บาลีวันละคำ

กงกำ (บาลีวันละคำ 2,514)

กงกำ

ไม่ใช่ “กรงกรรม” : โหนละครนำไปหาความรู้คำบาลี

(๑) “กง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กง ๒ : (คำนาม) วง, ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถม้าเป็นต้น, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ขนมกง, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคํา วง ว่า เป็นวงเป็นกง; …..”

กง” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “เนมิ” (เน-มิ) รากศัพท์มาจาก นิ (ธาตุ = นำไป) + มิ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ นิ เป็น เอ (นิ > เน)

: นิ + มิ = นิมิ > เนมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ชิ้นส่วนที่นำล้อไป” หมายถึง เส้นรอบวงของดุมล้อรถ, วง, กรอบ, ขอบ (the circumference of a wheel, circumference, rim, edge)

(๒) “กำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กำ ๒ : (คำนาม) ซี่ล้อรถหรือเกวียน.”

กำ” ตามความหมายนี้ บาลีใช้ศัพท์ว่า “อร” (อะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อรฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: อรฺ + = อร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องแล่นไปได้แห่งรถ” หมายถึง ซี่ล้อรถหรือเกวียน (the spoke of a wheel)

สรุปว่า –

กง” เป็นคำไทย ใช้เรียก “ส่วนรอบของล้อเกวียน” คำบาลีว่า “เนมิ” (เน-มิ)

กำ” เป็นคำไทย ใช้เรียก “ซี่ล้อรถหรือเกวียน” คำบาลีว่า “อร” (อะ-ระ)

คนเก่า เมื่อพูดว่า “กง” หรือ “กำ” จะรู้กันทันทีว่าหมายถึงส่วนไหนของล้อเกวียน

เชื่อว่า 2 คำนี้ คนสมัยใหม่ไม่รู้จัก

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ธรรมบทมีพุทธภาษิตแสดงเรื่องผลกรรมไว้บทหนึ่งว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา

มโนเสฏฺฐา มโนมยา

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน

ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ

จกฺกํว วหโต ปทํ.

ที่มา: ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 11

แปลว่า –

สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

ใจสำคัญที่สุด สำเร็จมาแต่ใจ

ถ้าใจชั่ว

พูดก็ตาม ทำก็ตาม

เพราะชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป

เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไปฉะนั้น

…………..

ไทยเราเอาคตินี้มาพูดเป็นสำนวนว่า “กงเกวียนกำเกวียน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กงเกวียนกำเกวียน : (สํานวน) ใช้เป็นคําอุปมาหมายความว่า เวรสนองเวร, กรรมสนองกรรม, เช่น ทําแก่เขาอย่างไร ตนหรือลูกหลานเป็นต้นของตนก็อาจจะถูกทำในทำนองเดียวกันอย่างนั้นบ้าง เป็นกงเกวียนกําเกวียน.”

กงเกวียนกำเกวียน” บางทีก็พูดเพี้ยนเป็น “กงกำกงเกวียน” แล้วก็ตัดสั้นเหลือเพียง “กงกำ

คนสมัยใหม่ไม่เข้าใจว่า “กง” คืออะไร “กำ” คืออะไร จับเอาเสียง “กงกำ” มาปรุงเป็นคำตามที่เข้าใจเป็น “กรงกรรม” เป็นคนละคำกันไป

หรือจะว่าคนสมัยใหม่ฉลาด จับเอาเสียง “กงกำ” มาปรุงแต่งเป็น “กรงกรรม” ทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมา-ก็ได้

ใครจะเข้าใจ “กรงกรรม” ตามความหมายใหม่ก็เข้าใจไป ไม่ว่ากัน แต่ควรเข้าใจต่อไปอีกสักหน่อยว่า ไทยเรามีคำว่า “กงกำ” ใช้เรียกส่วนประกอบของล้อเกวียน และเป็นสำนวนที่เพี้ยนมาจาก “กงเกวียนกำเกวียน” สำนวน “กงเกวียนกำเกวียน” มีที่มาจากพุทธภาษิตในพระไตรปิฎก

พระพุทธศาสนาอุปมากิเลส กรรม วิบาก ว่าเหมือนรถที่พาสรรพสัตว์แล่นวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ต้องเวียนตายเวียนเกิดไม่มีวันสิ้นสุด

และว่าพระอรหันต์ท่านหักซี่ “กำ” ทำลาย “กง” ล้อรถได้หมดสิ้นแล้ว รถของท่านจึงไม่มีล้อที่จะพาแล่นไปเวียนว่ายตายเกิดได้อีกต่อไป เป็นอันถึงที่สุดแห่งทุกข์แต่เพียงนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเบื่อหน่ายที่จะว่ายในวังวนของกลกรรม

: ก็จงเร่งปฏิบัติธรรมให้ถึงพระนฤพานเทอญ

#บาลีวันละคำ (2,514)

1-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย