บาลีวันละคำ

อุตุนี มีระดู (บาลีวันละคำ 2,565)

อุตุนี มีระดู

หนึ่งในองค์ประกอบของการเกิด

อุตุนี” อ่านตรงตัวว่า อุ-ตุ-นี

“มีระดู” เป็นคำแปล

อุตุนี” รากศัพท์มาจาก อุตุ + อินี ปัจจัย

(๑) “อุตุ

รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อุ

: อิ + ตุ = อิตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ

(2) อร (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อร เป็น อุ

: อรฺ + ตุ = อรตุ > อุตุ แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น

ความหมายนี้ “อุตุ” หมายถึง ฤดูกาล, เวลา, อากาศ, อุณหภูมิ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุตุ” ในความหมายนี้ว่า good or proper time, season (เวลาที่ดีหรือเหมาะเจาะ, ฤดูกาล)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อุตุ ๑ : (คำนาม) ฤดู. (ป.; ส. ฤตุ).

(2) อุตุ ๒ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) สบาย (ใช้แก่กริยานอน) เช่น นอนหลับอุตุ.

นอกจากนี้ “อุตุ” ในบาลียังแปลว่า “โลหิตที่เป็นไปประจำ” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ระดู, เลือดประจำเดือน (the menses)

อุตุ” ในความหมายนี้ ภาษาไทยใช้ว่า “ระดู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ระดู : (คำนาม) เลือดประจําเดือนที่ถูกขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด.”

บาลี “อุตุ” สันสกฤตเป็น “ฤตุ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฤดู” (รึ-ดู) ด้วย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ฤตุ : (คำนาม) ฤดู, เทศกาล; ฤดู, โลหิตประจำเดือนของสตรี; เดือน; แสง; a season; the menses; a month; light.”

ดูเพิ่มเติม: “อุตุ-ฤดู-ระดู” บาลีวันละคำ (683) 31-3-57

ในที่นี้ “อุตุ” ใช้ในความหมายว่า ระดู, เลือดประจำเดือน (the menses)

(๒) อุตุ + อินี ปัจจัย, ลบ อิ ที่ อินี (อินี > นี)

: อุตุ + อินี = อุตุอินี > อุตุนี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีระดู” (คือมีเลือดประจำเดือน) หมายถึง สตรีที่กำลังมีระดู (a menstruating woman)

ขยายความ :

อุตุนี” เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 3 ที่ทำให้สตรีตั้งครรภ์ ดังพุทธพจน์ในมหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 452 ว่า กระบวนการกำเนิดมนุษย์มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ –

(๑) มาตาปิตโร  สนฺนิปติตา  โหนฺติ. = มารดาบิดาร่วมเสพสังวาสกัน

(๒) มาตา  อุตุนี  โหติ. = มารดามีระดู (คือมีไข่สุกในระยะพร้อมที่จะผสม)

(๓) คนฺธพฺโพ  ปจฺจุปฏฺฐิโต  โหติ. = มีคันธัพพะ (คือปฏิสนธิวิญญาณ) เข้ามาปรากฏเฉพาะหน้า

ข้อสังเกต :

๑ คำว่า “ระดู” น่าจะเป็นคำอ่านของ “ฤดู” นั่นเอง คือเอาคำอ่านมาใช้เป็นคำจริง เปรียบเทียบเช่น คำว่า “ธนาคาร” เขียนเป็นคำอ่านว่า “ทะนาคาน” แต่คำที่ใช้จริงคือ “ธนาคาร” ไม่ใช่ “ทะนาคาน” (“ฤดู” อ่านว่า ระ-ดู แล้วใช้ “ระดู” เป็นคำจริง แทนที่จะใช้ว่า “ฤดู” ตามศัพท์เดิม)

๒ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะผู้รู้เห็นว่า “เลือดประจําเดือน” ถ้าเขียนว่า “ฤดู” ก็จะไปพ้องกับ “ฤดู” ที่หมายถึงฤดูกาล เพื่อมิให้สับสนจึงเลี่ยงไปเขียนว่า “ระดู” (ยังไม่พบว่ามีคำในภาษาอื่นที่ออกเสียงใกล้เคียงกับ ระ-ดู และหมายถึงเลือดประจําเดือน)

๓ เวลาที่สตรีมีเลือดประจําเดือน คำเก่าของไทยเรียกว่า “ถึงผ้า” (คนรุ่นเก่ายังใช้คำนี้อยู่) ที่ไม่เก่านักก็พูดว่า “มีระดู” แต่สมัยนี้ได้ยินพูดกันว่า “มีเม็น” หรือ “เม็นมา” คือเอาคำ the menses ในภาษาอังกฤษมาใช้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาในแต่ละยุคสมัย

๔ คำที่หมายถึง “สตรีที่กำลังมีระดู” ในภาษาบาลี นอกจาก “อุตุนี” แล้วยังมีอีกคำหนึ่ง คือ “ปุปฺผวตี” (ปุบ-ผะ-วะ-ตี) ถ้าสะกดแบบคำไทยก็เป็น “บุปผวดี” (บุบ-ผะ-วะ-ดี) หรือจะเขียนเป็น “บุปผาวดี” (บุบ-ผา-วะ-ดี) ก็ยังได้

คำนี้หน้าตาดีมาก ดูแต่หน้าตาก็เหมาะที่จะเอาไปตั้งชื่อสตรี แปลเท่าที่ตาเห็นก็แปลว่า “ผู้มีดอกไม้” พูดเลียนแบบคำเก่าก็พูดได้ว่า “รูปก็งาม ความก็เพราะ

แต่ผู้รู้ภาษาบาลีจะบอกได้ว่า “บุปผวดี” หรือ “บุปผาวดี” ในภาษาบาลีหมายถึง “สตรีที่กำลังมีระดู” ดังนั้น ใครจะใช้ชื่อนี้โปรดระลึกถึงความหมายไว้ด้วยเทอญ

สรุปว่า “อุตุนี” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เป็นกระบวนการทำให้มนุษย์ถือกำเนิด มองเท่าที่ตาเห็นก็เป็นการเริ่มสังสารวัฏคือการเวียนตายเวียนเกิดที่ไม่มีวันจบสิ้น

…………..

ดูคำที่เกี่ยวข้อง : “กำเนิดมนุษย์” บาลีวันละคำ (2,561) 17-6-62

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ต้องหลั่งน้ำตากันอีกกี่ร้อยชาติ

: จึงจะเข็ดขยาดกับการเวียนเกิดเวียนตาย

#บาลีวันละคำ (2,565)

21-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย