บาลีวันละคำ

คุณของครูจากคำไหว้ครู (บาลีวันละคำ 2,559)

คุณของครูจากคำไหว้ครู

…………..

คำไหว้ครูที่นักเรียนกล่าวในพิธีไหว้ครูขึ้นต้นเป็นภาษาบาลี ลงท้ายก็เป็นภาษาบาลี ข้อความเต็มๆ เมื่ออ่านติดต่อกันจะเป็นดังนี้ –

ปาเจราจริยา โหนฺติ (ปา เจ รา จะ ริ ยา โหน ติ)

คุณุตฺตรานุสาสกา (คุ นุด ตะ รา นุ สา สะ กา)

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต (ปัน ยา วุด ทิ กะ เร เต เต)

ทินฺโนวาเท นมามิหํ. (ทิน โน วา เท นะ มา มิ หัง)

คำไหว้ครูภาษาบาลีนี้ มีคำที่ควรทราบเป็นความรู้ดังนี้ –

ปาเจราจริยา” แปลว่า “ปาจารย์และอาจารย์” หมายถึง ครูบาอาจารย์ในอดีตและในปัจจุบัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ขำดี คือแปลว่า “teacher & teacher’s teacher”

และมีคำที่แสดงพระคุณของครูดังนี้ –

(๑) “คุณุตฺตรา” (คุ-นุด-ตะ-รา) อาจเขียนแบบไทยว่า “คุโณดร” (คุโน-ดอน) แปลว่า “ผู้ยิ่งด้วยคุณ” หมายถึง ครูเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณ คือ ความรู้ ความสามารถ และความดี

ความยิ่งใหญ่ของครูไม่ได้วัดกันด้วยตำแหน่งฐานะ ยศศักดิ์อัครฐาน หรือแม้กระทั่งความรวยสวยหล่อ ครูตำแหน่งเตี้ยๆ จนๆ ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่มีความรู้ ความสามารถ และความดี ก็เป็น “ผู้ยิ่งด้วยคุณ” ได้

(๒) “อนุสาสกา” (อะ-นุ-สา-สะ-กา) อาจเขียนแบบไทยว่า “อนุสาสก” (อะ-นุ-สา-สก) แปลตามสำนวนเก่าว่า “ผู้พร่ำสอน” ขยายความตามสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำว่า –

(1) “ผู้สอนเนืองๆ” คือสอนตลอดเวลา ไม่ใช่สอนครั้งเดียวแล้วเลิก แต่สอนแล้วสอนเล่า ไม่เบื่อหน่ายที่จะสอน

(2) “ผู้สอนละเอียด” คือไม่ใช่สอนเพียงให้รู้คร่าวๆ แต่สอนให้รู้ลึก รู้กว้าง รู้จริงทำได้จริง

(3) “ผู้ตามสอน” คือไม่ได้สอนเฉพาะในห้องเรียน แต่ตามไปสอนทุกที่ เรียกว่าตามจนถึงบ้าน เจอศิษย์ที่ไหนเป็นต้องหาโอกาสสอนเสมอ และสอนทุกเรื่องที่ควรสอน ครูสมัยก่อนรับผิดชอบชีวิตของศิษย์จนถึงที่สุด

ค่านิยมนี้ บัดนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ครูกับศิษย์สมัยนี้รับผิดชอบกันแค่ในห้องเรียนและเฉพาะเรื่องวิชาการเท่านั้น พ้นจากห้องเรียนแล้วตัวใครตัวมัน ชีวิตข้าครูอย่าแตะ

(๓) “ปญฺญาวุฑฺฒิกเร” (ปัน-ยา-วุด-ทิ-กะ-เร) อาจเขียนแบบไทยว่า “ปัญญาวุฒิกร” (ปัน-ยา-วุด-ทิ-กอน) แปลว่า “ผู้ทำให้เจริญด้วยปัญญา” “ปัญญา” ในที่นี้หมายทั้งวิชาความรู้ทั่วไปและความรู้จักผิดชอบชั่วดี มีเหตุผล รู้การควรไม่ควร

ศิษย์ยังไม่มีปัญญาสอนให้มีปัญญา มีปัญญาแล้วสอนให้มีพร้อมสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

(๔) “ทินฺโนวาเท” (ทิน-โน-วา-เท) อาจเขียนแบบไทยว่า “ทินโนวาท” (ทิน-โน-วาด) แปลว่า “ผู้ให้โอวาท” กล่าวคือ ครูเป็นผู้มีความรู้ มีคำสั่งสอนแนะนำที่ดี ก็ให้ความรู้ให้คำแนะนำนั้นแก่ศิษย์ อย่างที่ตำราบอกว่า สอนวิทยาการให้สิ้นเชิงไม่ปิดบังอำพราง หรือพูดตามคำเก่าว่า “ไม่หวงวิชา

ถอด “คุณของครูจากคำไหว้ครู” เป็นคำคล้องจองสั้นๆ ว่า –

– ยิ่งใหญ่ด้วยคุณบวร

– สั่งสอนตลอดกาล

– สืบสานให้เจริญปัญญา

– ถ่ายทอดวิชาไม่อำพราง

ข้อคิด :

การไหว้ครูที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนทุกวันนี้ น่าจะเกิดจากนักเรียนไม่รู้คุณของครู และครูก็ไม่รู้และไม่เข้าใจถึงคุณสมบัติของครูเอง

คำว่า “ไหว้ครู” ควรหมายถึงไหว้คุณสมบัติหรือพระคุณของครู ถ้าไม่รู้หรือมองไม่เห็น การไหว้ครูก็เลื่อนลอย

ความดีของครูอยู่ที่รู้และมีคุณสมบัติที่น่าไหว้

ความดีของศิษย์อยู่ที่เคารพนับถือหรือ “ไหว้ครู”-ไม่ว่าครูจะมีหรือไม่มีคุณสมบัติก็ตาม

สมมุติว่า ครูไม่มีคุณสมบัติที่น่าไหว้ นั่นก็เป็นความบกพร่อง นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจอยู่แล้ว

ถ้าศิษย์อ้างว่า-เพราะครูไม่น่าไหว้จึงไม่ไหว้ครู ก็ต้องนับว่าเป็นความบกพร่องของศิษย์ คราวนี้เลยกลายเป็นบกพร่องทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องที่น่าเสียใจซ้ำเข้าไปอีก

เราจะมาช่วยกันทำเรื่องที่น่าเสียใจทำไม?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รู้คุณของครู

: ก็ยากที่จะรู้คุณของใคร

#บาลีวันละคำ (2,559)

15-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย