บุพพาราม ไม่ใช่ “บุปผาราม” (บาลีวันละคำ 2,588)
บุพพาราม ไม่ใช่ “บุปผาราม”
อย่าเอานามไปพัลวันกัน
“บุพพาราม” อ่านว่า บุบ-พา-ราม แยกคำเป็น “บุพพ + อาราม
(๑) “บุพพ”
บาลีเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม”
“ปุพฺพฺ” ในบาลีที่ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
(2) ตะวันออก (“ทิศเบื้องหน้า”) (the East)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”
ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี
เฉพาะที่ใช้เป็น “บุพ-” และ “บุพพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).”
(๒) “อาราม”
บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ร-(มฺ) เป็น อา (รมฺ > ราม)
: อา + รมฺ = อารมฺ + ณ = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี”
“อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)
(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)
(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)
นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).
(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.
ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด
ปุพฺพ + อาราม = ปุพฺพาราม (ปุบ-พา-รา-มะ) เขียนในภาษาไทยเป็น “บุพพาราม” (บุบ-พา-ราม) แปลว่า “อารามอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก”
“บุพพาราม” เป็นชื่อวัดที่นางวิสาขาสร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสาวัตถี เพราะเหตุที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกนั่นเองจึงได้นามว่า “บุพพาราม” ในขณะที่ทางฟากตะวันตกของเมืองมีวัดพระเชตวัน หรือ “เชตวนาราม” ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย
พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีรวมทั้งสิ้น 25 พรรษา โดยประทับสลับไปมาระหว่าง “เชตวนาราม” กับ “บุพพาราม” ตามหลักฐานปรากฏว่า ประทับที่ “เชตวนาราม” 19 พรรษา ประทับที่ “บุพพาราม” 6 พรรษา
ในภาษาไทย คำว่า “บุพพาราม” มักมีผู้ออกเสียงเป็น “บุปผาราม” แล้วแต่งเรื่องอธิบายว่า นางวิสาขาปลูกดอกไม้ไว้ในวัดเป็นที่สวยงามน่ารื่นรมย์มาก จึงได้ชื่อว่า “บุปผาราม”
ถ้าไม่พิจารณาให้รอบคอบ ก็คงจะมีผู้เชื่อตามไปเป็นอันมาก
ชื่อ “บุพพาราม” นี้ ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยังบอกความหมายได้ชัดเจนว่า “Eastern Park”, Name of a locality east of Sāvatthi (“อุทยานทางทิศตะวันออก”, ชื่อของวัดบุพพารามซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสาวัตถี) – ไม่เกี่ยวกับนางวิสาขาปลูกดอกไม้แต่ประการใดทั้งสิ้น
คำว่า “บุปผาราม” คำแรกคือ “บุปผา” ที่นิยมใช้กันเช่นนี้ในภาษาไทย แต่ภาษาบาลีเป็น “ปุปฺผ” อ่านว่า ปุบ-ผะ โปรดสังเกตว่า –ผะ ไม่ใช่ –ผา รากศัพท์มาจาก ปุปฺผฺ (ธาตุ = แย้ม, บาน) + อ ปัจจัย
: ปุปฺผฺ + อ = ปุปฺผ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แย้มบาน” หมายถึง ดอกไม้
นอกจากแปลว่า ดอกไม้ แล้ว “ปุปฺผ” คำนี้ยังแปลว่า “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้” หมายถึง ระดู หรือเลือดประจำเดือนของสตรีอีกด้วย
ปุปฺผ + อาราม = ปุปฺผาราม > บุปผาราม แปลตามศัพท์ว่า “สวนดอกไม้” เป็นชื่อวัดหลายแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ นัยว่าวัดนี้เดิมชื่อ “วัดดอกไม้” เมื่อยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบุปผาราม
“บุปผาราม” ไม่เกี่ยวข้องกับ “บุพพาราม” ที่เมืองสาวัตถีแต่ประการใดทั้งสิ้น กรุณาอย่าเอาไปพัลวันกันให้ผิดเพี้ยนไปเลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำเพี้ยนก็เพียงแค่เปลี่ยนความหมาย
: คนเพี้ยนนี่สิร้าย อาจเปลี่ยนโลกได้เหลือคาดคะเน
#บาลีวันละคำ (2,588)
14-7-62