ชลมารค (บาลีวันละคำ 2,513)
ชลมารค
อ่านว่า ชน-ละ-มาก
ประกอบด้วยคำว่า ชล + มารค
(๑) “ชล”
บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย
: ชลฺ + อ = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water)
บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; – (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชล, ชล– : (คำนาม) นํ้า. (ป., ส.).”
(๒) “มารค”
บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
(3) ม (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง ม + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: ม + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน”
(4) ม (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + ค (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ
: ม + คฺ + ค = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส”
“มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
บาลี “มคฺค” สันสกฤตเป็น “มารฺค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มารค : (คำนาม) ทาง เช่น ชลมารค สถลมารค. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).”
ชล + มคฺค = ชลมคฺค > ชลมารค แปลว่า “ทางน้ำ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชลมารค : (คำนาม) ทางนํ้า เช่น กระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค. (ส.).”
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 62 และหน้า 65 บรรยายรายละเอียดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 10 กล่าวถึง “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้
…………..
๓. พระราชพิธีเบื้องปลาย คือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม ในปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
…………..
๘. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไปทำงานอย่าเกี่ยงว่าทางบกหรือทางน้ำ
: จงระวังแต่ว่างานที่ไปทำจะนำไปสวรรค์หรือนรก
#บาลีวันละคำ (2,513)
30-4-62