บาลีวันละคำ

อัพพุทะ (บาลีวันละคำ 2,570)

อัพพุทะ

วิวัฒนาการขั้นที่ 2 ของทารกในครรภ์

อ่านว่า อับ-พุ-ทะ

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ –

…………..

ปฐมํ กลลํ โหติ

กลลา โหติ อพฺพุทํ 

อพฺพุทา ชายเต เปสิ

เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน 

ฆนา ปสาขา ชายนฺติ

เกสา โลมา นขาปิ จ.

(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ

กะละลา โหติ อัพพุทัง

อัพพุทา ชายะเต เปสิ

เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน

ฆะนา ปะสาขา ชายันติ

เกสา โลมา นะขาปิ จะ.)

ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละก่อน

จากกลละเป็นอัพพุทะ

จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ

จากเปสิเกิดเป็นฆนะ

จากฆนะเกิดเป็นปสาขา

(ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ …

ที่มา: อินทกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 803

…………..

อัพพุทะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อพฺพุท” อ่านว่า อับ-พุ-ทะ ในขณะที่เขียนบาลีวันละคำคำนี้ยังไม่สามารถสืบค้นรากศัพท์ได้

ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก เรื่องพระสุทินน์เสพเมถุนกับภรรยาเก่าถึงกับเทพยเจ้าโจษขานกันอึงคะนึง คำโจษขานตอนหนึ่งความว่า –

สุทินฺเนน  กลนฺทปุตฺเตน  อพฺพุทํ  อุปฺปาทิตํ  อาทีนโว  อุปฺปาทิโต.

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแปลเป็นไทยว่า “พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก เล่าเรื่องสังคายนาครั้งที่ 2 กล่าวถึงเดียรถีย์ปลอมบวชเข้ามาก่อ “อพฺพุท” ขึ้นในพระศาสนา (สมันตปาสาทิกา ภาค 1 หน้า 41-42)

คัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัยปิฎก ไขความไว้ว่า “อพฺพุทนฺติ  อุปทฺทวํ” (สารัตถทีปนี ภาค 1 หน้า 173) คือคำว่า “อพฺพุท” แปลว่า “อุปทฺทว

อุปทฺทว” ก็คือ อุบาทว์จังไรที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย

อพฺพุท” ในคัมภีร์ที่ยกมานี้รูปศัพท์เหมือน “อพฺพุท” ในกำเนิดมนุษย์ แต่ความหมายต่างกัน “อพฺพุท” ในที่นั้นท่านแปลว่า “เสนียด” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคนละความหมายกับ “อพฺพุท” ในที่นี้

อพฺพุท” ในที่นี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า –

etym. unknown, orig. meaning “swelling”, the Sk. form arbuda seems to be a trsl. of P. abbuda. (ไม่มีผู้รู้ถึงนิรุกติ, เดิมทีเดียวหมายถึง “โตขึ้นหรือบวมขึ้น”, รูปสันสกฤต “อรฺพุท” ดูเหมือนเป็นการแปลของ “อพฺพุท” บาลี)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “อพฺพุท” ไว้ดังนี้ –

(1) ลูกอ่อนในท้องในเดือนที่ 1 หรือ 2 หลังจากการตั้งครรภ์, อพฺพุท จัดเป็นขั้นที่ 2 ของขั้นตอนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตก่อนคลอดของทารกซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอนด้วยกัน กล่าวคือ กลล, อพฺพุท, เปสิ, ฆน, ปสาข the foetus in the 1st & 2nd months after conception, the 2nd of the five prenatal stages of development, viz. kalala, abbuda, pesi, ghana, pasākha)

(2) เนื้องอก, แผลเน่าเปื่อย, ฝี (a tumour, canker, sore)

(3) ตัวเลขที่สูงมากที่ใช้เฉพาะกับการแสดงถึงระยะอันยาวนานของความทุกข์ทรมานในนรก (a very high numeral, appld. exclusively to the denotation of a vast period of suffering in Purgatory)

บาลี “อพฺพุท” สันสกฤตเป็น “อรฺพฺพุท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อรฺพฺพุท : (คำนาม) อักเสบตา; ร้อยล้าน; ชื่อภูเขาในอินเดียภาคตวันตก; ค่อยบวมเต่งขึ้น; ophthalmia; a hundred millions; name of a mountain in the west of India; an indolent swelling.”

ขยายความแทรก :

อัพพุทะ” ที่หมายถึง “ตัวเลขที่สูงมาก” (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า ร้อยล้าน – a hundred millions) ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ยาวนาน ในคัมภีร์แสดงวิธีนับไว้ดังนี้ –

(1) วสฺสานญฺหิ  ทสทสกานํ สตํ

= สิบสิบปี เป็นร้อย

(2) ทส  สตานํ  สหสฺสํ

= สิบร้อย เป็นพัน

(3) สหสฺสานํ  สตํ  สตสหสฺสํ

= ร้อยพัน เป็นแสน

(4) สตสหสฺสานํ  สตํ  โกฏิ

= ร้อยแสน เป็นโกฏิ

(5) สตํ  โกฏิสตสหสฺสานํ  ปโกฏิ

= ร้อยแสนโกฏิ เป็นปโกฏิ

(6) สตํ  ปโกฏิสตสหสฺสานํ โกฏิปโกฏิ

= ร้อยแสนปโกฏิ เป็นโกฏิปโกฏิ

(7) สตํ  โกฏิปโกฏิสตสหสฺสานํ  เอกนหุตํ

= ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ เป็น 1 นหุต

(8) สตํ  นหุตสตสหสฺสานํ  เอกนินฺนหุตํ

= ร้อยแสนนหุต เป็น 1 นินนหุต

(9) สตํ  นินฺนหุตสตสหสฺสานํ  เอกํ  อพฺพุทํ

= ร้อยแสนนินนหุต เป็น 1 อัพพุทะ

ที่มา: พกพรหมชาดก สัตตกนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค 5 หน้า 195

…………..

กลับมาที่ “อัพพุทะ” อันเป็นวิวัฒนาการขั้นที่ 2 ของทารกในครรภ์

คำแปลตามที่ยกมาที่ตรงกันคำหนึ่งคือ “โตขึ้นหรือบวมขึ้น” (“swelling” – พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ) “ค่อยบวมเต่งขึ้น” (an indolent swelling – สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) น่าจะเป็นความหมายตามประสงค์ของคำว่า “อัพพุทะ” ในที่นี้

มองตามภาพที่เกิดขึ้น เบื้องต้นมีต่อมชนิดหนึ่งขนาดเท่าปลายเข็ม เล็กมากจนแยกไม่ได้ว่าเป็นอะไร เรียกว่า “กลละ

ภายใน 7 วัน “กลละ” ก็ขยายตัว คือ “โตขึ้นหรือบวมขึ้น” หรือ “ค่อยบวมเต่งขึ้น” ขนาดก็ขยายขึ้นจนเห็นได้ชัดว่าภายในเป็นน้ำ ท่านเรียกต่อมที่ขยายขึ้นนี้ว่า “อัพพุทะ” ซึ่งตามศัพท์มีความหมายว่า “โตขึ้นหรือบวมขึ้น

อัพพุทะ” หรือเขียนแบบบาลีเป็น “อพฺพุท” คัมภีร์บางฉบับสะกดเป็น “อมฺพุท” (อมฺ– ม ม้า ไม่ใช่ อพฺ– พ พาน) เช่นคัมภีร์กถาวัตถุ พระอภิธรรมปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 37 ข้อ 1560 เป็นต้น

อมฺพุท” (อมฺ– ม ม้า) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ให้น้ำ” (อมฺพุ = น้ำ, – = ผู้ให้)

ต่อมที่ขยายตัวมาจาก “กลละ” ตอนนี้เห็นได้ว่าภายในเป็นน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าศัพท์นี้เป็น “อมฺพุท” (อมฺ– ม ม้า) ก็นับว่าเข้าเค้าอยู่ คือแปลว่า “ต่อมที่ให้น้ำ” เพราะมีน้ำอยู่ภายใน

แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ทั่วไปสะกดศัพท์นี้เป็น “อพฺพุท” (อพฺ– พ พาน)

คัมภีร์สารัตถปกาสินี (อรรถกถาสังยุตตนิกาย) ภาค 1 หน้า 406 ซึ่งอธิบายอินทกสูตรที่อ้างไว้ข้างต้น ขยายความสิ่งที่เรียกว่า “อัพพุทะ” ไว้ว่า –

…………..

ตสฺมา  กลลา  สตฺตาหจฺจเยน  มํสโธวนอุทกวณฺณํ  อพฺพุทํ  นาม  โหติ  กลลนฺติ  นามํ  อนฺตรธายติ.

เมื่อกลละนั้นล่วงไป 7 วัน ก็มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ จึงชื่อว่าอัพพุทะ สิ่งที่เรียกชื่อว่ากลละก็หายไป

…………..

ได้ความเพิ่มขึ้นอีกว่า “อัพพุทะ” มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ

สรุปว่า “อัพพุทะ” ในที่นี้ก็คือวิวัฒนาการขั้นที่ 2 ของทารกในครรภ์ที่แปรสภาพมาจาก “กลละ

ท่านว่า “อัพพุทะ” นี้มีอายุ 7 วัน ก็จะแปรสภาพเป็น “เปสิ” ต่อไป

…………..

ดูคำที่เกี่ยวข้อง :

กำเนิดมนุษย์” บาลีวันละคำ (2,561) 17-6-62

คนธรรพ์คันธัพพะ” บาลีวันละคำ (2,564) 20-6-62

อุตุนี มีระดู” บาลีวันละคำ (2,565) 21-6-62

สันนิปติตา” บาลีวันละคำ (2,566) 22-6-62

กลละ” บาลีวันละคำ (2,569) 25-6-62

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องดี ก็อาจผิด

: เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องร้าย ก็อาจพลาด

: คนฉลาด-ตั้งสติรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

#บาลีวันละคำ (2,570)

26-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *