บาลีวันละคำ

เทวทัต (บาลีวันละคำ 1,339)

เทวทัต

อ่านว่า เท-วะ-ทัด

ประกอบด้วย เทว + ทัต

(๑) “เทว” (เท-วะ)

รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

(๒) “ทัต

บาลีเป็น “ทตฺต” (ทัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ทา > ), ซ้อน ตฺ; นัยหนึ่งว่า แปลง ทา กับ เป็น ทตฺต

: ทา > + ตฺ + = ทตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-ให้แล้ว

– ใช้เป็นกริยาแปลว่า (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) อัน–ให้แล้ว (given or granted by –)

– ใช้ในฐานะเป็นนามหรือคุณศัพท์ หมายถึง สิ่งที่ให้, ของที่ให้หรือสังเวย, ของบริจาค (gift, donation, offering)

เทว + ทตฺต = เทวทตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อันเทวดาให้แล้ว

เทวทตฺต ในภาษาไทยใช้ว่า “เทวทัต” เขียนแบบเก่าเป็น “เทวทัตต์” ก็มี

อภิปราย :

๑ คำว่า “เทวทัต” ชาวอารยันนิยมใช้เป็นชื่อบุคคล ที่ยังติดมาในชื่อฝรั่งทุกวันนี้คือ Devid = Theo-dor

๒ คำว่า “เทวทัต” ที่คนไทยและชาวพุทธทั่วไปรู้จักกันดีเป็นชื่อของภิกษุรูปหนึ่ง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

เทวทัต : ราชบุตรของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางพิมพาผู้เป็นพระชายาของสิทธัตถกุมาร เจ้าชายเทวทัตต์ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ พระอานนท์ และ กัลบกอุบาลี เป็นต้น บำเพ็ญฌานจนได้โลกียอภิญญา ต่อมามีความมักใหญ่ ได้ยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูและคบคิดกันพยายามประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก่อเรื่องวุ่นวายในสังฆมณฑล จนถึงทำสังฆเภท และถูกแผ่นดินสูบในที่สุด

๓ พระเทวทัตในความรู้สึกของสังคมไทยนั้น กล่าวตามภาษาสมัยใหม่ก็ว่ามีภาพลักษณ์ที่เลวทราม ถึงขนาดเวลาจะสาปแช่งใครที่ตนเกลียดก็จะบอกว่า “ขอให้ตกนรกใต้เถรเทวทัต” (ตามคัมภีร์บอกว่าพระเทวทัตตกนรกขุมที่ชื่อ อเวจีมหานรก ซึ่งเป็นนรกขุมลึกที่สุดสําหรับลงโทษแก่ผู้ที่มีบาปหนักที่สุด)

๔ คนส่วนมากรู้ประวัติพระเทวทัตในฐานะเป็นผู้ร้าย แต่ประวัติพระเทวทัตตอนจบบอกว่าท่านได้สำนึกตัวและตั้งจิตบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกคาง (เนื่องจากตอนนั้นถูกแผ่นดินสูบจมไปจนถึงคาง) ผลแห่งความดีนี้พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตพระเทวทัตจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่า “อัฏฐิสสระ” (อัด-ถิด-สะ-ระ)

: อนาคตของพระเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

: อนาคตของพวกเรา ใครรู้บ้างว่าจะเป็นอะไร

29-1-59

ต้นฉบับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *