บาลีวันละคำ

ปุถุชน (บาลีวันละคำ 1,342)

ปุถุชน

อ่านว่า ปุ-ถุ-ชน

บาลีเป็น “ปุถุชฺชน” อ่านว่า ปุ-ถุด-ชะ-นะ

ปุถุชฺชน” มีที่มา 2 ทาง คือ –

ทางที่ ๑ : ปุถุ + ชน

๑) “ปุถุ” รากศัพท์มาจาก ปุถฺ (ธาตุ = แผ่ไป, หนา) + อุ ปัจจัย

: ปุถฺ + อุ = ปุถุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แผ่ไป

ปุถุ” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แยก, แต่ละคน, โดยแยกออก, แต่ละ (separated, individual, separated, individual, separately, each)

(2) มากมาย, หลายอย่าง, ต่างๆ, มาก, มากกว่า, มากที่สุด (numerous, various, several, more, many, most)

๒) “ชน” (ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

ปุถุ (+ ชฺ) + ชน = ปุถุชฺชน แปลตามศัพท์ว่า “ชนผู้แยกต่างหากจากพระอริยะ

ทางที่ ๒ : ปุถุ (มากหลาย) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, ซ้อน ชฺ ระหว่าง ปุถุ + ชนฺ

: ปุถุ + ชฺ + ชนฺ + = ปุถุชฺชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกิเลสต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างมาก” หมายถึงผู้ที่สร้างกิเลสออกมาจากตัวเป็นอันมาก

(2) “ผู้ยังกิเลสสักกายทิฏฐิเป็นต้นเป็นอันมากให้เกิดขึ้น หรือเป็นผู้อันกิเลสเหล่านั้นทำให้เกิดขึ้น” เหมือนความหมายแรก แต่เพิ่มขึ้นอีกนัยหนึ่ง คือนอกจากจะเป็นผู้สร้างกิเลสแล้ว ตัวเองนั่นแหละก็ถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสเป็นอันมากด้วย

(3) “ผู้มีคติอันเป็นที่เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายมาก” หมายถึงเป็นผู้เกิดบ่อยครั้ง คือเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน

ปุถุชฺชน” ในบาลีหมายถึง คนสามัญ, คนธรรมดาทั่วไป, โลกิยชน, สามัญชน, คนธรรมดา (an ordinary, average person, a common worldling, a man of the people, an ordinary man)

ปุถุชฺชน” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปุถุชน” และ “บุถุชน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปุถุชน : (คำนาม) คนที่ยังมีกิเลสหนา, สามัญชน, ผู้ที่มิได้เป็นพระอริยบุคคล. (ป. ปุถุชฺชน; ส. ปฺฤถคฺชน).”

พจน.54 บอกว่า “ปุถุชน” สันสกฤตเป็น “ปฺฤถคฺชน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺฤถคฺชน : (คำนาม) ‘ปฤถัคชน,’ นรผู้สถูลธี, คนโง่, ผู้ต่ำชาติ; สัตตบาป, คนชั่ว, ผู้กลั้วอยู่ในอกุศล; (คำนาม พหูพจน์) บุตร์อันเกิดจากบิดาคนเดียวกัน แต่ต่างมารดากัน; an ignorant man, a fool; a man of a low caste; a sinner, a wicked or vicious man; (n. pl.) children of one father by different mothers.”

สรุปความว่า ปุถุชน ก็คือ คนธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป คนที่ยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ทำดีทำชั่วได้เรื่อยไป

เสริมความรู้ :

ในคัมภีร์ท่านแบ่งปุถุชนเป็น 2 ประเภท –

(1) อันธปุถุชน – ปุถุชนคนมืดบอดหรือโง่เขลา

(2) กัลยาณปุถุชน – ปุถุชนคนดี

สนามทดสอบคือ: หลักธรรมคำสอนในพระศาสนา

ตัวชี้วัดคือ: อุคฺคห ปริปุจฺฉา สวน ธารณ ปจฺจเวกฺขณ

ถอดความว่า : ธรรมะ

– ใครไม่เรียน ไม่ถาม ไม่ฟัง ไม่จำ ไม่คิด = อันธปุถุชน

– ใครเรียน ถาม ฟัง จำ คิด = กัลยาณปุถุชน

: ปุถุชนย่อมทำผิดได้เป็นธรรมดา

: แต่วิสัยบัณฑิต ย่อมไม่ทำผิดโดยการอ้างสิทธิ์ว่า-เพราะฉันเป็นปุถุชน

1-2-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย