ลัทธปักษ์ (บาลีวันละคำ 2,553)
ลัทธปักษ์
ฝากไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง-อีกสักคำ
“ลัทธปักษ์” อ่านว่า ลัด-ทะ-ปัก ประกอบด้วยคำว่า ลัทธ + ปักษ์
(๑) “ลัทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ลทฺธ” (ลัด-ทะ) รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ต ปัจจัย, แปลง ภฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ
: ลภฺ + ต = ลภต > (ภต > ทฺธ) > ลทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “อัน-ได้แล้ว”
“ลทฺธ” ใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ หมายถึง ได้มา, ได้รับ, รับไว้ ([having] obtained, taken, received)
“ลทฺธ” สันสกฤตเป็น “ลพฺธ” อ่านว่า ลับ-ทะ เราใช้ตามสันสกฤต เขียนเป็น “ลัพธ์” อ่านว่า ลับ เช่นในคำว่า “ผลลัพธ์”
“-ลัพธ์” คำนั้นก็คือ “ลัทธ” คำนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ลัทธ์” บอกไว้ดังนี้ –
“ลัทธ์ : (คำวิเศษณ์) ได้แล้ว. (ป.; ส. ลพฺธ).”
(๒) “ปักษ์”
บาลีเป็น “ปกฺข” (ปัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ปจฺ (ธาตุ = สุก) + ข ปัจจัย, แปลง จฺ ที่ ปจฺ เป็น ก (ปจฺ > ปกฺ)
: ปจฺ + ข = ปจฺข > ปกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเหตุสุกแห่งสิ่งที่เป็นอยู่” = ระยะเวลาครึ่งเดือน
“ปกฺข” ยังมีรากศัพท์มาจากธาตุตัวอื่นอีกหลายนัย เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ขอนำความหมายของ “ปกฺข” ตามนัยต่างๆมาแสดงไว้ ดังนี้ –
(1) ด้านข้างของร่างกาย, สีข้าง, ปีก, ขนนก (side of the body, flank, wing, feathers)
(2) ปีกข้างหนึ่งของบ้าน (wing of a house)
(3) ปีกนก (wing of a bird)
(4) ด้านข้าง, ส่วน (side, party, faction)
(5) ครึ่งเดือนทางจันทรคติ, หนึ่งปักษ์ (one half of the lunar month, a fortnight)
(6) ทางเลือก, คำแถลงของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (alternative, statement)
(7) (คุณศัพท์) ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง (associated with, a partisan, adherent)
(8) (ในคำว่า “หตปกฺข”) ผู้ถูกบาดเจ็บ ฯลฯ เข้าที่ข้างหนึ่ง, เป็นอัมพาตไปข้างหนึ่ง, คนพิการ (one who is struck on one side, paralysed on one side, a cripple)
ปกฺข สันสกฤตเป็น “ปกฺษ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ปักษ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
“ปักษ-, ปักษ์ : (คำนาม) ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).”
ลัทธ + ปักษ์ = ลัทธปักษ์
“ลัทธปักษ์” แปลงกลับเป็นบาลีคือ “ลทฺธปกฺข” (ลัด-ทะ-ปัก-ขะ)
ในคัมภีร์-โดยเฉพาะคัมภีร์พระวินัย-มีศัพท์ว่า “ลทฺธปกฺข” ปรากฏอยู่หลายแห่ง
คัมภีร์ไวยากรณ์บาลีแสดงรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ไว้ว่า “ลทฺโธ ปกฺโข เยน โส ลทฺธปกฺโข” แปลว่า “ฝักฝ่ายอันผู้ใดได้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ลทฺธปกฺโข”
“ลทฺธปกฺโข” หรือ “ลทฺธปกฺข” หรือ “ลัทธปักษ์” จึงมีความหมายว่า “ผู้ได้ฝักฝ่าย” หมายถึงได้คนมาเป็นพรรคพวก มาเข้าด้วย มาสนับสนุน
“ปกฺข” ตามนัยนี้จึงมีความหมายตามข้อ (7) ข้างต้น (ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง associated with, a partisan, adherent)
“ลัทธปักษ์” เป็นคำที่ยังไม่มีใครใช้ในภาษาไทย
ขยายความ :
“ลัทธปักษ์” เป็นคำที่ใช้เมื่อกล่าวถึงการหาเสียงสนับสนุนในกรณีที่ต้องการจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งและจะต้องขอความเห็นชอบจากสังคมนั้นๆ
ตัวอย่างที่ท่านบันทึกไว้ในคัมภีร์ก็คือ กรณีเมื่อประมาณ พ.ศ. 100 พระภิกษุกลุ่มหนึ่งประพฤตินอกธรรมนอกวินัย และถูกพระภิกษุกลุ่มที่ประพฤติตามพระธรรมวินัยตำหนิคัดค้าน เรื่องดำเนินไปจนถึงขั้นต้องประชุมสงฆ์เพื่อลงมติว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ตอนนี้แหละที่แต่ละฝ่ายพยายามหา “ปักษ์” หรือพรรคพวกที่จะมาสนับสนุนฝ่ายของตน มีการชิงไหวชิงพริบกันอย่างน่าตื่นเต้น เพื่อชิงสถานะ “ลัทธปักษ์” คือมีพวกมากพอที่จะชนะ
เรื่องที่เราอาจจะไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ การติดสินบนหรือการซื้อตัวเพื่อให้ฝ่ายตนอยู่ในสถานะ “ลัทธปักษ์” ได้มีการกระทำกันมาแล้วในวงการสงฆ์ตั้งแต่สมัยโน้น (ผู้ต้องการทราบรายละเอียด โปรดศึกษาได้จากคัมภีรจุลวรรค ภาค 2 วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 630-663 หัวข้อ “สัตตสติกขันธกะ”)
ข้อที่ต้องตระหนักก็คือ สถานะ “ลัทธปักษ์” ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะฝ่ายคนดีมีคุณธรรมเท่านั้น คนเลวก็สามารถเข้าถึงสถานะ “ลัทธปักษ์” ได้
เพราะฉะนั้น ใครที่เชื่อว่าเพียงท่องคาถา “ข้าเป็นคนดี” “ข้าเป็นคนบริสุทธิ์” ก็จะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสุขสงบ หรือกล่าวเฉพาะวงพระพุทธศาสนา ใครที่เคยเชื่อว่า เพียงตั้งใจรักษาพระธรรมวินัยให้เคร่งครัดก็จะสามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้-นั้น พึงตระหนักเถิดว่า เท่านั้นยังไม่พอ ดีและบริสุทธิ์อย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาด ทันเกม และมีไหวพริบเป็นเลิศอีกด้วย จึงจะอยู่ในสถานะ “ลัทธปักษ์” ฝ่ายดีได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “ลัทธปักษ์” หรือได้พวกมาก
: ไม่ใช่หลักประกันว่าพวกจะไม่ลากไปลงนรก
#บาลีวันละคำ (2,553)
9-6-62