บาลีวันละคำ

อาชญาวิทยา (บาลีวันละคำ 2,667)

อาชญาวิทยา

รู้ชั่วที่ไม่เสื่อม

อ่านว่า อาด-ยา-วิด-ทะ-ยา ก็ได้

อ่านว่า อาด-ชะ-ยา-วิด-ทะ-ยา ก็ได้

(ตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า อาชญา + วิทยา

(๑) “อาชญา

บาลีเป็น “อาณา” (อา-นา) รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาญา อาณา และ อาชญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

(1) อาญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา).

(2) อาณา : (คำนาม) อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).

(3) อาชญา : (คำนาม) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา)

(๒) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”

อาชญา + วิทยา = อาชญาวิทยา แปลว่า “ความรู้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม” หรือ “ความรู้เกี่ยวกับการโจรผู้ร้าย” หรือ “ความรู้เกี่ยวกับการกระทำความผิด

หรือจะแปลเป็นคำคะนองว่า “ความรู้เรื่องชั่วๆ” ก็น่าจะเข้าใจง่ายดี

คำว่า “อาชญาวิทยา” เป็นศัพท์บัญญัติ หนังสือศัพท์บัญญัติฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกว่าบัญญัติจากคำอังกฤษว่า criminology

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล criminology เป็นบาลีว่า –

aparādhaparikkhā อปราธปริกฺขา (อะ-ปะ-รา-ทะ-ปะ-ริก-ขา) = การตรวจสอบการกระทำความผิด

หมายเหตุ: คำว่า “ปริกฺขา” ในภาษาบาลีหมายถึง การตรวจสอบ, การสอบสวน, ความรอบคอบ, ความสุขุม (examination, investigation, circumspection, prudence)

คำว่า “อาชญาวิทยา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

ในพุทธศาสนสุภาษิตที่มักอ้างกัน มีอยู่บทหนึ่งว่า “ทุวิชาโน ปราภโว” (ทุวิชาโน ปะราภะโว) แปลกันว่า “ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม

ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง เคยอภิปรายไว้ว่า พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้มีพิรุธ ท่านขยายความว่า คนที่มีความรู้ทางอาชญาวิทยาคือรู้เรื่องการทำชั่วของผู้ร้าย ก็คือรู้เรื่องชั่วๆ คนชนิดนี้เป็นที่ต้องการในวงราชการ-โดยเฉพาะวงการตำรวจ เพราะสามารถอำนวยการปราบปรามและป้องกันการกระทำความผิดของผู้ร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากรู้ทันความคิดและการกระทำของผู้ร้าย

คนที่ “รู้ชั่ว” ชนิดนี้รับราชการเจริญก้าวหน้ามีอยู่ทั่วไป จะว่า “ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม” ได้อย่างไร

ประเด็นของท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง อยู่ตรงที่ว่า ถ้าพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ว่าอย่างนั้น ก็จะมีข้อแย้งได้อย่างนี้ เพราะฉะนี้ท่านจึงว่า พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้มีพิรุธ

ท่านแสดงความเห็นว่า พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ข้อความเต็มๆ ควรเป็นดังนี้ –

สุวิชาโน  ภวํ  โหติ

สุวิชาโน  ปราภโว (ไม่ใช่ ทุวิชาโน …)

ธมฺมกาโม  ภวํ  โหติ

ธมฺมเทสฺสี  ปราภโว.

ตรวจสอบเทียบเคียง: ปราภวสูตร สุตตนิบาต ขุทกนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 304

แปลว่า –

คนเจริญ รู้ได้ง่าย

คนเสื่อม ก็รู้ได้ง่าย

ผู้ชอบธรรม เป็นผู้เจริญ

ผู้ชังธรรม เป็นผู้เสื่อม

(รู้ได้ง่ายอย่างนี้)

โปรดช่วยกันศึกษาคำ แล้วช่วยกันขบธรรมให้แตกฉานด้วยเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ชั่วไม่ว่า

: แต่อย่าประพฤติชั่ว

#บาลีวันละคำ (2,667)

1-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย