทุกข์) + ทา (ธาตุ = ให้) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ทา (ทา > ท)
หมายเหตุ : คำว่า “ลบสระหน้า” เป็นภาษาที่ใช้ในการอธิบายหลักไวยากรณ์ ที่ใช้คำนี้เพราะเมื่อ ทา + อ (อะ ปัจจัย) “ทา” อยู่หน้า “อ” อยู่หลัง ลบสระ อา ที่ ทา จึงเรียกว่า “ลบสระหน้า” คือลบสระที่คำหน้า
: ทุกฺข + ทา = ทุกฺขทา > ทุกฺขท + อ = ทุกฺขท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้ซึ่งความทุกข์”
“ทุกฺขท” (ทุก-ขะ-ทะ) เป็นคุณศัพท์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทุกฺขโท”
(๒) ส่วนคำว่า “ทุกขะฐานัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุกฺขฏฺฐานํ” (ทุก-ขัด-ถา-นัง) ประกอบด้วย ทุกฺข (ความทุกข์) + ฐาน (ที่, ที่ตั้ง) ซ้อน ฏฺ
: ทุกฺข + ฏฺ + ฐาน = ทุกฺขฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งทุกข์” “ที่ตั้งคือทุกข์” หมายถึงภาวะที่ต้องเป็นทุกข์
“ทุกฺขฏฺฐาน” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทุกฺขฏฺฐานํ”
“ทุกฺขโท ทุกฺขฏฺฐานํ” แปลยกศัพท์ตามหลักไวยากรณ์ว่า –
ปุคฺคโล อันว่าบุคคล ทุกฺขโท ผู้ให้ซึ่งความทุกข์ ปาปุณาติ ย่อมถึง (หรือ ลภติ ย่อมได้) ทุกฺขฏฺฐานํ ซึ่งฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์
แปลโดยอรรถว่า ผู้ให้ทุกข์ย่อมถึงฐานะอันเป็นทุกข์
แปลตามที่พูดกันติดปากว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
อภิปราย :
“ทุกฺขโท ทุกฺขฏฺฐานํ” น่าจะเป็น “ภาษาปาก” ของบาลีที่คิดขึ้นโดยนักเลงบาลีไทย อย่างไรก็ตาม ภาษิตบทนี้มีลีลาคล้ายกับพุทธภาษิตที่เราคุ้นๆ กันหลายบท เช่น –
กลฺยาณการี กลฺยาณํ. = ทำดี ได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ. = ทำชั่ว ได้ชั่ว
ปูชโก ลภเต ปูชํ. = ผู้บูชาย่อมได้รับบูชา
วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ. = ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ
และหากจะนำมาเทียบ – “ทุกฺขโท ทุกฺขฏฺฐานํ” = ผู้ให้ทุกข์ย่อมได้รับทุกข์
“ทุกฺขโท ทุกฺขฏฺฐานํ” พูดเพี้ยนเขียนพลาดตามธรรมชาติของคำบาลีที่ติดปากชาวบ้าน เป็น “ทุกขะโต ทุกขะฐานัง” แต่ความหมายยังคงตรงตามคำบาลี
ถ้าคิดให้ดีจะเห็นได้ว่า “ทุกขะโต ทุกขะฐานัง” เป็นคำที่แฝงไว้ด้วยสูตรที่ลึกซึ้งแห่งชีวิต นั่นก็คือ-ในเมื่อผู้ให้ทุกข์ย่อมได้รับทุกข์ หากเราไม่ต้องการได้รับทุกข์ เราก็อย่าให้ทุกข์แก่ใครๆ เมื่อเราไม่ให้ทุกข์แก่ใครๆ ใครๆ ก็ย่อมจะไม่ให้ทุกข์แก่เรา เป็นไปตามกฎแห่ง กิริยา > ปฏิกิริยา ง่ายๆ นี่เอง แต่เป็นความจริง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สุขโท สุขฏฺฐานํ.
: ให้สุขแก่ท่าน สุขนั้นถึงตัว
——————
(ชำระหนี้ค้างหลายปีให้แก่พระคุณท่าน Prapan Monk Sangkan)
#บาลีวันละคำ (2,395)
2-1-62