เชตวัน (บาลีวันละคำ 2,589)
เชตวัน
อารามสำคัญในพระพุทธศาสนา
อ่านว่า เช-ตะ-วัน ก็ได้
อ่านว่า เชด-ตะ-วัน ก็ได้
ประกอบด้วยคำว่า เชต + วัน
(๑) “เชต”
บาลีอ่านว่า เช-ตะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ (ชิ > เช)
: ชิ + ต = ชิต > เชต แปลตามศัพท์ว่า “ชนะแล้ว”
“เชต” ในที่นี้เป็นชื่อของราชกุมารองค์หนึ่งแห่งเมืองสาวัตถี เหตุที่ได้นามว่า “เชต” คัมภีร์อธิบายเหตุผลไว้ 3 ทาง คือ –
(1) เพราะชนะศัตรูของพระองค์
(2) เพราะเกิดเมื่อพระราชาของเมืองชนะศัตรู
(3) เพราะเป็นชื่อที่เป็นมงคลตามตำรา
“เชต” ในที่นี้ภาษาไทยอ่านว่า เชด
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
เชต + วน = เชตวน (เช-ตะ-วะ-นะ) แปลว่า “สวนของเจ้าเชต”
“เชตวน” เขียนในภาษาไทยเป็น “เชตวัน”
“เชตวัน” เป็นชื่ออารามสำคัญแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เชตวัน” กล่าวถึงประวัติของอารามแห่งนี้ไว้ดังนี้ –
…………..
เชตวัน : “สวนเจ้าเชต” ชื่อวัดสำคัญซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้า อุทิศสงฆ์จากจาตุรทิศ ที่เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล (คงจะสร้างในพรรษาที่ ๓ แห่งพุทธกิจ) โดยซื้อที่ดินอุทยานของเจ้าเชต (เชตราชกุมาร) ด้วยวิธีเอาเกวียนขนเงินเหรียญมาปูให้เต็มพื้นที่ (เรื่องมาใน วินย.๗/๒๕๖/๑๐๙) ตามเรื่องว่า เมื่อหมู่เกวียนขนเงินมาเที่ยวแรก เงินเหรียญปูยังไม่เต็มพื้นที่ ขาดอยู่ตรงที่ใกล้ซุ้มประตูหน่อยเดียว ขณะที่อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งคนให้ไปขนเงินมาอีก เจ้าเชตเกิดความซาบซึ้งในศรัทธาของท่านอนาถบิณฑิก จึงขอมีส่วนร่วมในการสร้างวัดด้วย โดยขอให้ที่ตรงนั้นเป็นส่วนที่ตนถวาย ซึ่งอนาถบิณฑิกคหบดีก็ยินยอม เจ้าเชตจึงสร้างซุ้มประตูวัดขึ้นตรงที่นั้น, เชตวัน อนาถบิณฑิการามนี้ เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา คือ (อาจจะครั้งแรกในพรรษาที่ ๓) พรรษาที่ ๑๔ และในช่วงพรรษาที่ ๒๑–๔๔ ซึ่งประทับสลับไปมาระหว่างวัดพระเชตวัน กับวัดบุพพารามของวิสาขามหาอุบาสิกา, ด้วยเหตุนี้ การทรงแสดงธรรม และทรงบัญญัติวินัย จึงเกิดขึ้นที่วัดพระเชตวันนี้มาก โดยเฉพาะสิกขาบทของภิกษุณี ทรงบัญญัติที่วัดพระเชตะวันแทบทั้งนั้น.
…………..
เรื่องน่ารู้ :
– ในพระไตรปิฎก-โดยเฉพาะในพระสูตร เมื่อกล่าวถึงอารามแห่งนี้ จะระบุชื่อควบกันเป็น 2 ชื่อ คือ –
(1) เชตวเน (เช-ตะ-วะ-เน) = เชตวน > เชตวัน
(2) อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม (อะ-นา-ถะ-ปิน-ดิ-กัด-สะ อา-รา-เม) แปลว่า “ในอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี” = อนาถบิณฑิการาม
มีคำอธิบายเหตุผลในการที่ระบุชื่อควบกันว่า “เชตวัน” เป็นการประกาศนามเจ้าของคนแรก “อนาถบิณฑิการาม” เป็นการประกาศนามเจ้าของคนหลัง
– “เชตวัน” มีมูลค่าเท่าไร?
ตามที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ “เชตวัน” มีมูลค่าดังนี้ –
ราคาที่ดิน 18 โกฏิ
ราคาสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดภายในอาราม 18 โกฏิ
ค่าใช้จ่ายในการฉลองอาราม (บางฉบับว่าค่าสร้างทางไปยังอาราม) 18 โกฏิ
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์บันทึกไว้ว่า “เจ้าเชต” ซึ่งเป็นเจ้าของคนแรกได้บริจาคเงิน 18 โกฏิที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าสร้างซุ้มประตูและอาคารประกอบ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ ไม้ดอก และไม้ประดับภายในอารามใหม่ทั้งหมด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทรัพย์ของคนมีศรัทธาอยู่ได้ชั่วนาตาปี
: ทรัพย์ของคนตระหนี่อยู่ได้ชั่วชีวิตเดียว
————–
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,589)
15-7-62