เพื่อนสหธรรมิก (บาลีวันละคำ 3,491)
เพื่อนสหธรรมิก
คำที่ใครเรียกใคร
อ่านว่า เพื่อน-สะ-หะ-ทำ-มิก
ประกอบด้วยคำว่า เพื่อน + สหธรรมิก
(๑) “เพื่อน”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เพื่อน ๑ : (คำนาม) ผู้ชอบพอรักใคร่กัน, ผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน, เช่น เขามีเพื่อนมาก, ผู้ร่วมสถาบันหรือร่วมอาชีพเป็นต้น เช่น เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนข้าราชการ เพื่อนกรรมกร, ผู้ร่วมธุระ เช่น อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน ไปเป็นเพื่อนกันหน่อย, ผู้อยู่ในสภาพเดียวกัน เช่น เพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลก.”
(๒) “สหธรรมิก”
บาลีเป็น “สหธมฺมิก” อ่านว่า สะ-หะ-ทำ-มิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า สห + ธมฺมิก (สห + ธมฺม + อิก)
(ก) “สห” (สะ-หะ) เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)
“สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (united) เสมอไป
(ข) “ธมฺมิก” (ทำ-มิ-กะ) มาจาก ธมฺม + อิก ปัจจัย
(1) “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
(2) ธมฺม + อิก = ธมฺมิก (ทำ-มิ-กะ) คำแปลสามัญที่สุดคือ “ประกอบด้วยธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิก” ไว้ดังนี้ –
(1) lawful, according to the Dhamma or the rule (ชอบด้วยกฎหมาย, ถูกตามธรรมหรือกฎเกณฑ์)
(2) proper, fit, right (สมควร, เหมาะสม, ถูกต้อง)
(3) permitted, legitimate, justified (ได้รับอนุญาต, ถูกกฎหมาย, มีเหตุผลถูกต้อง)
(4) righteous, honourable, of good character, just (ชอบธรรม, มีเกียรติ, มีอุปนิสัยดี, ยุติธรรม)
(3) สห + ธมฺมิก = สหธมฺมิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรมร่วมกัน” หมายถึง ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สหธมฺมิก” ว่า having the same Dhamma, co-religionist (ผู้มีธรรมเสมอกัน, ผู้ถือศาสนาเดียวกัน)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“สหธรรมิก (Sahadhammika) : co-religionists; fellow Dhamma-farer.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สหธรรม” และ “สหธรรมิก” บอกไว้ดังนี้ –
(1) สหธรรม : (คำนาม) ธรรมอันเดียวกัน, กฎหรือความเชื่อถืออย่างเดียวกัน.
(2) สหธรรมิก : (คำนาม) ผู้มีการประพฤติธรรมร่วมกัน เช่น พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นเพื่อนสหธรรมิกกัน อุบาสกอุบาสิกาเป็นสหธรรมิกกัน. (ป. สหธมฺมิก).
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สหธรรมิก” ไว้ว่า –
…………..
สหธรรมิก : ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎก มี 7 คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ หมายถึง 5 อย่างแรกเท่านั้น เรียกว่า สหธรรมิก 5 (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน 5)
…………..
อภิปรายขยายความ :
เมื่อเอาคำว่า “เพื่อน” มาประกอบกับคำว่า “สหธรรมิก” เป็น “เพื่อนสหธรรมิก” มีคำถามว่า คำนี้เป็นคำที่ใครเอ่ยถึงใคร หรือใครเรียกใคร
ถามให้ชัดลงไปว่า –
พระภิกษุสามเณรเรียกพระภิกษุสามเณรด้วยกันว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ได้หรือไม่
พระภิกษุสามเณรเรียกชาวบ้านว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ได้หรือไม่
ชาวบ้านเรียกพระภิกษุสามเณรว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ได้หรือไม่
ชาวบ้านเรียกชาวบ้านด้วยกันว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ได้หรือไม่
ถ้าตอบแบบกว้างๆ ก็ตอบว่า ใครประพฤติธรรมร่วมกัน ใครมีธรรมร่วมกัน ก็เรียกผู้นั้นว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ได้ทั้งสิ้น
แต่ตามหลักนิยมของการใช้ภาษา จะตอบแค่นั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงหลักอื่นๆ ประกอบด้วย
ตามความหมายที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ยกมาแสดงไว้ บอกว่า –
๑ ในคัมภีร์มหานิทเทสแสดงไว้ว่า “สหธรรมิก” หมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา รวมเป็น 7 พวก
๒ คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไป “สหธรรมิก” มักหมายเฉพาะจำนวน 5 คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ไม่รวมอุบาสก อุบาสิกา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “สหธรรมิก” บอกไว้ว่า “พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นเพื่อนสหธรรมิกกัน อุบาสกอุบาสิกาเป็นสหธรรมิกกัน”
คำนิยามนี้เป็นการแยกกันชัดเจนว่า ฝ่ายบรรพชิตก็เฉพาะบรรพชิตด้วยกันจึงเป็น “เพื่อนสหธรรมิก” กัน ไม่รวมคฤหัสถ์คืออุบาสกอุบาสิกา ฝ่ายคฤหัสถ์ก็เฉพาะอุบาสกอุบาสิกาด้วยกันจึงเป็น “เพื่อนสหธรรมิก” กัน ไม่รวมบรรพชิต
เท่าที่ฟังท่านเรียกกันในหมู่ชาววัด คำว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ท่านใช้เรียกกันในหมู่พระภิกษุสามเณรด้วยกันเท่านั้น ไม่รวมไปถึงชาวบ้าน และชาวบ้านเองแม้ในหมู่ผู้ที่ถือศีลปฏิบัติธรรมก็ไม่มีใครเรียกพระภิกษุสามเณรว่า “เพื่อนสหธรรมิก” แม้แต่เรียกชาวบ้านที่ถือศีลด้วยกันก็ไม่ได้เรียกว่า “เพื่อนสหธรรมิก”
พิจารณาตามสถานะ เป็นชาวบ้านไม่ได้มีข้อบังคับตายตัวว่าต้องถือศีลปฏิบัติธรรมจึงจะเป็นชาวบ้านได้ นั่นคือแม้ไม่ได้ถือศีลปฏิบัติธรรมก็ยังคงเป็นชาวบ้านได้อยู่นั่นเอง
แต่ในสถานะบรรพชิต พระภิกษุสามเณรมีข้อบังคับว่าต้องถือศีลปฏิบัติธรรมตามขอบเขตที่กำหนด จึงจะเป็นพระภิกษุสามเณรอยู่ได้ ถ้าประพฤติเหมือนชาวบ้านก็เป็นพระภิกษุสามเณรไม่ได้
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ พระภิกษุสามเณรกับพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะต้องประพฤติธรรมร่วมกันเท่านั้นจึงควรเป็น “เพื่อนสหธรรมิก” กัน ไม่รวมไปถึงชาวบ้านซึ่งจะประพฤติธรรมหรือไม่ประพฤติธรรมก็ได้ และแม้จะประพฤติธรรมก็ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องประพฤติธรรมเสมอกับพระภิกษุสามเณร นั่นคือไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็น “เพื่อนสหธรรมิก” กับพระภิกษุสามเณรได้นั่นเอง
จึงเป็นอันได้หลักที่ยุติได้ว่า คำว่า “เพื่อนสหธรรมิก” ใช้เรียกกันในหมู่พระภิกษุสามเณรด้วยกันเท่านั้น
…………..
การใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักนิยมเป็นความงามอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมของไทยเรา และการที่จะใช้ภาษาให้ถูกต้องงดงามได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาสอบสวนคติเดิมที่ท่านใช้กันมาให้ทั่วถ้วนก่อน ไม่ควรใช้วิธีคิดเอาเองเข้าใจเอาเองนำหน้าแล้วก็ใช้ไปตามที่คิด
ดังคำว่า “จำวัด” เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดถึงการไม่ศึกษาคติเดิม
ศึกษาคติเดิมแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับคติเดิม เรามีสิทธิ์ที่จะใช้ตามที่เราชอบ แต่โดยมารยาทก็ควรแสดงเหตุผลของเราไว้ด้วย โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า ถ้าใช้ตามคติเดิมจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร หรือไม่ดีไม่งามอย่างไร และคำหรือวิธีที่เราคิดขึ้นใหม่ดีงามกว่าคติเดิมอย่างไร เป็นการยืนยันถึงภูมิปัญญาไปด้วยในตัวว่า คนรุ่นเราฉลาดหลักแหลมกว่าคนรุ่นก่อนอย่างไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าอายที่จะเรียนรู้เรื่องเดิมของตนไว้เป็นคติ
: เพราะการถูกตำหนิว่าไม่รู้จักตัวเองน่าอายกว่า
#บาลีวันละคำ (3,491)
2-1-65
…………………………….