สถลมารค (บาลีวันละคำ 2,512)
สถลมารค
อ่านว่า สะ-ถน-ละ-มาก
ประกอบด้วยคำว่า สถล + มารค
(๑) “สถล”
บาลีเป็น “ถล” (ถะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + อล ปัจจัย, แปลง ฐ เป็น ถ, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ)
: ฐา + อล = ฐาล > ถาล > ถล แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ยืนของสัตวโลก”
(2) ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + อล ปัจจัย, แปลง ฐ เป็น ถ, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ)
: ถลฺ + อ = ถล แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งอยู่ของสัตวโลก”
“ถล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง
(1) ที่ที่น้ำไม่ท่วม, ที่สูงหรือยกขึ้นสูง, ที่ดอน [ตรงข้ามกับ ต่ำ] (dry ground, high, raised [opp. low])
(2) ที่แข็ง, บก (solid, firm)
(3) ที่ราบสูง (ตรงกันข้ามกับที่ลุ่ม) (plateau [opp. low lying place])
(4) ที่แห้ง, พื้นดินที่แน่น (dry land, terra firma)
(5) พื้นที่แน่นและเรียบหรือปลอดภัย (firm, even ground or safe place)
บาลี “ถล” สันสกฤตเป็น “สฺถล”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สฺถล : (คำนาม) สถาน, ที่, ดิน; กระโจม, วัสตรเวศมันหรือเรือนผ้า; เนิน; บทหรือหัวข้อ; ภาค (หนังสือ); place, site, soil; a tent, a house of cloth; a mound or hillock; point or case; part (of a book).”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถล, สถล– : (คำนาม) ที่บก, ที่ดอน, ที่สูง. (ส.; ป. ถล).”
(๒) “มารค”
บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
(3) ม (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง ม + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: ม + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน”
(4) ม (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + ค (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ
: ม + คฺ + ค = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส”
“มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
บาลี “มคฺค” สันสกฤตเป็น “มารฺค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มารค : (คำนาม) ทาง เช่น ชลมารค สถลมารค. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).”
ถล + มคฺค = ถลมคฺค > สถลมารค แปลว่า “ทางบก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สถลมารค” ไว้คู่กับ “สถลบถ” บอกไว้ดังนี้ –
“สถลบถ, สถลมารค : (คำนาม) ทางบก เช่น กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค. (ส.).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “ถลปถ” = สถลบถ แปลไว้ว่า a road by land (ทางไปทางบก) ตรงข้ามกับ “ชลปถ” = ชลบถ แปลไว้ว่า a road by water (ทางไปทางน้ำ)
พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สถลบถ” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ชลบถ”
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 64 บรรยายรายละเอียดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 10 กล่าวถึง “ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค” มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้
…………..
วันที่ ๕ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร
…………..
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ใช้คำว่า “กระบวนพยุหยาตรา”
แต่หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ใช้ว่า “ขบวนพยุหยาตรา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเกี่ยงว่าเป็นทางน้ำหรือทางบก
: แต่จงระวังว่าเป็นทางไปนรกหรือสวรรค์
——————
(ตามคำเสนอแนะของ ทาแม็ภ)
#บาลีวันละคำ (2,512)
29-4-62