รมณียภูมิภาค (บาลีวันละคำ 2,563)
รมณียภูมิภาค
รากเหง้าของวัดในพระพุทธศาสนา
อ่านว่า รม-มะ-นี-ยะ-พู-มิ-พาก
“รมณียภูมิภาค” เป็นคำที่ผูกขึ้นจากคำบาลี 2 คำ ในข้อความว่า –
รมณีโย วต ภูมิภาโค ปาสาทิโก จ วนสณฺโฑ นที จ สนฺทติ เสตกา สุปติตฺถา รมณียา สมนฺตา จ โคจรคาโม อลํ วติทํ กุลปุตฺตสฺส ปธานตฺถิกสฺส ปธานาย.
ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์แท้ มีราวป่าเป็นที่เพลินใจ มีแม่น้ำไหลเอื่อย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ เป็นที่สมควรเริ่มบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการจะบำเพ็ญเพียร
ที่มา: ปาสราสิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 319
…………..
“รมณียภูมิภาค” ประกอบด้วยคำว่า รมณีย + ภูมิภาค
(๑) “รมณีย”
บาลีอ่านว่า ระ-มะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ + อีย ปัจจัย
: รมฺ + ยุ > อน = รมน > รมณ + อีย = รมณีย” แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี” “อันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นรมย์” หมายถึง น่ายินดี, น่าพอใจ, น่ารื่นรมย์, น่าพึงใจ, สวยงาม (delightful, pleasing, charming, pleasant, beautiful)
“รมณีย” ในภาษาไทยใช้เป็น “รมณีย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “รมณีย์” (รม-มะ-นี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รมณีย-, รมณีย์ : (คำวิเศษณ์) น่าบันเทิงใจ, น่าสนุก, พึงใจ, งาม. (ป., ส.).”
(๒) “ภูมิภาค”
บาลีอ่านว่า พู-มิ-พา-คะ ประกอบด้วยคำว่า ภูมิ + ภาค
(ก) “ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย
: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก”
“ภูมิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน (ground, soil, earth)
(2) สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค (place, quarter, district, region)
(3) พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, plane, stage, level)
(4) สถานะของความรู้สึกตัว (state of consciousness)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ภูมิ” ไว้ 3 คำ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ภูมิ ๑, ภูมิ– (อ่านว่า พูม, พู-มิ-, พูม-มิ-) : (คำนาม) แผ่นดิน, ที่ดิน.
(2) ภูมิ ๒ (อ่านว่า พูม) : (คำนาม) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ เช่น อวดภูมิ อมภูมิ.
(3) ภูมิ ๓ (อ่านว่า พูม) : (คำวิเศษณ์) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย, เช่น วางภูมิ.
(ข) “ภาค” บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วนของพื้นที่” ตามข้อ (3)
ภูมิ + ภาค = ภูมิภาค แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนแห่งแผ่นดิน” หมาย ส่วนแห่งแผ่นดิน, แคว้น (division of the earth, district)
“ภูมิภาค” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภูมิภาค : (คำนาม) หัวเมือง; (ภูมิ) อาณาบริเวณที่มีลักษณะบางอย่างเช่นลักษณะทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ทางการเมือง คล้ายคลึงกันจนสามารถจัดเข้าพวกกันได้ และแตกต่างกับบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ.”
ในที่นี้ “ภูมิภาค” หมายถึงพื้นที่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
รมณีย + ภูมิภาค = รมณียภูมิภาค แปลว่า “พื้นที่อันน่ารื่นรมย์” หรือ “ถิ่นที่รมณีย์”
ขยายความ :
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า –
…………..
ที่รมณีย์นี้สำคัญนัก ท่านถึงกับบอกไว้ว่า คุณสมบัติของถิ่นที่รมณีย์มี ๔ อย่าง
หนึ่ง ฉายูทกสมบัติ พร้อมด้วยร่มไม้ และสายน้ำ ร่มไม้ก็คือ ต้นไม้ หมู่ไม้ ไพรสณฑ์ สายน้ำ ก็คือ แม่น้ำ คลอง สระ บึง ทะเลสาบ
สอง ภูมิภาคสมบัติ คือพื้นดิน พื้นถนน บริเวณ เรียบร้อย สะอาด อย่างที่พระมีประเพณีกวาดลานวัด เป็นพื้นถิ่นที่น่าชื่นชม ชวนเดินชวนดู น่าทัศนา
สาม คมนาคมนสมบัติ เหมาะแก่การไปมา การคมนาคมไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป เดินทางสะดวก ปลอดภัย
สี่ บุคคลสมบัติ มีความเหมาะความพร้อมด้านบุคคล อย่างน้อยไม่มีบุคคลที่เป็นภัยเป็นอันตราย แต่มีบุคคลที่สบายใจ ที่เกื้อกูลหนุนกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือ ชื่นชูจิตใจ เอื้อธรรม เอื้อปัญญา
รมณีย์เป็นศัพท์สำคัญมาก แต่เราทำไมลืมไป วัดต้องเป็นตัวอย่างของถิ่นรมณีย์ มีน้ำอุดม มีร่มไม้งาม แล้วก็มีพื้นถิ่นบริเวณที่สะอาด เรียบร้อย ชวนใจให้สดชื่น แจ่มใส โน้มใจสู่ความสงบ ความเบิกบานชื่นใจ พาให้เกิดปีติปราโมทย์ได้ง่าย
ที่มา: หนังสือ ตอบ เรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 30-31
…………..
กล่าวได้โดยไม่ผิดว่า ปัจจุบันนี้วัดในเมืองไทยแทบทั้งหมด-โดยเฉพาะวัดในตัวเมือง-ขาดความเป็น “รมณียภูมิภาค” โดยสิ้นเชิง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำวัดให้เป็นป่า พระศาสนายืนนาน
: ทำวัดให้เป็นบ้าน พระศาสนายืนตาย
#บาลีวันละคำ (2,563)
19-6-62