ปรากรมพาหุ (บาลีวันละคำ 2,585)
ปรากรมพาหุ
คำนี้มีความหมายอย่างไร
อ่านว่า ปะ-รา-กฺรม-มะ-พา-หุ
แยกคำเป็น ปรากรม + พาหุ
(๑) “ปรากรม”
บาลีเป็น “ปรกฺกม” (ปะ-รัก-กะ-มะ) รากศัพท์มาจาก ปร (ข้างหน้า, ข้าศึก) + กมฺ (ธาตุ = เหยียบย่ำ) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้าและธาตุ (ปร + กฺ + กมฺ)
: ปร + กฺ + กมฺ + อ = ปรกฺกม แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่ย่ำไปยังที่ต่างๆ” (2) “อาการที่เหยียบย่ำข้าศึกคือความเกียจคร้าน”
“ปรกฺกม” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความเพียร, ความบากบั่น, ความอุตสาหะ, ความพยายาม (exertion, endeavour, effort, strife)
ในภาษาบาลี คำที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “ปรกฺกม” มีอีกหลายคำ ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้ –
(1) วิริยารมฺโภ = การลงมือทำความเพียร
(2) นิกฺกโม = ความขะมักเขม้น
(3) อุยฺยาโม = ความตั้งหน้า
(4) วายาโม = ความพยายาม
(5) อุสฺสาโห = ความอุตสาหะ
(6) อุสฺโสฬฺหี = ความทนทาน
(7) ถาโม = ความเข้มแข็ง
(8) ธิติ = ความหมั่น
(9) อสิถิลปรกฺกมตา = ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย
(10) อนิกฺขิตฺตจฺฉนฺทตา = ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ
(11) อนิกฺขิตฺตธุรตา = ความไม่ทอดธุระ
(12) ธุรสมฺปคฺคาโห = ความประคับประคองธุระ
(13) วิริยํ = ความกล้า
(14) วิริยินฺทฺริยํ = การยกเอาความกล้าขึ้นนำ
(15) วิริยพลํ = กำลังคือความกล้า, มีความกล้าเป็นกำลัง
(16) สมฺมาวายาโม = ความพยายามอย่างถูกต้อง
บาลี “ปรกฺกม” สันสกฤตเป็น “ปรากฺรม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปรากฺรม : (คำนาม) ‘ปรากรม,’ พลหรือพลศักติ์, กำลัง; อุตสาหะ; ความกล้า, กำลังหาญ; การออก; การเข้าตีฆ่าสึก; power, strength; exertion; valour, prowess; going out, exit, or issue; attacking an enemy.”
ในภาษาไทยเขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “ปรากรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรากรม : (คำนาม) ความเพียร, ความบากบั่น. (ส.).”
(๒) “พาหุ”
รากศัพท์มาจาก วหฺ (ธาตุ = นำไป) + ณุ ปัจจัย, ลบ ณ (ณุ > อุ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ว-(หฺ) เป็น อา (วหฺ > วาห), แปลง ว เป็น พ
: วหฺ + ณุ = วหณุ (> วหอุ) > วหุ > วาหุ > พาหุ (ปุงลิงค์; อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำไป” หมายถึง แขน (the arm)
ปรกฺกม + พาหุ = ปรกฺกมพาหุ แปลว่า “ผู้มีแขนเป็นเครื่องนำไปข้างหน้า” หมายถึง มีพละกำลัง มีความกล้าหาญ ที่จะบากบั่นมั่นมุ่งทำกิจให้สำเร็จอย่างไม่กลัวตาย
ถ้านึกถึงภาพนักว่ายน้ำ อาจช่วยให้เข้าใจความหมายได้ชัดเจนขึ้น
นักว่ายน้ำ เมื่อลงน้ำแล้วใช้แขนทั้ง 2 ข้างแหวกว่ายพาตัวให้รุดไปข้างหน้า นั่นแหละคือความหมายของ “ปรกฺกมพาหุ”
บาลี “ปรกฺกมพาหุ” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ปรากรมพาหุ”
เท่าที่รู้กัน “ปรากรมพาหุ” เป็นพระนามของกษัตริย์ศรีลังกาในประวัติศาสตร์ เรียกกันว่า “พระเจ้าปรากรมพาหุ” มีหลายพระองค์ แต่ที่มีพระเกียรติยศยิ่งใหญ่เสมอด้วยพระเจ้าอโศกแห่งชมพูทวีป คือพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 (พ.ศ.1696 – 1729)
เมื่อใช้เป็นนามพระมหากษัตริย์ในอดีตสมัย ก็ต้องนึกถึงภาพของนักรบอันเป็นหน้าที่โดยตรงของกษัตริย์ คุณสมบัติสำคัญที่สุดของนักรบคือความกล้าหาญ อวัยวะในร่างกายที่ต้องใช้งานได้เป็นอย่างดีคือแขน ต้องเป็นแขนที่ทรงพลัง จับอาวุธฟันฝ่าไปข้างหน้าอย่างห้าวหาญ
(เราท่านที่เกิดไม่ทันยุคสร้างบ้านแปลงเมือง แต่เกิดในยุคที่บ้านเมืองเป็นปกติสุขมาช้านานแล้ว คงนึกไม่ออกบอกไม่ได้ว่า มนุษย์จะต้องจับอาวุธฟันฝ่าไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์อะไรกัน)
“ปรากรมพาหุ” จึงเป็นสมัญญานาม ยกย่องพระมหากษัตริย์ที่สร้างบ้านแปลงเมืองและปกบ้านป้องเมืองมาอย่างกล้าหาญ
สองแขนคล้องสองมือถืออาวุธ
ทะยานยุทธรุดหน้าอย่างกล้าหาญ
นี่คือความหมายของนาม “ปรากรมพาหุ”
ในภาษาไทย คำว่า “ปรากรมพาหุ” เคยใช้เป็นสร้อยนามข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น
– เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม
– เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช
…………..
ดูก่อนภราดา!
พึงสดับ –
โย สหสฺสํ สหสฺเสน
สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ
ส เว สงฺคามชุตฺตโม.
ผู้ใดชนะคนครั้งละพันคนในสงครามพันครั้ง
ผู้นั้นหาชื่อว่าเป็นยอดแห่งผู้ชนะสงครามไม่
ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้
ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะสงคราม
ที่มา: สหัสสวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 18
: ชนะทั้งสามโลกก็ยังไม่ชนะแท้
: หากยังแพ้ใจตัวเอง
—————
(ตอบคำถามของ หมู มิตรชัย)
#บาลีวันละคำ (2,585)
11-7-62