บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำให้การของลุงเพิก

คำให้การของลุงเพิก

———————

เรื่องนี้มีหลายประเด็น

อ่านเล่นๆ ก็ได้

อ่านเอาจริงก็น่าจะดี

……………………

ลุงคนนั้นนะหรือแกชื่อเพิก

ศีรษะเถิกรูปร่างค่อนข้างผอม

อายุล่วงหลายรอบกรอบเกือบงอม

เมียชื่อพร้อมเจ็บตายมาหลายนา

ลุงเพิกได้สมญามรรคนายก

ชอบเถียงถกข้อธรรมคำคาถา

วันพระถืออุโบสถงดวิกาล์

ยังศรัทธาฝึกธรรมประจำวัน

แล้วจู่จู่รู้ข่าวที่ฉาวฉ่า

ฟังไม่น่านึกเชื่อเหลือจะขัน

ว่าลุงเพิกถูกจับอย่างฉับพลัน

ข้อฉกรรจ์ถูกหาอนาจาร!

รายละเอียดเรื่องนี้มีอยู่ว่า

แกผิดกาเมหนักด้วยหักหาญ

ผู้หญิงเขาเอาเรื่องเคืองรำคาญ

ส่งฟ้องศาลเรียกค่าขายหน้าคน

วันให้การลุงเพิกแกเบิกถ้อย

เสียงอ่อยอ่อยเล่าเลศบอกเหตุผล

กลับจากวัดเดินมาพบหน้ามน

แม่แต่งตนเหลือจักหักอารมณ์

คอก็กว้าง อกก็พุ่ง นุ่งก็สั้น

ยิ่งปลงมันก็ยิ่งกลับเกิดทับถม

เมื่อแม่อยากแต่งขยายให้ชายชม

ก็แล้วผมนี่หรือนะเป็นพระปูน?

—————–

กลอนบทนี้ผมเขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว ส่งไปลงหนังสือ “วิทยาสาร” ซึ่งมีท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นบรรณาธิการ

“วิทยาสาร” เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ (ถ้าจำไม่ผิด) มีคอลัมน์กลอน ชื่อคอลัมน์ “สรวงสวรรค์ชั้นกวี” 

คำว่า “สรวงสวรรค์ชั้นกวี” นี้นำมาจากกลอนบทหนึ่งในหนังสือ “สามกรุง” ของ น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ) ที่ว่า –

………………

สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์

ผ่องประภัศร์พลอยหาวพราวเวหา

พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวัณณนา

สมสมญาแห่งสวรรค์ชั้นกวี

(คำกลอนเต็มๆ โปรดอ่านจากภาพประกอบ) 

ฝ่ายศิลป์ของวิทยาสารเอากลอนบทนี้มาทำเป็นชื่อคอลัมน์ด้วยอักษรประดิษฐ์อย่างสวยงามด้านบนของหน้าหนังสือ (เสียดายที่หาหนังสือวิทยาสารมาเป็นภาพประกอบไม่ได้)

………………

กลอนชื่อ “คำให้การของลุงเพิก” ข้างต้นนั้น ผมไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้ แต่ลอกออกมาจากความจำ เพราะฉะนั้นถ้อยคำบางแห่งอาจผิดเพี้ยนจากต้นฉบับที่ลงพิมพ์ในวิทยาสารไปบ้าง 

กลอนบทนี้เหมือนเรื่องสั้นขนาดสั้น ตัวเอกคือ “ลุงเพิก” 

ลุงเพิกมีเมียชื่อ “พร้อม” – 

“เมียชื่อพร้อมเจ็บตายมาหลายนา” 

คำว่า “หลายนา” ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่เข้าใจ (แต่คนรุ่นท่านอาจารย์เปลื้องเข้าใจดี) 

“นา” หมายถึงการทำนาปลูกข้าว ในสมัยที่คนไทยยังทำนาตามธรรมชาติ ปีหนึ่งทำนาหนหนึ่ง เพราะในรอบปีมีฤดูฝนคราวเดียว 

คำว่า “นา” จึงหมายถึง “ปี” อยู่ในตัว 

“นาหนึ่ง” คือปีหนึ่ง “สองนา” คือ ๒ ปี

ทำนองเดียวกับคำว่า “เข้า” ในศิลาจารึกสุโขทัยที่ว่า “เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า” 

“เข้า” ในที่นั้นก็คือ “ข้าว” ที่เรากินกันนี่แหละ โบราณสะกดเป็น “เข้า” คนเก่ายังออกเสียงเป็น “เข้า” ตรงๆ ก็มี เช่น “กินเข้า” ก็คือ กินข้าว 

“เข้า” เราออกเสียงเป็น “ข้าว” ทำนองเดียวกับ “น้ำ” เราออกเสียงเป็น “น้าม” 

“เข้า” ออกเสียงเป็น “ข้าว” หนักๆ เข้าเลยเขียนเป็น “ข้าว” เสียเลย จนในที่สุดเรารู้จัก “ข้าว” แต่ไม่รู้จักว่า “เข้า” ว่านี่แหละ “ข้าว” ตัวจริง 

เวลานี้ถ้าบอกว่า “เข้า” คือ “ข้าว” คนก็แทบจะไม่เชื่อ – นี่คืออิทธิฤทธิ์ของ “ผิดจนถูก” 

ยังดีที่ “น้ำ” เรายังไม่ได้เขียนเป็น “น้าม” ไม่อย่างนั้นคนไทยรุ่นใหม่ก็จะรู้จัก “น้าม” แต่ไม่รู้จัก “น้ำ” 

“เข้า” คือข้าว ก็คือการทำนาข้าวปีละครั้ง เข้าหนึ่ง ก็คือปีหนึ่ง สองเข้า ก็คือ ๒ ปี 

พจนานุกรมท่านจึงบอกความหมายของ “เข้า” ไว้ว่า “ขวบปี”

“ขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า” ในจารึกจึงหมายถึง มีอายุได้ ๑๙ ปี 

“หลายนา” ก็หมายถึง “หลายปี”

“เมียชื่อพร้อมเจ็บตายมาหลายนา” หมายความว่า ป้าพร้อมเมียลุงเพิกตายมาหลายปีแล้ว

ถามว่า แล้วทำไมจะต้องใช้คำให้มันลึกลับแบบนั้น ทำไมไม่แต่งไปตรงๆ ว่า 

“เมียชื่อพร้อมเจ็บตายมาหลายปี” 

อันนี้มันเป็นศิลปะหรือลีลาของร้อยกรองครับ 

เหตุผลหนึ่งก็คือ-ความจำเป็นที่ต้องหาคำรับสัมผัส เช่น คิดบทต่อไปได้ว่า 

ลุงเพิกได้สมญามรรคนายก

ชอบเถียงถกข้อธรรมคำคาถา

“คำคาถา” – ลงเสียงสระ-อา 

สมมุติว่าวรรคก่อนโน้นแต่งว่า – “เมียชื่อพร้อมเจ็บตายมาหลายปี” 

“หลายปี” – ลงเสียงสระ-อี สัมผัสกับ “คำคาถา” ไม่ได้

จะแก้ “คำคาถา” ให้เป็นสระ-อี 

หรือจะแก้ “หลายปี” ให้เป็นสระ-อา 

นี่คือที่ผมว่า-มันเป็นศิลปะหรือลีลาของร้อยกรอง 

………………

ที่ผมตั้งใจจะพูดก็คือ “ภาษา” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชาติบ้านเมือง

สังเกตเห็นว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ขาดความสนใจในภาษาไทย-ภาษาของชาติตัวเอง 

คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาคำเก่า 

คำเก่าแสดงวิถีชีวิตอันเป็นวัฒนธรรมของชาติ 

เมื่อสนใจภาษาของตัวเองน้อยลง ความซาบซึ้งในวัฒนธรรมของตัวเองก็น้อยลง

ความภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองก็น้อยลง

และในที่สุด ความรักชาติบ้านเมืองก็น้อยลง 

พร้อมกับที่ “กระแสสากล” มีแรงดูดมากขึ้น เด็กไทยทุกวันนี้จึงมีบุคลิกที่พร้อมจะทิ้งวัฒนธรรมของตัวเองโลดแล่นออกไปสู่ความเป็นสากลโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน 

รู้อยู่อย่างเดียวว่าเราจะต้องเป็น “สากล”

“ความเป็นสากล” นั้นเป็นภาพลวงตาแล้วก็ลวงใจ เพราะจับต้องไม่ได้จริง 

ลองถามว่า-อย่างไรที่เรียกว่า “สากล” จะตอบว่าอย่างไร? 

เช่น ต้องพูดต้องเขียนอย่างไรจึงจะเป็นภาษาสากล 

แต่งตัวอย่างไรจึงจะเป็นเครื่องแต่งกายสากล

ต้องกินอะไรจึงจะถือว่าเป็นอาหารสากล

ต้องอาศัยในอาคารแบบไหนจึงจะเป็นบ้านเรือนสากล

และรวบยอด-ต้องใช้ชีวิตแบบไหนจึงจะถือว่าอยู่ในวัฒนธรรมสากล? 

………………

พอจะหารูปแบบของ “สากล” เข้าจริงๆ เราก็ไปอิงอยู่กับวัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่งนั่นเอง 

เช่น พูดอังกฤษ แต่งตัวแบบฝรั่ง ใช้ปีคริสต์ศักราช ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมฝรั่ง

แล้วก็อ้างกันว่านี่แหละคือ “สากล” 

เหตุผลมีอย่างเดียวคือ-ที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้ 

กลายเป็นว่า-อะไรที่คนทำกันมากๆ นั่นแหละคือ “สากล”

ทั้งๆ ที่ ผู้รู้ท่านก็เตือนอยู่ว่า 

เสียงข้างมากบอกความนิยมได้

แต่บอกความถูกต้องไม่ได้ 

ภูมิหลังของตัวเองที่มีอยู่ ก็ไม่รู้ ก็เท่ากับไม่มี

ที่จะไปไขว่คว้าหาเอาข้างหน้า ก็ไม่ใช่ของตัว 

แผ่นดินที่ตัวอาศัยอยู่มีค่าเพียงแค่ “ที่ซุกหัวนอนไปวันๆ” 

ไม่มีความภูมิใจ ไม่มีอะไรผูกพัน 

พร้อมที่จะทิ้งไปได้ทุกเวลา 

………………

เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงไทยที่นุ่งผ้าถุงไปวัด ไปงานต่างๆ มีอยู่ทั่วไป 

สมัยผมเป็นเด็ก อยู่ต่างจังหวัด ผู้หญิงนุ่งกางเกงแทบจะไม่มี

“คอก็กว้าง อกก็พุ่ง นุ่งก็สั้น” – เป็นการแต่งตัวอยู่ในห้องนอน ไม่ใช่วัฒนธรรมการแต่งตัวออกไปนอกบ้านของหญิงไทย 

ยิ่งไปวัด ไปกระทำกิจเกี่ยวกับพระศาสนา ไปอยู่ในสายตาของพระเณร ยิ่งต้องมิดชิดและสุภาพเรียบร้อยเป็นพิเศษ

เดี๋ยวนี้ ไปเวียนเทียนวันวิสาขบูชา นุ่งสั้นจนเห็นโคนขา พบเห็นได้ดาษดื่น 

………………

แม่ไทยสมัยก่อนอุ้มลูก “เข้าสะเอว” กันทั้งนั้น 

แม่ของลูกผม รวมทั้งตัวผมเอง ก็อุ้มลูกแบบ “เข้าสะเอว” 

แม่ไทยสมัยนี้สะพายลูกแบบฝรั่ง 

ไม่รู้จักกันแล้วว่า “เข้าสะเอว” คืออะไร 

นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่บอกถึงว่า เราทิ้งวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งก็คือทิ้งตัวเอง 

สิ่งที่เราเอามาทำ เอามาประพฤติ ไม่ใช่สิ่งที่เราประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเอง แต่เรารับเอามาจากคนอื่น เพราะเห็นว่าของคนอื่นดีกว่าของเราเอง

แต่งตัวแบบฝรั่ง นุ่งสั้นจุ๊ดจู๋ไปวัด ดีกว่านุ่งผ้าถุงมิดชิดแบบของเรา 

เหตุการณ์แบบที่ “ลุงเพิก” ทำลงไปจึงเกิดขึ้น 

………………

ผมไม่ได้บอกว่า เราต้องเปิบข้าวด้วยมือ เราต้องใช้ฟืนติดเตาหุงข้าว ฯลฯ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยของเราไว้ 

– กรุณาเข้าใจเจตนา และอย่าตีรวนแบบนั้น

ความหมายของผมคือ หาจุดดีของเราให้เจอ แล้วรักษาและพัฒนาให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป 

สมบัติไทยดีดีมีอยู่เยอะ

หาให้เจอะรู้ให้จริงทุกสิ่งสรรพ์

………

………

ทุกวันนี้เราทิ้งของเราหมดทุกอย่าง 

การไม่ศึกษาเรียนรู้ นั่นคือการทิ้งจนถึงราก 

เพราะเด็กไทยไม่เรียนภาษาไทยให้ถึงขนาด-เข้าถึงอรรถรสของภาษาไทยที่งามๆ เพราะๆ 

ผลก็คือเขียนภาษาที่ถูกแบบแผนไม่ได้ เขียนภาษางามๆ เพราะๆ ไม่ได้ ไม่เป็น 

ภาษาทรามๆ ก็แพร่ระบาดทั่วไป จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ผมเคยพูดประชดว่า อีกหน่อยฝรั่งจะมาสอนภาษาไทยให้คนไทย 

มีคนบอกว่า ฝรั่งสอนภาษาไทยให้คนไทย เดี๋ยวนี้มีแล้วจริงๆ 

ถ้าเราไม่ภูมิใจในภาษาของเรา แต่มุ่งหน้าทะยานไปหาความเป็นสากล อีกไม่นานภาษาไทยจะมีฐานะเป็นเพียง “ภาษาของคนพื้นเมือง” 

เมื่อภาษาหมด 

ชาติก็หมด

ถ้ายังปล่อยกันไปแบบนี้ สักวันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบ-รถน้ำมันหมดกลางทาง – “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” 

กลับไม่ได้ – เพราะไม่รู้ว่าบ้านเมืองของตัวเองอยู่ที่ไหน อะไรที่เป็นไทยๆ อยู่ที่ไหน เนื่องจากทิ้งไปหมดแล้ว

ไปไม่ถึง – “ความเป็นสากล” ที่วาดหวังไว้ก็ไปไม่ถึง เพราะไม่เก่งจริง ไม่แน่จริง เทียบกับเขาไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นของตัวเองที่จะเอาไปอวดเขาได้ 

………………

ฟังๆ ไป เหมือนกับจะถล่มกันเอง 

ไม่ได้มีเจตนาแบบนั้นหรอกครับ แต่มีเจตนาที่จะชวนให้ฉุกคิด 

ผมมีความเห็นว่า การจะรักษาชาติบ้านเมืองให้อยู่ยั้งยืนยง ต้องรักษาวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของไทยไว้ให้ได้ 

ภาษา-เป็นสมบัติไทยที่สำคัญที่สุดที่จะประกาศยืนยันถึงความเป็นชาติไทย ดังที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กล่าวไว้ว่า 

ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้

ของไทยแน่นั่นหรือคือภาษา 

………

………

ในภาษา มีวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทยอยู่พร้อมสรรพ-เพื่อการศึกษา เรียนรู้ ถ่ายทอด และสืบทอดต่อๆ กันไปไม่ให้เสื่อมสูญ

ภาษาบาลีรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ฉันใด 

ภาษาไทยก็รักษาความเป็นชาติไทยไว้ได้ ฉันนั้น 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒

๑๑:๑๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *