คนธรรพ์ – คันธัพพะ (บาลีวันละคำ 2,564)
คนธรรพ์ – คันธัพพะ
“คนธรรพ์” อ่านว่า คนทัน
“คันธัพพะ” อ่านว่า คัน-ทับ-พะ
“คันธัพพะ” เป็นรูปคำเดิมของ “คนธรรพ์” ในภาษาบาลี ในที่นี้เขียนแบบคำไทย ถ้าเขียนแบบบาลีจะเป็น “คนฺธพฺพ” อ่านว่า คัน-ทับ-พะ รากศัพท์มาจาก –
(๑) คนฺธ (กลิ่น) + อพฺพฺ (ธาตุ = บริโภค) + อ ปัจจัย
: คนฺธ + อพฺพฺ = คนฺธพฺพฺ + อ = คนฺธพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้บริโภคกลิ่น”
(๒) ค (แทนศัพท์ว่า “โค” = สวรรค์) + ธุ (ธาตุ = เคลื่อนไหว) + ย ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นศัพท์แล้วแปลงเป็น นฺ (ค > คํ > คนฺ), แผลง อุ ที่ ธุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ธุ > โธ > ธวฺ), แปลง วฺย (คือ วฺ ที่ ธวฺ กับ ย ปัจจัย) เป็น พฺพ
: ค + ธุ = คธุ > คํธุ > คนฺธุ > คนฺโธ > คนฺธว + ย = คนฺธวย > คนฺธพฺพ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้เคลื่อนไหวอยู่บนสวรรค์ด้วยการขับร้องและฟ้อนรำ”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “คนฺธพฺพ” ว่า คนธรรพ์, เทพนักร้อง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คนฺธพฺพ” ว่า a Gandharva or heavenly musician, as a class belonging to the demigods who inhabit the Cātummahārājika realm (คนธรรพ์หรือนักดนตรีในเมืองสวรรค์, เป็นจำพวกหนึ่งของครึ่งคนครึ่งเทวดา ผู้อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คนธรรพ-, คนธรรพ์ : (คำนาม) ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวธตรฐ มีความชํานาญในวิชาดนตรีและขับร้อง. (ส. คนฺธรฺว; ป. คนฺธพฺพ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “คนธรรพ์” สันสกฤตเป็น “คนฺธรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “คนฺธรฺวฺว” และ “คนฺธรฺว” ไว้ด้วยกัน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“คนฺธรฺวฺว, คนฺธรฺว : (คำนาม) ‘คนธรรพ,’ ทิพยคายก; ม้า; กวางอย่างหนึ่ง; อาตมันหรือวิญญาณ, จิตต์; คายก, นักขับร้อง; กาลโกกิล, ดุเหว่าดำ; แดด, อาทิตย์; มุนิ, ปราชญ์, ผู้เลื่อมใส; a Gandharva or celestial musician; horse; a kind of deer; the soul, the spirit; a singer; a black cuckoo; the sun; a sage, a holy or pious man, a saint.”
อภิปราย :
ในภาษาไทย เราคุ้นกับ “คนธรรพ์” ในความหมายเดียว คือที่หมายถึงชาวสวรรค์พวกหนึ่ง มีความชํานาญในวิชาดนตรีและขับร้อง เคยเห็นคำบรรยายสภาพป่าหิมพานต์ นับ “คนธรรพ์” เข้าในพวกชีวิตชาวหิมพานต์ด้วย เช่นบอกว่า-มีนักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ กินนรีกินนร สัญจรอยู่ในแดนหิมพานต์ …
คำว่า “คนธรรพ์” หรือ “คันธัพพะ” ยังหมายถึงวิญญาณที่มาปฏิสนธิในครรภ์เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 3 ที่ทำให้สตรีตั้งครรภ์ ดังพุทธพจน์ในมหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 452 ว่า กระบวนการกำเนิดมนุษย์มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ –
(๑) มาตาปิตโร สนฺนิปติตา โหนฺติ. = มารดาบิดาร่วมเสพสังวาสกัน
(๒) มาตา อุตุนี โหติ. = มารดามีระดู (คือมีไข่สุกในระยะพร้อมที่จะผสม)
(๓) คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ. = มีคันธัพพะเข้ามาปรากฏเฉพาะหน้า
คำว่า “คนฺธพฺโพ” ในที่นี้ อรรถกถาไขความว่า “ตตฺรูปคสตฺโต” (ตัด-ตฺรู-ปะ-คะ-สัด-โต, แยกศัพท์เป็น ตตฺร + อุปค + สตฺต) แปลว่า “สิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่ในที่นั้น”
คำอธิบายในบอกว่า ในแง่รูปศัพท์ คำว่า “คนฺธพฺพ” ก็คือ “คนฺตพฺพ” (-ตพฺพ ต เต่า แปลง ต เป็น ธ) ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่จะต้องไป”
คัมภีร์ขยายความว่า “คันธัพพะ” ที่ว่านี้มิใช่ว่าเที่ยวเร่ร่อนดูว่าชายหญิงคู่ใดเสพสังวาสกันที่ไหนบ้าง พอได้จังหวะก็เข้าไปร่วมประสม อย่างที่เราพูดกันว่าวิญญาณเที่ยวเร่ร่อนหาที่เกิด มิใช่เช่นนั้นเลย
ท่านว่า “คันธัพพะ” ก็คงอยู่ในภพภูมิของตนนั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาที่กรรมนำให้เกิดจะให้ผล กรรมนั้นก็ทำหน้าที่บังคับให้ “คันธัพพะ” เป็น “ผู้ที่จะต้องไป” คือต้องไปผสมเป็นองค์ประกอบให้มีการตั้งครรภ์ นี่คือความหมายของ “คันธัพพะ” หรือ “คนธรรพ์” ที่เราส่วนมากไม่เคยทราบ
สรุปว่า “คันธัพพะ” หรือ “คนธรรพ์” มีความหมาย ๒ อย่าง คือ –
(๑) ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง มีความชํานาญในวิชาดนตรีและขับร้อง
(๑) ปฏิสนธิวิญญาณอันเป็นองค์ประกอบของการตั้งครรภ์
…………..
ดูคำที่เกี่ยวข้อง : “กำเนิดมนุษย์” บาลีวันละคำ (2,561) 17-6-62
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนธรรพ์ไม่ใช่คน
เป็นเทวดาเบื้องบนจุติลงมา
: คนทำดีเป็นคนธรรมดา
ถึงเวลาไปเป็นเทวดาเบื้องบน
#บาลีวันละคำ (2,564)
20-6-62