สาขา (บาลีวันละคำ 2,560)
สาขา
คำที่คนไทยเข้าใจได้โดยไม่ต้องแปล
“สาขา” อ่านตรงตัวว่า สา-ขา รากศัพท์มาจาก –
(1) สขฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (สขฺ > สาข) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สขฺ + ณ = สขณ > สข > สาข + อา = สาขา
(2) สาขฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สาขฺ + อ = สาข + อา = สาขา
“สาขา” แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่แผ่ออกไป” หมายถึง –
(1) กิ่ง (a branch)
(2) ส่วนที่ยื่นออกมาของภูผา (a spur of a hill)
(3) ก้านร่ม (the rib of a parasol)
หมายเหตุ : ความหมายตามข้อ (1) เป็นความหมายสามัญทั่วไป เราเข้าใจคำว่า “สาขา” ตามความหมายนี้ ส่วนในข้อ (2) และ (3) เป็นความหมายเฉพาะในข้อความบางแห่ง
บาลี “สาขา” สันสกฤตเป็น “ศาขา” (บาลี ส เสือ, สันสกฤต ศ ศาลา) สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาขา : (คำนาม) กิ่ง; ประภาค, ประวิภาคหรืออุปศาขา; a branch; a subdivision.”
โปรดสังเกตว่า คำแปลภาษาไทยความหมายที่ 2 ของสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ทั้ง 3 คำ คือ “ประภาค” “ประวิภาค” “อุปศาขา” ล้วนเป็นคำที่เราไม่คุ้น ต้องอาศัยดูคำแปลเป็นอังกฤษ a subdivision เราพอจะคุ้นกับคำว่า division เมื่อเห็น subdivision ก็พอเข้าใจความหมายของ “ศาขา” ในสันสกฤตได้
ในภาษาไทย คำนี้เราใช้ตามบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาขา : (คำนาม) กิ่งไม้, กิ่งก้าน, เช่น ต้นจามจุรีมีสาขามาก; แขนง, ส่วนย่อย, ส่วนรอง, เช่น วิทยาศาสตร์กายภาพเป็นสาขาหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์ ธนาคารออมสินสาขาหน้าพระลาน. (ป.; ส. ศาขา).”
ขยายความ :
ถ้าจะเข้าใจความหมายของ “สาขา” ได้ชัดขึ้น ขอให้ดูต้นไม้
โดยทั่วไป ส่วนประกอบของต้นไม้จากพื้นสู่เบื้องบนจะมีดังนี้ –
๑ ราก ภาษาบาลีใช้คำว่า “มูล” (มู-ละ) คำเดียวกับที่เรารู้จักกันว่า “มูล” เช่น มูลเหตุ ข้อมูล (root)
๒ ลำต้น ภาษาบาลีใช้คำว่า “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) คือที่ในภาษาไทยใช้ว่า “ขันธ์” (the trunk)
๓ กิ่ง คือส่วนที่แตกออกจากลำต้น นี่คือ “สาขา” ที่กำลังพูดถึง (a branch)
๔ ก้าน คือส่วนที่แตกออกไปจากกิ่งอีกทีหนึ่ง คำบาลีเรียกว่า “อนุสาขา” (a sub-branch)
“สาขา” และ “อนุสาขา” เมื่อกล่าวถึงพร้อมกัน ภาษาบาลีนิยมสนธิเป็น “สาขานุสาขา”
๕ ยอด ภาษาบาลีใช้คำว่า “อคฺค” (อัก-คะ) คำเดียวกับที่เรารู้จักกันว่า “อัคร” (top)
…………..
ตั้งใจจะพูดถึงคำว่า “สาขา” คำเดียว แต่แตกออกไปถึง “มูล” (ราก) “ขนฺธ” (ลำต้น) “อนุสาขา” (ก้าน) และ “อคฺค” (ยอด)
จะเรียกว่าคำเหล่านี้เป็นสาขาของคำว่า “สาขา” ก็คงไม่ผิดกระมัง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เมื่อใดหัวใจท้อแท้ที่จะทำความดี
: เมื่อนั้นความชั่วก็ได้พื้นที่ขยายสาขา
—————–
บรรยายภาพ :
ภาพที่ 1 แสดงให้เห็น “ขนฺธ” (ลำต้น) ส่วน “มูล” (ราก) อยู่ใต้ดิน
ภาพที่ 2 แสดงให้เห็น “ขนฺธ” และ “สาขา”
ภาพที่ 3 และ 4 แสดงให้เห็น “สาขานุสาขา” (กิ่ง – ก้าน)
ภาพที่ 5 และ 6 จะมองให้เป็น “สาขานุสาขา” ก็ได้ หรือจะมองให้เป็น “อคฺค” (ยอด) ก็คงได้ด้วย
ภาพที่ 3 – 6 ได้จากโพสต์ของ Pim Anong
ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
#บาลีวันละคำ (2,560)
16-6-62