บาลีวันละคำ

วันทามิ (บาลีวันละคำ 2,555)

วันทามิ

คำที่แสดงถึงวัฒนธรรมพุทธ

อ่านตรงตัวตามที่ตาเห็นว่า วัน-ทา-มิ

วันทามิ” เขียนแบบบาลีเป็น “วนฺทามิ” เป็นคำกิริยาอาขยาต (ภาษาไวยากรณ์ คำไทยใช้ว่า “กริยา” แต่ในวงการบาลีใช้ว่า “กิริยา”)

คำว่า “อาขยาต” (อา-ขะ-หฺยาด) มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

คำแนะนำ: อ่านบทนิยามของพจนานกรมฯ ไว้พอเป็นพื้นฐาน ยังไม่ต้องเข้าใจหมดทุกเรื่อง

วนฺทามิ” รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + (อะ) ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต, ทีฆะ อะ เป็น อา

: วนฺทฺ + = วนฺท + มิ = วนฺทมิ > วนฺทามิ

วนฺทามิ” เป็นคำกิริยาอาขยาต “มิ วิภัตติ” บ่งบังคับว่า “ประธาน” ของกิริยาตัวนี้ต้องเป็น “อหํ” (อะ-หัง) (ฉัน, ข้าพเจ้า, ข้า, กู)

ที่รู้ได้ว่าประธานต้องเป็น “อหํ” เพราะหลักไวยากรณ์กำหนดไว้เช่นนั้น และผู้เรียนได้ท่องจำ “หลัก” มาก่อนแล้ว (นี่คือที่กล่าวกันว่า จะเรียนบาลีให้รู้เรื่องต้องเริ่มด้วยท่องหลักไวยากรณ์)

และหลักไวยากรณ์ก็ระบุไว้ว่า “อหํ” เป็นเอกพจน์ (I ไม่ใช่ We) ถ้าพหูพจน์ต้องเป็น “มยํ” (มะ-ยัง) อย่างที่เราคุ้นกันในคำว่า “มยํ ภนฺเต” เป็นต้น ซึ่งแปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (We ไม่ใช่ I)

ตามหลักพื้นฐานนี้ เมื่อเห็นคำว่า “วนฺทามิ” แม้จะไม่ได้เขียนคำว่า “อหํ” ไว้ เราก็สามารถแปลได้ว่า “อหํ อันว่าข้าพเจ้า วนฺทามิ ย่อมไหว้

สรุปว่า “วนฺทามิ > วันทามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าย่อมไหว้” หรือ “ข้าพเจ้าขอไหว้” (ไหว้พระ ไหว้ใคร หรือไหว้อะไร ก็ว่ากันไป)

วนฺทามิ” คำนี้ รูปคำกริยาพื้นฐานเป็น “วนฺทติ” (วัน-ทะ-ติ)

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อจะพูดว่า “ไหว้” คำกริยา (อาขยาต) พื้นฐานในภาษาบาลีคือ “วนฺทติ” ประธานเป็นคนทั่วไป คือไม่ใช่ I ไม่ใช่ We และไม่ใช่ You

เมื่อจะพูดว่า “ข้าพเจ้าไหว้” ก็เปลี่ยนรูปคำกริยา “วนฺทติ” เป็น “วนฺทามิ” ตามหลักว่าด้วย “บุรุษ” ในไวยากรณ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วนฺทติ” ว่า to greet respectfully, salute, to pay homage, to honour, respect, to revere, venerate, adore (อภิวาท, สดุดี, ไหว้, ให้เกียรติ, นับถือ, เคารพ, ยกย่อง, บูชา)

…………..

ขอแถลงเหตุผล (เคยแถลงไว้นานแล้ว) ว่า ที่มักยกคำอังกฤษมาเทียบไว้ด้วยนั้น ไม่ใช่ว่าผู้เขียนบาลีวันละคำเก่งภาษาอังกฤษ แต่เพราะมีสิ่งบอกเหตุที่เห็นได้ว่า คนไทยสมัยใหม่เห็นคำอังกฤษแล้วเข้าใจความหมายของคำบาลีได้ดีกว่าที่แปลเป็นไทย

อนึ่ง คำอังกฤษที่ยกมานั้นผู้เขียนบาลีวันละคำก็ไม่ได้แปลเอง แต่คัดมาจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษที่เรียนบาลีอย่างรู้ถึงรากเป็นผู้แปลไว้ จึงเป็นเครื่องรับรองได้ว่าจะเป็นคำแปลที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อย-ถ้าสงสัยหรืออยากรู้เพิ่มขึ้น-ก็เป็นพื้นฐานให้เราศึกษาสืบค้นต่อไปได้อีก

…………..

นี่คือวิธีเรียนบาลีแบบบ้านๆ เท่าที่จะแนะนำกันได้พอเป็นพื้นฐาน

ถ้าไม่ประสงค์จะรู้ต่อไปอีก รู้ไว้แค่นี้ก็คงพอจะพูดหรือ “สวด” คำว่า “วันทามิ” ได้เต็มปากเพราะรู้ความหมายแล้ว

วันทามิ” ที่เราอาจพบได้เสมอๆ ก็อย่างเช่น –

อหํ วนฺทามิ ธาตุโย = ข้าพเจ้าไหว้พระธาตุ

อหํ วนฺทามิ ทูรโต = ข้าพเจ้าขอไหว้จากที่ไกล (ตัวไม่ได้ไป ส่งใจไปไหว้)

อหํ วนฺทามิ สพฺพโส = ข้าพเจ้าขอไหว้พร้อมหมดทุกอย่าง

วนฺทามิ พุทฺธํ, วนฺทามิ ธมฺมํ, วนฺทามิ สงฺฆํ = ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธ, ไหว้พระธรรม, ไหว้พระสงฆ์

ฯลฯ

วันทามิ” เป็นถ้อยคำที่แสดงออกถึงความเคารพนบน้อม เห็นคุณความดีของผู้อื่น ให้เกียรติแก่กันและกัน

วันทามิ” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ปฺรณาม” ที่คนอินเดียทุกวันนี้ใช้ทักทายกัน-โดยเฉพาะใช้กับผู้อาวุโสกว่า

พบพระภิกษุสามเณรหรือผู้หลักผู้ใหญ่ ทักทายท่านด้วยคำว่า “วันทามิ” พร้อมกับประนมมือ – น่าจะเป็นวัฒนธรรมพุทธได้อีกแบบหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ให้เกียรติใครไม่เป็น

: คือคนไม่มีเกียรติ

#บาลีวันละคำ (2,555)

11-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย