รำพึงรำพันเกี่ยวกับวันเกิด (๓) 
——————————-
(ภาพประกอบตอนนี้ ผมอธิบายไว้ตอนท้ายของเรื่องนะครับ)
………………….
ผมเกิด พ.ศ. ๒๔๘๘ ปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๒ ผมอายุ ๗๕ เต็ม
อายุ ๗๕ นั้นถ้าคิดตามเกณฑ์อายุขัยของมนุษย์สมัยนี้ก็ต้องถือว่าสิ้นอายุแล้ว
“อายุขัย” แปลว่า “สิ้นอายุ”
อายุขัยของมนุษย์แต่ละยุคสมัยแตกต่างกัน บางยุคมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี (แปดหมื่นปี) นี่ว่าตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ยุคนี้ท่านว่าอายุขัยของมนุษย์คือ ๑๐๐ ปี
วิธีคิดอายุขัยก็คือ ท่านให้นับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็นเพดานอายุขัย คือมนุษย์อายุ ๑๐๐ ปี
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานครบ ๑๐๐ ปี ให้ลดเพดานลง ๑ ปี
๑๐๐ ปี ลดลง ๑ ปี – ใช้เกณฑ์นี้ไปเรื่อยๆ
บัดนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาแล้ว ๒๕๐๐ ปี – คิดตัวเลขกลมๆ
เพดานอายุขัย-จาก ๑๐๐ ปีจึงลดลงไป ๒๕ ปี นั่นก็คือเหลืออายุขัยเพียง ๗๕ ปี
นี่คือที่ผมบอกว่า-อายุ ๗๕ นั้นถ้าคิดตามเกณฑ์อายุขัยของมนุษย์สมัยนี้ก็ต้องถือว่าสิ้นอายุแล้ว
สรุปว่า ตามเกณฑ์อายุขัย ผมสมควรตายได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาต่อจากนี้ ถ้าใครได้ยินข่าวว่า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ตาย ก็ขออย่าได้แปลกใจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นการตายตามอายุขัย เป็นเรื่องปกติ
ถ้าพูดให้ครึกครื้นก็พูดได้ว่า-สมควรตาย
ผมจึงขอเชิญญาติมิตรทั้งปวงเป็นการล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้-ให้ไปร่วมงานศพของผมโดยทั่วกัน
และขออภัยที่ไม่ได้ไปเชิญด้วยตนเอง
—————-
แม้จะรู้ว่าบัดนี้อายุขัยคนมีแค่ ๗๕ แต่ผมก็ตั้งความประสงค์ไว้ว่าจะอยู่ไปจนถึงอายุ ๘๐ เหตุผลสำคัญก็คือ-เท่ากับอายุพ่อผม (พ่อผมตายอายุ ๘๐)
กับอีกประการหนึ่ง ประสงค์จะอยู่ทำประโยชน์ให้แก่โลกตามเส้นทางที่ผมศึกษาเล่าเรียนมา นั่นคือศึกษาและเผยแผ่พระธรรมวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่าที่จะพอมีสติปัญญาทำได้
คำว่า “ศึกษา” ในพระพุทธศาสนานั้นย่อมหมายถึงปฏิบัติพัฒนาตนเองไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้
ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำอะไรๆ กับพระคัมภีร์หลายๆ อย่าง
ลงมือทำไปแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำบ้าง
ระยะหลังๆ มานี้ เมื่อมีสังคมออนไลน์เกิดขึ้น ผมได้รับสิ่งที่ผมเรียกเองว่า “การบ้าน” เข้ามาเป็นอันมาก ในระดับที่ผมเรียกเอาเองอีกเช่นกันว่า “การบ้านท่วมหัว” ทำให้ต้องใช้เวลาไปกับการศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบการบ้านจนแทบจะกลายเป็นงานหลักในชีวิตประจำวัน
การบ้านหลายๆ เรื่องผมตอบออกมาในรูปของ “บาลีวันละคำ” ซึ่งเป็นงานที่กลายเป็นภารกิจประจำวันของผมไปแล้วโดยที่ไม่เคยได้ตั้งใจมาก่อน
ผมเคยเล็งๆ ไว้ว่า เกษียณอายุราชการแล้ว มีชีวิตต่อไปอีก ๒๐ ปี เพื่อทำงานใช้หนี้พระศาสนา ก็คงพอจะปลดเปลื้องหนี้ไปได้บ้างนิดหน่อย
แต่เวลานี้ เอางานที่คิดจะทำเพื่อพระศาสนามาคลี่ดูตรงหน้า รวมกับการบ้านที่รับเข้ามา ผมว่าอยู่ไปจนอายุ ๑๒๐ ปีเท่าพระอานนท์ก็ยังทำงานไม่เสร็จ
ผมโชคดีอยู่บ้างที่สุขภาพร่างกายไม่สร้างปัญหา ผมไม่ต้องกินยา ไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องแก้ปัญหาตรงนั้นตรงนี้เหมือนคนทั่วไปในวัยเดียวกัน
ผมใช้วิธีดูแลสุขภาพตามธรรมชาติ คือตรวจสุขภาพตัวเองด้วยระบบธรรมชาติ ตื่นเช้าขึ้นมาก็สำรวจความปกติของร่างกายด้วยตัวเอง บริหารร่างกายด้วยวิธีเดินออกกำลัง-ทำความรู้สึกเหมือนพระออกบิณฑบาตทุกเช้า
กินแต่พอประมาณ ทำงานสนุก พักผ่อนพอดีๆ
ผมค้นพบความจริงเฉพาะตัวผมเองว่า การทำงานคือการพักผ่อนที่วิเศษที่สุด ผมจึงไม่เคยมีโปรแกรมที่จะต้องหยุดงานเพื่อไปพักผ่อนแบบที่คนทั่วไปนิยมทำกัน
เพราะ-การทำงานคือการพักผ่อนที่วิเศษที่สุดอยู่แล้วในตัว
กับอีกประการหนึ่ง ผมได้พบขุมทรัพย์อันประเสริฐจากพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๙ ในช่วงเวลาที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทตอนที่ยังรับราชการอยู่
มีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งที่ผมศึกษาแล้วกลั่นออกมาใช้เป็นยาบำรุงชีวิตของตัวเอง นั่นคือ –
“ความสำเร็จของงานคือรางวัลอยู่แล้วในตัว”
เมื่อผมทำงาน (ที่กองท่วมหัวอยู่ดังที่ว่ามาข้างต้น) สำเร็จไปเรื่องหนึ่ง ผมก็ได้รางวัลทันที ไม่ต้องไปรอให้ใครให้รางวัลอะไรอีก เพราะ-“ความสำเร็จของงานคือรางวัลอยู่แล้วในตัว”
ชีวิตผมจึงได้รับรางวัลทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จ วันละหลายๆ รางวัล
ผมก็จึงได้รับยาบำรุงชีวิตอยู่ทุกวัน
นี่เป็นเคล็ดลับประจำชีวิตของผม บอกกันได้ แต่ใครจะทำได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ช่วยกันไม่ได้
—————-
เนื่องจากผมเดินออกกำลังทุกเช้าเป็นกิจประจำวัน ดังนั้น นอกจากทำประโยชน์ให้แก่โลกด้วยการทำงานใช้หนี้พระศาสนาเป็นกิจประจำชีวิตแล้ว บางวันผมก็ได้ทำเรื่องที่ถือว่าเป็นสีสันของชีวิตเล็กๆ น้อยๆ อยู่เนืองๆ
งานที่เป็นสีสันของชีวิต-ตามที่ผมเรียกเอาเองนี้ มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ๑ งานที่วิ่งมาชนเรา เช่น เตือนรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับสวนมาที่ลืมเอาขาตั้งขึ้น และบอกทางให้แก่รถที่หลงทางเป็นต้น-ดังที่ผมเคยนำมาเล่าสู่กันฟังบ้างแล้ว และ ๒ งานที่เราเดินไปชนมัน ดังที่ผมจะขอเล่าเป็นตัวอย่างในที่นี้
ในเดือนเกิดของผม-คือเดือนมิถุนายน-ปีนี้ ผมมีโอกาสเดินไปชนงานอันเป็นการเติมสีสันเล็กๆ ให้ชีวิตในช่วงเวลาเดินออกกำลัง อย่างน้อยก็ ๒ ครั้ง ที่ผมเผอิญมือไวอยากถ่ายรูปไว้ดูเล่นด้วย (ที่ทำแล้วทำเลย ไม่มีหลักฐาน ยังมีอีกบ่อยๆ)
โปรดดูภาพประกอบ
๔ ภาพข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ (วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒) ก่อนวันเกิดทางจันทรคติของผม ๑ วัน
๒ ภาพหลัง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ หลังวันเกิดทางสุริยคติของผม ๑ วัน
ภาพคู่แรก เป็นไม้ที่ติดยึดป้ายโฆษณาข้างทาง ติดไว้กับต้นไม้บนทางเท้า ปลายไม้ยื่นออกมาอยู่ในรัศมีทางเดิน ใครเดินไม่ระวังอาจชนและถูกไม้ทิ่มเอาได้ (ภาพแรก)
ผมเดินผ่านไป ก็จัดการปรับทิศทางของปลายไม้ให้พ้นรัศมีทางเดิน (ภาพหลัง)
ภาพคู่ที่ ๒ เป็นป้ายโฆษณาที่หลุดลงมาพังพาบอยู่กับพื้นทางเท้า กินเนื้อที่กว่าครึ่งของทางเท้า (ภาพแรก)
ผมเดินผ่านไป ก็จัดการยกป้ายขึ้นพิงไว้กับกำแพง และให้อยู่หลังต้นไม้เพื่อที่ว่าถ้าป้ายจะล้มอีก ก็ยังมีต้นไม้ขวางไว้ (ภาพหลัง)
ภาพคู่ที่ ๓ อันนี้เหตุเกิดในซอยบ้านลูกชาย (ซอยวัดหลวงพ่อโต บางพลี) ผมเดินออกกำลังตอนเช้าไปทางถนนเทพรัตน (ถนนบางนา-ตราดเดิม) ไปเจอกิ่งไม้แห้งหล่นลงมาบนทางเท้า (ภาพแรก)
คนอื่นๆ เดินผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
แต่ไม่ใช่ทองย้อย
ผมก็จัดการยกย้ายออกให้พ้นทางเท้า (ภาพหลัง)
กิจเหล่านี้เป็นกิจที่ทำได้ง่ายๆ แต่ไม่มีใครคิดจะทำ
เรื่องตามภาพประกอบที่ผมเอามาลงให้ดูและเอามาเล่าให้ฟังนี้ เป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างยิ่ง แต่ผม-ผู้ทำ-รู้สึกได้ว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ทำ
การกระทำดังที่ผมได้ทำลงไปนี้ ในมุมมองของคนสมัยใหม่-บางมุม อาจคิดไปอีกทางหนึ่ง
ทางที่คนส่วนมากน่าจะคิดก็คือ นั่นมันไม่ใช่หน้าที่ของผม นั่นมันเป็นงานที่ผู้มีหน้าที่ดูแลทางเท้าดูแลถนน-เช่นเทศบาล-จะต้องทำ มันเป็นหน้าที่ของเขา ไม่ใช่หน้าที่ของผม ผมกำลังทำสิ่งที่นอกหน้าที่ ซึ่งก็คือทำผิดหน้าที่
การทำนอกหน้าที่หรือทำผิดหน้าที่ไม่ใช่เรื่องดี เพราะเป็นการทำให้เสียระบบ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะภูมิใจ หรือเอามาชื่นชมยินดี แต่ควรจะตำหนิด้วยซ้ำ
ผมเชื่อว่าคนส่วนหนึ่ง-ซึ่งอาจจะเป็นส่วนมากด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่-จะเห็นด้วยกับเหตุผลแบบนี้
และสมมุติว่า ในการที่ผมไปทำกิจเช่นนี้ ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น เช่นไม้ทิ่มตาผม หรือผมลื่นล้ม หรือเป็นอะไรสักอย่าง แน่นอนที่สุด จะมีคนสมน้ำหน้า
พูดภาษานักเลงปากท่อก็ว่า-รุมกระทืบซ้ำ
นั่นไงล่ะ กูว่าแล้ว
เสือกไม่เข้าเรื่อง
แก่แล้วยังไม่เจียมบอดี้
เสียดายนะ อุตส่าห์แสดงตัวว่าเรียนธรรมะรู้ธรรมะ แต่ไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ
ฯลฯ
แน่นอน ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแต่บั่นทอนกำลังใจ และปิดกั้นไม่ให้ใครคิดจะทำความดี
เวลานี้เรามองกันแบบนี้หมดแล้ว – ไม่ใช่หน้าที่
“ไม่ใช่หน้าที่” เป็นเหตุผลที่ยิ่งใหญ่ เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ สะกดผู้คนไม่ให้คิดจะทำความดี
ข้อแย้งที่มีน้ำหนักมากที่สุดก็คือ สิ่งที่จะทำนั้น – “ไม่ใช่ความดี”
ผมไม่มีความประสงค์ที่จะรับโต้เถียงกับท่านผู้ใด ใครจะเห็นอย่างไรก็เชิญตามสบายเถิด
แต่ผมยืนยันได้ว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก ผมก็จะทำอีก ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความระมัดระวัง
นิยามคำว่า “ความดี” ของเราอาจจะต่างกัน และผมอาจจะอยู่ผิดยุคผิดสมัย
แต่ผมเชื่อด้วยสติปัญญาว่า เนื้อแท้ธาตุแท้ของความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิยามตามยุคสมัย แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครมีสติปัญญาหรือมีสำนึกมากน้อยกว่ากัน
—————-
รำพึงรำพันเกี่ยวกับวันเกิด-ที่ตั้งใจเขียน ๓ ตอน ก็จบลงเพียงนี้
ขอถือโอกาสนี้กราบขอบพระคุณ และขอบคุณเป็นส่วนรวมมายังญาติมิตรทั้งปวงที่มีเมตตาและมีน้ำใจแสดงความปรารถนาดีต่อผมเนื่องในวันเกิดตามนิยมของชาวโลก
…….
สาธุ สาธานุโมทามิ
ทินฺนมคฺคํ วรญฺหิ เม
ยํ ยํ ทินฺนํ สุทินฺนํ โว
ตํ ตํ ปจฺจาคตมฺหิ โว.
…….
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
๐๙:๑๙
…………………………….
…………………………….