อาม ภนฺเต (บาลีวันละคำ 2,399)
อาม ภนฺเต
ฝรั่งเซย์ว่า yes sir.
อ่านว่า อา-มะ พัน-เต
เขียนแบบบาลีไทย – “อามะ ภันเต”
(๑) “อาม” (อา-มะ)
เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ลักษณะประจำตัวของนิบาตคือไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติต่างๆ แต่จะคงรูปเดิมอยู่เสมอ
“อาม” เป็นนิบาตชนิดบอกความรับ นักเรียนบาลีแปลกันว่า “เออ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายคำนี้ว่าเป็น affirmative part. คือนิบาตบอกความรับ และบอกคำแปลไว้ว่า yes, indeed, certainly (เออ, จริง ๆ, ทีเดียว, แน่นอนละ)
ฝรั่งที่เรียนบาลีอย่างลึกสันนิษฐานว่า “อาม” มีมูลรากมาจากคำว่า “อมฺม” (อำ-มะ) อันเป็นคำที่ลูกเรียกแม่ “อมฺม” จึงแปลว่า “แม่” และต่อมาก็นิยมใช้เรียกสตรีทั่วไปในฐานยกย่องหรือให้เกียรติ
“อมฺม” ถ้าแปลเป็นไทยที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงตามสำนวนคนเก่า ก็คงจะตรงกับคำว่า “แม่คุณ”
“อมฺม” นี่เองกลายมาเป็น “อาม” (ตามสันนิษฐานของฝรั่ง)
(๒) “ภนฺเต” (พัน-เต)
เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” เช่นเดียวกัน นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ”
“ภนฺเต” คำนี้ถ้าจะให้แสดงรากศัพท์ อาจบอกไว้ว่า รูปคำเดิมเป็น “ภวนฺต” (พะ-วัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก ภว (ผู้เจริญ, ความเจริญ) + วนฺต ปัจจัย, ลบ ว ที่สุดศัพท์ (ภว > ภ)
: ภว + วนฺต = ภววนฺต > ภวนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเจริญ” “ผู้เจริญ”
“ภวนฺต” เมื่อใช้เป็น “อาลปนะ” (คำทัก, คำเรียก addressing) แปลงรูปเป็น “ภนฺเต” และถือว่าเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต”
“ภนฺเต” เป็นคำที่คู่กับ “อาวุโส” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอายุ”
“ภนฺเต” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่
“อาวุโส” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
ตัวอย่าง :
ในพิธีอุปสมบทจะมีขั้นตอนการสอบถาม “อันตรายิกธรรม” คือคุณสมบัติของผู้อุปสมบทว่าไม่มีข้อต้องห้าม และมีคุณสมบัติอื่นๆ ครบตามที่กำหนดหรือไม่ โดยพระคู่สวดจะเป็นผู้ถาม ผู้อุปสมบทเป็นผู้ตอบ
คำตอบจะมี ๒ แบบ คือ –
ปฏิเสธว่าไม่มีข้อต้องห้าม ตอบว่า “นตฺถิ ภนฺเต” (นัด-ถิ พัน-เต)
รับว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนด ตอบว่า “อาม ภนฺเต” (อา-มะ พัน-เต)
สมัยที่การศึกษายังไม่เจริญ นิยมกำหนดจำกันว่า “ตอบ นัตถิ ภันเต 5 หน ตอบ อามะ ภันเต 8 หน”
ตัวอย่างคำถาม-คำตอบ :
ถาม: กุฏฐัง = เป็นโรคเรื้อนหรือเปล่า?
ตอบ: นัตถิ ภันเต = ไม่เป็นขอรับ
ถาม: อะปะมาโร = เป็นโรคลมชักหรือเปล่า?
ตอบ: นัตถิ ภันเต = ไม่เป็นขอรับ
ถาม: มะนุสโสสิ = เป็นมนุษย์ใช่ไหม?
ตอบ: อามะ ภันเต = ใช่ขอรับ
ถาม: ปุริโสสิ = เป็นผู้ชายใช่ไหม?
ตอบ: อามะ ภันเต = ใช่ขอรับ
“อาม ภนฺเต” (อามะ ภันเต) แปลตามวัฒนธรรมไทย เท่ากับ “ขอรับกระผม” สำหรับผู้ชาย หรือ “เจ้าค่ะท่าน” สำหรับผู้หญิง
“อาม ภนฺเต” แปลตามสำนวนข้าราชการผู้น้อยพูดกับข้าราชการผู้ใหญ่หรือลูกน้องพูดกับเจ้านาย ตรงกับคำตอบยอดนิยมที่ว่า “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน ตามนั้นขอรับ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ระบบงานราชการไม่ก้าวหน้า
: ก็เพราะลูกน้องไม่กล้าเถียงนาย
#บาลีวันละคำ (2,399)
6-1-62