สนธยา (บาลีวันละคำ 671)
สนธยา
อ่านว่า สน-ทะ-ยา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สนธยา : เวลาโพล้เพล้พลบคํ่า, บางทีใช้ว่า ยํ่าสนธยา; ช่วงเวลาที่ต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน คือเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก. (สันสกฤต. สนธฺยา; บาลี. สนฺธิ ว่า ช่วงเวลาที่ต่อระหว่างเช้ากับบ่าย กลางวันกับกลางคืนและหัวค่ำกับดึก).”
หมายเหตุ : คำว่า สนธฺยา ที่อ้างในวงเล็บ พจน.54 พิมพ์ไม่มีจุดใต้ น น่าจะปรู๊ฟผิดพลาด
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สนฺธฺยา” มีความหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้ –
สนฺธฺยา (คำนาม) : ‘สันธยา’ แผลงเปน – สนธยา; สายัณกาล; เวลาซึ่งล่วงไประหว่างอวสานของยุคหนึ่งและอาทิของอิกยุคหนึ่ง; กาลสมัย, ปูรฺวาหฺณกาล (= เวลาก่อนเที่ยง), อปราหฺณกาล (= เวลาบ่าย), มัธยทิน (= เที่ยงวัน);… twilight; evening; the period that elapses between the expiration of one yuga and the commencement of another; a period of time, the forenoon, afternoon, midday;…
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน กับ พจน.54 ความลงรอยกัน
ส่วนในบาลี “สนฺธิ” (สัน-ทิ) มีความหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้ –
1 การรวมกัน, การต่อกันเข้า (union, junction)
2 ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง (joint, piece, link)
3 การต่อเนื่องกัน, การผนวกกัน (connection, combination)
4 การลงรอยหรือตกลงกัน (agreement)
“สนฺธิ” ตามความหมายเหล่านี้ไม่มีที่ชี้เฉพาะไปที่วันเวลา เพราะเป็นความหมายของ “สนฺธิ” คำเดียว ไม่มีคำอื่นมาประสม
อย่างไรก็ตาม บาลีมีคำว่า “สญฺฌา” (สัน-ชา) ซึ่งเทียบได้กับ “สนฺธฺยา” ในสันสกฤต แปลว่า เวลาเย็น
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล twilight เป็นบาลีว่า
– padosa ปโทส
– sañjhāloka สญฺฌาโลก
(โปรดสังเกตอักษรโรมันที่ใช้เขียนคำบาลี จะเป็นเหมือนคำอ่านอยู่ในตัว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล ปโทส (= โทสา) ว่า evening, dusk (ยามเย็น, สายัณห์) และแปล สญฺฌาตป (สญฺฌา + อาตป : มีนัยเดียวกับ สญฺฌาโลก) ว่า evening sun (พระอาทิตย์ตอนเย็น)
บาลีมีคำอื่นๆ อีกที่มีความหมายนัยเดียวกัน คือ
– อภิโทส (อะ-พิ-โท-สะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า the evening before, last night (พลบค่ำ, คืนที่แล้ว)
– อตฺถคมน (อัด-ถะ-คะ-มะ-นะ) คำเดียวกับ อตฺถงฺคต ที่ภาษาไทยใช้ว่า อัสดงคต หรือ อัสดง ก็แปลว่า setting of the sun (อาทิตย์อัสดง)
บาลีทุกคำที่หมายถึง เวลาโพล้เพล้พลบคํ่า หรือยํ่าสนธยา ฝรั่งไม่ได้แปลว่า twilight เลย
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล twilight ว่า แสงเงินแสงทองในเวลาเช้า, แสงผีตากผ้าอ้อมในเวลาเย็น, ตะวันยอแสง, สายัณห์
และบอกคำที่เป็นไวพจน์ว่า gloaming
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล gloaming เป็นบาลีว่า sañjhāloka สญฺฌาโลก
สรุปว่า –
1 ในภาษาไทยมักใช้คำว่า สนธยา ในความหมายว่า เวลาเย็น
2 แต่ในสันสกฤต “สนฺธฺยา” หมายถึง “รอยต่อระหว่างเวลา” ซึ่งอาจเป็นเวลาเย็น เวลาย่ำรุ่ง หรือแม้แต่เที่ยงวันก็ได้
3 บาลีมีคำว่า “สญฺฌา” ซึ่งตรงกับ “สนฺธฺยา” ในสันสกฤต แต่ใช้ในความหมายว่า “เวลาเย็น” เท่านั้น
4 บาลีทุกคำที่หมายถึง เวลาโพล้เพล้พลบคํ่า หรือยํ่าสนธยา ซึ่งเรามักใช้คำฝรั่งว่า twilight นั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษไม่ได้แปลว่า twilight เลย
: ตราบเท่าที่โลกยังหมุนรอบดวงอาทิตย์ ก็ยังต้องมีมืดมีสว่างสลับกันไป ฉันใด
: ตราบเท่าที่มนุษย์ยังอยู่ในกระแสโลก หัวใจก็ย่อมมืดบ้าง สว่างบ้าง ฉันนั้น
: อริยบุคคลผู้พ้นแล้วจากวังวนแห่งสังสารวัฏ หัวใจท่านสว่างไสวและเบิกบานเป็นนิรันดร์
———————
(ขยายความตามสติปัญญา โดยคำอัชเฌสนาของ Zamar Sib Oon)
19-3-57