เปสิ (บาลีวันละคำ 2,571)
เปสิ
วิวัฒนาการขั้นที่ 3 ของทารกในครรภ์
อ่านว่า เป-สิ
ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ –
…………..
ปฐมํ กลลํ โหติ
กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ
เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
ฆนา ปสาขา ชายนฺติ
เกสา โลมา นขาปิ จ.
(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ
กะละลา โหติ อัพพุทัง
อัพพุทา ชายะเต เปสิ
เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน
ฆะนา ปะสาขา ชายันติ
เกสา โลมา นะขาปิ จะ.)
ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละก่อน
จากกลละเป็นอัพพุทะ
จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ
จากเปสิเกิดเป็นฆนะ
จากฆนะเกิดเป็นปสาขา
(ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ …
ที่มา: อินทกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 803
…………..
“เปสิ” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า เป-สิ รากศัพท์มาจาก เปส (ธาตุ = เหยียดออก, ขยาย) + อิ ปัจจัย
: เปสฺ + อิ = เปสิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ขยายออก” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ชิ้นเนื้อ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เปสิ” ไว้ดังนี้ –
(1) ก้อน, โดยปกติ เนื้อที่เป็นก้อนขึ้นมา (a lump, usually a mass of flesh)
(2) เด็กอ่อนในครรภ์ในขั้นที่ 3 (ระหว่าง อพฺพุท และ ฆน) (the foetus in the third stage after conception [between abbuda & ghana])
(3) ชิ้น, เศษ (a piece, bit)
ในที่นี้ “เปสิ” มุ่งถึงความหมายตามข้อ (2)
ตามที่ท่านอธิบายไว้สรุปได้ว่า ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเกิดเป็น “กลละ” อยู่ 7 วัน ก็แปรสภาพเป็น “อัพพุทะ” เป็น “อัพพุทะ” อยู่ 7 วัน แปรสภาพเป็น “เปสิ”
คัมภีร์สารัตถปกาสินี (อรรถกถาสังยุตตนิกาย) ภาค 1 หน้า 406 ซึ่งอธิบายอินทกสูตรที่อ้างไว้ข้างต้น ขยายความสิ่งที่เรียกว่า “เปสิ” ไว้ว่า –
…………..
ตสฺมาปิ อพฺพุทา สตฺตาหจฺจเยน วิลีนติปุสทิสา เปสิ นาม สญฺชายติ ฯ สา มริจผาณิเตน ทีเปตพฺพา ฯ คามทารกา หิ สุปกฺกานิ มริจานิ คเหตฺวา สาฏกนฺเต ภณฺฑิกํ กตฺวา ปีเฬตฺวา มณฺฑํ อาทาย กปาเล ปกฺขิปิตฺวา อาตเป ฐเปนฺติ ตํ สุกฺขมานํ สุกฺขมานํ สพฺพภาเคหิ มุจฺจติ ฯ เอวรูปา เปสิ โหติ อพฺพุทนฺติ นามํ อนฺตรธายติ ฯ
เมื่อเป็นอัมพุทะได้ 7 วันย่อมเกิดเป็นสภาพที่ชื่อว่าเปสิคล้ายกับดีบุกที่ละลายคว้าง เปสินั้นพึงอธิบายด้วยน้ำกากพริก คือ พวกเด็กชาวบ้านเก็บพริกที่สุกดีห่อที่ชายผ้า คั้นเอายอดรส (คือหัวน้ำที่เกิดจากพริก) ใส่กระเบื้องวางตากแดดไว้ ยอดรสนั้นจะแห้งเข้าๆ ล่อนขึ้นมาทั้งหมด เปสิย่อมมีลักษณะดังว่านี้ สิ่งที่ชื่อว่าอัพพุทะก็หายไป (กลายเป็นเปสิ)
หมายเหตุ :
ในที่นี้ได้นำคำอธิบายที่เป็นต้นฉบับภาษาบาลีมาลงไว้ด้วย เนื่องจากมีบางคำที่เข้าใจยาก เช่น “มริจผาณิเตน” คืออะไร “มณฺฑํ” คืออะไรของอะไร แปลแล้วก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเองว่าลักษณะของ “เปสิ” เหมือนอะไรกันแน่
ท่านผู้ใดสามารถแปลให้เห็นภาพได้ชัดกว่านี้ ขอเชิญร่วมให้ความรู้เป็นวิทยาทานด้วยเทอญ
…………..
สรุปว่า “เปสิ” ในที่นี้ก็คือวิวัฒนาการขั้นที่ 3 ของทารกในครรภ์ที่แปรสภาพมาจาก “อัพพุทะ” หรือสรุปสั้นๆ ว่า จากน้ำเป็นเนื้อ
ท่านว่า “เปสิ” นี้มีอายุ 7 วัน ก็จะแปรสภาพเป็น “ฆนะ” ต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จากน้ำมาเป็นเนื้อ
แล้วจากเนื้อจะไปไหน
: ชีวิตนี้มีอะไร
แล้วมีไปทำไมกัน
#บาลีวันละคำ (2,571)
27-6-62