โมหาคติ (บาลีวันละคำ 2,584)
โมหาคติ
ลำเอียงเพราะเขลา
อ่านว่า โม-หา-คะ-ติ
แยกศัพท์เป็น โมห + อคติ
(๑) “โมห”
บาลีอ่านว่า โม-หะ รากศัพท์มาจาก มุหฺ (ธาตุ = หลงลืม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ มุ-(หฺ) เป็น โอ (มุหฺ > โมห)
: มุหฺ + ณ = มุหณ > มุห > โมห แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่หลงเอง” (คือตัวของมันหลงเอง ไม่มีอะไรมาทำให้หลง) (2) “ภาวะเป็นเหตุหลงแห่งสัมปยุตธรรม” (คือเมื่อมันเข้าไปผสมกับอะไรก็ทำให้สิ่งนั้นเกิดอาการหลง)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โมห” ว่า stupidity, dullness of mind & soul, delusion, bewilderment, infatuation (ความโง่, ความหลงและความลืม, ความเข้าใจผิด, ความงงงวย, ความหลงใหล)
(๒) “อคติ”
บาลีอ่านว่า อะ-คะ-ติ รากศัพท์มาจาก น + คติ
(ก) “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่
เมื่อไปสมาสกับคำอื่น :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ (อะ)
ในที่นี้ “คติ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “คติ” รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันบุคคลพึงดำเนิน”
“คติ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การไป (going)
(2) การจากไป, การผ่านไป (going away, passing on)
(3) ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพอื่น (course, esp after death, destiny, as regards another existence)
(4) ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ (behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element)
(5) แดนแห่งความเป็นอยู่ 5 อย่างของสัตว์โลก (the five realms of existence) (คือ นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และเทพ = คติ 5)
: น + คติ = นคติ > อคติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาอันบุคคลไม่พึงดำเนิน” (2) “การดำเนินอันไม่สมควร”
“อคติ” ขบความตามศัพท์เท่าที่ตาเห็น –
1 ไม่ไป, ไม่ถึง, ไม่อยู่
2 ไปไม่ได้, ไปไม่ถึง, เข้าไม่ได้, อยู่ไม่ได้
ความหมายในเชิงปฏิบัติของ “อคติ” คือ –
1 ไปในที่ไม่ควรไป, อยู่ในที่ไม่ควรอยู่, เข้าไปในที่ไม่ควรเข้า, ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
2 ไม่ไปในที่ที่ควรไป, ไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่, ไม่เข้าไปในที่ที่ควรเข้า, ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อคติ” ว่า –
(1) no course, no access (ไม่มีวิถีทาง, ไม่มีทางเข้า)
(2) a wrong course (ทางที่ผิด)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อคติ” ว่า wrong course of behaviour; prejudice
“อคติ” เรามักพูดทับศัพท์ว่า อคติ หมายถึง ความลำเอียง, ความไม่เที่ยงธรรม, ความไม่ยุติธรรม
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อคติ : (คำนาม) ความลําเอียง มี ๔ อย่าง คือ ฉันทาคติ = ความลําเอียงเพราะรัก โทสาคติ = ความลําเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ = ความลําเอียงเพราะกลัว โมหาคติ = ความลําเอียงเพราะเขลา. (ป.).”
โมห + อคติ = โมหาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะเขลา (prejudice caused by delusion or stupidity)
ขยายความ :
“โมหาคติ” ลำเอียงเพราะเขลา หมายความว่าอย่างไร
หนังสือ อธิบายธรรมวิภาคปริเฉทที่ 1 ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
โมหาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะเขลา หรือเพราะความโง่ หลงงมงาย ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด อย่างไรควรอย่างไรไม่ควร เช่นเมื่อได้รับคำฟ้องแล้ว ยังไม่ทันได้สอบสวนให้รอบคอบก็ด่วนตัดสินผิดๆ พลาดๆ ขาดๆ เกินๆ ไม่ถูกต้อง ไม่พอดีตามที่ควร นี้จัดเป็นการไม่ยุติธรรมประการหนึ่ง.
…………..
ดูก่อนภราดา!
พึงสดับ –
ฉนฺทา โทสา ภยา โมหา
โย ธมฺมํ อติวตฺตติ
นิหียติ ตสฺส ยโส
กาฬปกฺเขว จนฺทิมา.
เพราะชอบ ชัง กลัว เขลา
ผู้ใดมัวเมามองข้ามความถูกต้อง
ความน่ายกย่องของผู้นั้นย่อมเสื่อมสูญลับ
ดั่งเดือนดับในคืนแรมฉะนั้น
ที่มา: วินัยปิฎก ปริวาร พระไตรปิฎกเล่ม 8 ข้อ 1102
#บาลีวันละคำ (2,584)
10-7-62