ไตรมาส (บาลีวันละคำ 897)
ไตรมาส
อ่านว่า ไตฺร-มาด
ประกอบด้วย ไตร + มาส
“ไตร” บาลีเป็น “เต” และ เต นี้ก็แผลงมาจาก “ติ” อีกทีหนึ่ง
: ติ > เต > ไตร แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
หลักภาษา :
(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ
(2) ในภาษาไทย “ตรี” มักแผลงมาจาก ติ– “ไตร” มักแผลงมาจาก เต–
“มาส” บาลีอ่านว่า มา-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มสิ (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ณ ปัจจัย, ยืดเสียง อ ที่ ม– เป็น อา, ลบ อิ ที่ –สิ
: มสิ > มาสิ > มาส + ณ = มาส แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่เหมือนกำหนดอายุของเหล่าสัตว์ทำให้สิ้นสุด” หมายถึง เดือน (ส่วนของปี)
(2) มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ส ปัจจัย
: มา + ส = มาส แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องกำหนดข้างแรมและข้างขึ้นของวัน” หมายถึง ดวงจันทร์
“มาส” จึงมีความหมาย 2 อย่าง คือ เดือน (month) และ ดวงจันทร์ (moon)
คำว่า “เดือน” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า ส่วนของปี และ ดวงจันทร์
เต + มาส = เตมาส > ไตรมาส แปลว่า สามเดือน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เตมาส” ว่า 3 months, i. e. a season (สามเดือน, คือ หนึ่งฤดู)
ในภาษาบาลี คำว่า “เตมาส” (ไตรมาส) มักใช้ในความหมายว่า สามเดือนในฤดูฝน คือช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา
ในภาษาไทย เดิม “ไตรมาส” ก็คงหมายถึงช่วงเวลาที่พระสงฆ์จำพรรษา ดังคำถวายผ้ากฐินว่า “น้อมนำมาถวายพระสงฆ์จึงจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้”
ปัจจุบันคำว่า “ไตรมาส” ถูกนำไปใช้ในการบอกระยะเวลาการประกอบธุรกิจว่า ไตรมาสแรก ไตรมาสที่สอง … เป็นต้น โดยไม่เกี่ยวกับฤดูกาลตามธรรมชาติ เช่น “ปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ….”
คำว่า “ไตรมาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ความดี : ทำสามเดือนก็ยังน้อยไป
ความชั่ว : ทำสามวินาทีก็มากเกินไป
#บาลีวันละคำ (897)
1-11-57