โสเภณี (บาลีวันละคำ 2,398)
โสเภณี
ของดีที่ถูกทำให้เลว
อ่านว่า โส-เพ-นี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “โสภิณี” และ “โสเภณี” บอกความหมายไว้ว่า –
“โสภิณี, โสเภณี : (คำนาม) หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, หญิงโสเภณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ นางกลางเมือง ก็ว่า. (ป. โสภิณี ว่า หญิงงาม; ส. โศภินี).”
พจนานุกรมฯ บอกคำที่เป็นชื่อ “โสเภณี” ไว้อีกหลายคำ คือ หญิงโสเภณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง นางกลางเมือง
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “หญิงหากิน” (มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 แต่ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554) “หญิงบริการ” หรือ “หญิงขายบริการ” ที่ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ
ในหมู่คนไทย ยังมีภาษาพูดที่หมายถึง “โสเภณี” อีกบางคำ เช่น อีตัว คุณตัว คุณโส เฉพาะ “คุณโส” ก็ตัดมาจากคำว่า “โสเภณี” นี่เอง
ในบรรดาคำที่หมายถึง “หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี” คำที่เป็นกลางๆ ที่เข้าใจความหมายกันได้ดีคือคำว่า “โสเภณี” เราใช้คำนี้กันจนแทบจะไม่ได้นึกถึงคำแปลตามรากศัพท์ และถ้าถามว่า รากศัพท์มาอย่างไร คนส่วนมากก็มักไม่ทราบ
พึงทราบว่า คำว่า “โสเภณี” เป็นคำที่ถูกตัดมาอีกทีหนึ่งจากคำเต็มว่า “นครโสเภณี”
คำว่า “นครโสเภณี” ภาษาไทยอ่านว่า นะ-คอน-โส-เพ-นี แต่ภาษาบาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ-โส-เพ-นี
ถ้าดูรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ในไวยากรณ์ จะเห็นความหมายที่ชัดเจน
รูปวิเคราะห์ : นครํ โสเภตีติ นครโสภินี (นะ-คะ-รัง โส-เพ-ตี-ติ นะ-คะ-ระ-โส-พิ-นี) แปลตามแบบว่า หญิงใดยังเมืองให้งาม เหตุนั้น หญิงนั้นชื่อว่า นครโสภินี = ผู้ยังเมืองให้งาม
“นครโสเภณี” ประกอบด้วย นคร (เมือง) + สุภ (ธาตุ = งาม) + เณ ปัจจัย, ลบ ณ (เณ > เอ), แผลง อุ ที่ สุ-(ภฺ) เป็น โอ (สุภฺ > โสภ) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลง น เป็น ณ
: นคร + สุภฺ = นครสุภฺ + เณ > เอ = นครสุเภ + อินี = นครสุเภนี > นครโสเภนี > นครโสเภณี แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้ยังเมืองให้งาม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นครโสเภณี” ว่า the city belle, a town courtesan (หญิงงามเมือง, หญิงนครโสเภณี)
จะเห็นได้ว่าคำเต็มมีคำว่า “นคร” ที่แปลว่า “เมือง” นำหน้า เป็นการชี้ความหมายเฉพาะเจาะจงลงไปว่า สิ่งที่ถูกทำให้งามในคำนี้คือ “เมือง” ซึ่งหมายถึงบ้านเมือง คำว่า “นครโสเภณี” จึงมีความหมายในทางดีงาม
ในภาษาไทย เรียกกันไปเรียกกันมา ตัดคำว่า “นคร” ออก เหลือเพียง “โสเภณี” ซึ่งตามรูปคำที่ตาเห็นก็แปลได้เพียงว่า “หญิงผู้ทำให้งาม” แต่ไม่รู้ว่าทำอะไรให้งาม
ที่ไปที่มา :
มูลเหตุของคำนี้มาจากบ้านเมืองในชมพูทวีปสมัยโบราณมีธรรมเนียมยกย่องสตรีที่มีความงามให้ดำรงตำแหน่ง “นครโสเภณี” ถ้าจะเทียบเคียงก็แบบเดียวกับตำแหน่งนางสาวไทย – นางงามจักรวาล ในปัจจุบันนี้นั่นเอง เป็นตำแหน่งที่มีไว้เพื่อต้อนรับ หรืออวดแขกบ้านแขกเมือง ถือว่าเป็นสง่าราศี เป็นเกียรติยศของบ้านเมืองนั้นๆ
แต่ธรรมดาหญิงงามย่อมเป็นที่หมายปองของชาย เมื่อมีชายมากหลายหมายปอง ก็เป็นโอกาสให้หญิงงามนั้นเลือกรับเลือกรักได้หลากหลายไปด้วย
ตกมาถึงกาลปัจจุบัน ความหมายของ “นครโสเภณี” ก็เปลี่ยนไป กลายเป็น “หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี” เป็นสถานะที่สังคมรังเกียจ ถึงกับบางประเทศพยายามที่จะไม่ให้มีในบ้านเมืองของตน กลายเป็นตรงกันข้ามกับค่านิยมที่เป็นมูลเหตุดั้งเดิมไป
…………..
: มนุษย์ทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดได้
: แต่มนุษย์นั่นเองก็ทำสิ่งที่เลวทรามที่สุดได้ด้วย
ดูก่อนภราดา!
: โปรดตัดสินใจให้ดี อยู่บ้านเมืองนี้ท่านจะทำสิ่งใด
#บาลีวันละคำ (2,398)
5-1-62