รัฐสวัสดิการ (บาลีวันละคำ 2,552)
รัฐสวัสดิการ
อยู่ในดวงมานของแต่ละคน
อ่านว่า รัด-สะ-หฺวัด-ดิ-กาน
ประกอบด้วยคำว่า รัฐ + สวัสดิการ
(๑) “รัฐ”
บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
(๒) “สวัสดิการ”
ประกอบด้วย สวัสดิ + การ
(ก) “สวัสดิ”
บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ ( = ดี, งาม) + อตฺถิ ( = มี, เป็น)
(1) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + ติ > ตฺถิ : อ + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
(2) สุ + อตฺถิ :
สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + ว (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + ว + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)
(ลองออกเสียง สุ–อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ”
สุ–อตฺถิ = สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)
หมายเหตุ :
สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ
: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ สุวตฺถิ
(ข) “การ”
บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” มีความหมายว่า –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
สวัสดิ + การ = สวัสดิการ แปลตามศัพท์ “การทำให้เกิดความสวัสดี”
“สวัสดิการ” เป็นคำบัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า welfare
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล welfare ว่า ความผาสุก, ความเป็นอยู่, ความปลอดภัย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล welfare เป็นบาลีว่า –
(1) attha อตฺถ (อัด-ถะ) = ประโยชน์, ความต้องการ
(2) kalyāṇa กลฺยาณ (กัน-ลฺยา-นะ) = ความดีงาม
(3) vaḍḍhi วฑฺฒิ (วัด-ทิ) = ความเจริญ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สวัสดิการ : (คำนาม) การให้สิ่งที่เอื้ออํานวยให้ผู้ทํางานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบาย เช่น มีสถานพยาบาล ให้ที่พักอาศัย จัดรถรับส่ง.”
รัฐ + สวัสดิการ = รัฐสวัสดิการ
“รัฐสวัสดิการ” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า welfare state
ถ้าเทียบคำอังกฤษแล้ว “รัฐสวัสดิการ” ก็เป็นคำประสม แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “รัฐที่จัดสวัสดิการ (ให้แก่ประชาชน)”
ภาษาไทยมีคำเรียกประเทศบางประเทศว่า “สาธารณรัฐ” ซึ่งบัญญัติจากคำอังกฤษว่า republic
ต่างว่าเราใช้คำอังกฤษว่า republic state เพื่อเทียบกับ welfare state ถ้า republic state เป็น “สาธารณรัฐ” welfare state ก็น่าจะเป็น “สวัสดิการรัฐ” (เป็นคำสมาส แปลจากหลังมาหน้า) ไม่ใช่ “รัฐสวัสดิการ”
คำว่า “รัฐสวัสดิการ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
บทความเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับสังคมสวัสดิการ : มุมมองทางทฤษฎี” โดย ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร อธิบายความหมายของ “รัฐสวัสดิการ” ไว้ดังนี้ –
…………..
รัฐสวัสดิการ (Welfare State) ในความหมายรวบยอดหมายถึง รัฐหรือประเทศที่มีการจัดระบบสวัสดิการสังคมอย่างทั่วด้านให้แก่ทุกคนในสังคมอย่างถ้วนหน้า (Welfare for All) สวัสดิการต่างๆ ที่จัดขึ้นนั้นดำเนินงานโดยรัฐทั้งหมด
รัฐสวัสดิการมีลักษณะทั่วไป 3 ประการ คือ
1. รัฐประกันรายได้ขั้นต่ำของทุกคนในสังคม โดยไม่คำนึงว่าคน ๆนั้นจะเป็นใคร ทำงานอะไร มีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน
2. สร้างความมั่นคงในชีวิต ให้แก่ทุกคน ทุกครัวเรือน โดยให้มีหลักประกันทางรายได้ และอยู่รอดปลอดภัยจากภาวะวิกฤติต่างๆ
3. ให้พลเมืองทุกคน โดยไม่เลือกกลุ่มคน ชนชั้น และสถานภาพ ได้รับบริการสังคม (social service) อย่างเสมอหน้ากัน ด้วยมาตรฐานที่ดีที่สุด เท่าเทียมกัน
…………..
“รัฐสวัสดิการ” ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา :
เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักอ้างทฤษฎีของฝรั่ง แต่มองข้ามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีมาก่อน
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า หลักคำสอนเรื่อง “จักรวรรดิวัตร” (จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 35) คือการปกครองบ้านเมืองด้วยระบบ “รัฐสวัสดิการ” ที่แท้จริง
ขอยกข้อความในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [339] ซึ่งประมวลความอันเป็น “จักรวรรดิวัตร” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
(ตัวเลขบอกข้อข้างหน้าคือชุดที่นับเป็น 5 ข้อ
ตัวเลขในวงเล็บข้างหลังคือชุดที่นับเป็น 12 ข้อ)
…………..
จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — Cakkavatti-vatta: duties of a universal king or a great ruler)
1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย — Dhammādhipateyya: supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ
2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — Dhammikārakkhā: provision of the right watch, ward and protection)
ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)
ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the armed forces; military personnel) (3)
ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)
ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)
จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)
ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)
ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8)
ญ.มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)
3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกันแก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — Adhammakāranisedhanā: to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)
4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — Dhanānuppadāna: to let wealth be given or distributed to the poor) (11)
5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — Paripucchā: to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ามีเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน
: รัฐสวัสดิการก็เกิดทันที
#บาลีวันละคำ (2,552)
8-6-62