บาลีวันละคำ

พระนเรศวรมหาราช (บาลีวันละคำ 2,612)

พระนเรศวรมหาราช

…………..

มีประเด็นใหม่เกิดขึ้นว่า พระนาม “พระนเรศวรมหาราช” – โดยเฉพาะคำว่า “นเรศวร” ที่อ่านกันว่า -นะ-เร-สวน- นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกจะต้องอ่านว่า นะ-เรด-วอ-ระ-

พระนเรศวรมหาราช” ต้องอ่านว่า พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มะ-หา-ราด จึงจะถูกต้อง

เฉพาะคำที่มีปัญหาคือ “นเรศวร” ในพระนามนี้ มีคำว่า “นร” (นะ-ระ) ที่แปลว่า “คน” เป็นหลัก

ถามว่า นร + คำอะไรต่อไป?

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เคยเขียนคำว่า “นเรศวร” ไว้แล้ว ขอยกมาแสดงไว้ในที่นี้ดังนี้ –

…………..

นเรศวร

อ่านว่า นะ-เร-สวน

ประกอบด้วย นร + อีศฺวร

บาลีเป็น นร + อิสฺสร

นร” (นะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้นำไป

(2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(3) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่

(4) “ผู้อันกรรมของตนนำไป

(5) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้เป็น” คือผู้ไปเป็น ไปเกิดในภูมิที่น่าปรารถนา

(2) “ผู้เป็นใหญ่

(3) “ผู้ครอบงำ” หมายถึงผู้ปกครอง

ความหมายที่เข้าใจกันคือ ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า

อิสฺสร” เทียบสันสกฤตเป็น “อีศฺวร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเป็นเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป”

นร + อิสฺสร ตามรูปบาลีเป็น “นริสฺสร” อ่านว่า นะ-ริด-สะ-ระ

นร + อีศฺวร ตามรูปสันสกฤต แผลง อี เป็น เอ

: นร + อีศฺวร = นรีศฺวร > นเรศฺวร อ่านว่า นะ-เรด-สฺวระ (ศฺ เป็นตัวสะกดและออกเสียงกึ่งเสียง)

เสียง “-สฺวระ” ออกเสียงเหมือน สะวันระ พูดให้เร็วขึ้นเป็น ซวน (กลืนเสียง ร ลงคอไป)

นเรศฺวร ในภาษาไทยเขียนเป็น “นเรศวร” และเราออกเสียงตามถนัดปากว่า นะ-เร-สวน

: นะ-เรด-สะวันระ > นะเรดสะวัน > นะเรดซวน > นะ-เร-สวน

นเรศวร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งคน” “คนผู้เป็นใหญ่” หรือ “จอมคน

คำว่า “นเรศวร” ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอันดี หมายถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผู้ทรงกู้อิสรภาพให้ชาติไทยพ้นจากการยึดครองของพม่า พระวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่คือ “ยุทธหัตถี” การชนช้างชนะพระอุปราชาแห่งพม่า ทรงครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2133 – พ.ศ. 2148

พระนาม “นเรศวร” นี้ ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า บางทีจะเรียกกันว่า “พระนเรศ” (-นะ-เรด) เท่านั้น ดังมีเพลงไทยชื่อ “นเรศวร์ชนช้าง” (นะ-เรด-ชนช้าง) เป็นพยานอยู่

…………..

คำว่า “นเรศวร” ที่เขียนไว้นี้ บอกว่าประกอบด้วย นร + อีศฺวร

และตอนท้ายบอกไว้ว่า ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า บางทีจะเรียกกันว่า “พระนเรศ” (-นะ-เรด) เท่านั้น

ถ้าเรียกว่า “นเรศ” ก็ต้องประกอบด้วย นร + อิศ หรือ อีศ

อิศ” หรือ “อีศ” แผลงเป็น “เอศ” มีใช้ในที่ทั่วไป

: นร + อิศ (อีศ) = นริศ (นรีศ) > นเรศ

เป็นอันว่า “นเรศ” มีที่ไปที่มา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อิศ” ไว้ แต่มีคำว่า “อิศร” บอกคำอ่านว่า อิด และมีคำว่า “อีศ” บอกคำอ่านว่า อีด

ถึงตรงนี้ต้องยอมรับด้วยว่า “อิศร” “อีศ” “อิศวร” “อีศวร” เป็นคำที่มีรากเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ “ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่” เราเอารูปคำเช่นนี้มาผสมกับคำอื่น ในภาษาไทยพบได้ทั่วไป

ดังนั้น เมื่อเขียน “นเรศ” ได้ ก็จะต้องมีผู้เขียนเป็น “นเรศร” และ “นเรศวร” ได้ด้วยเช่นกัน เจตนานั้นต้องการให้อ่านว่า นะ-เรด แต่เมื่อสะกดอย่างนั้น (“นเรศร” และ “นเรศวร”) ก็จะต้องมีคนจำพวกหนึ่งอ่านไปตามที่ตาเห็น

คำเทียบคือ “อิศร” คำอ่านตามภาษาเดิมคือ “อิด” แต่พอสะกดเป็น “อิศวร” คนไทยก็อ่าน อิ-สวน (ดูธรรมชาติการกลายเสียงข้างต้น)

เพราะฉะนั้น “นเรศ” นั่นเอง พอสะกดเป็น “นเรศวร” คนก็อ่านว่า นะ-เร-สวน เหมือน “อิศวร” อ่านว่า อิ-สวน นั่นเอง

คนไทยอ่าน “อิศวร” ว่า อิ-สวน มาตั้งแต่เมื่อไร การอ่าน “นเรศวร” ว่า นะ-เร-สวน ก็คงมีมาตั้งแต่เมื่อนั้น

นี่คือคำตอบว่า จาก นะ-เรด เป็น นะ-เร-สวน ได้อย่างไร

…………..

ปัญหาต่อไปก็คือ ในคำว่า “นเรศวร” นี้มีคำว่า “วร” (วะ-ระ หรือ วอ-ระ) ที่แปลว่า “ประเสริฐ” อยู่ด้วยหรือเปล่า?

ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดมาก่อน

เราเห็นคำว่า “นเรศวร” ก็แยกเป็น นร + อิศวร

วร” ที่อยู่ท้าย “อิศ” เราเข้าใจกันว่าเป็นส่วนควบของคำว่า “อิศ” คือคำเต็มเป็น “อิศวร” ไม่ใช่ อิศ + วร ที่แปลว่า “ประเสริฐ

ถ้ายังงงก็ขอให้เทียบคำว่า “สายสิญจน์

“-สิญจน์” เราอ่านว่า สิน ส่วน “-จน์” ที่อยู่ข้างท้ายเป็นส่วนควบของ “-สิญจน์” เราไม่ออกเสียง และตามอักขรวิธีในปัจจุบันคำที่ไม่ออกเสียงเราใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้ จึงสะกดเป็น “สิญจน์” และอ่านว่า สิน ไม่ใช่ สิน-จะ หรือ สิน-จน

วร” ที่อยู่ท้าย “อิศ” ก็เป็นส่วนควบของ “อิศ” เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะไม่ออกเสียงก็ควรจะใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้เป็น “อิศวร์” อย่างนี้ก็อ่านว่า อิด ไม่ใช่ อิ-สวน

คำว่า “นเรศวร” ถ้ามีเจตนาจะให้อ่านว่า นะ-เรด ก็ควรสะกดเป็น “นเรศวร์” (มีการันต์ที่ ) ถ้าอย่างนี้ก็ชัดเจนว่าต้องอ่านว่า นะ-เรด เท่านั้น

มีคำว่า “นเรศวร์ชนช้าง” อันเป็นชื่อเพลงไทยทํานองหนึ่ง เป็นพยานอยู่ คำนี้อ่านว่า นะ-เรด-ชน-ช้าง จะอ่านว่า นะ-เร-สวน-ชน-ช้าง ไม่ได้อยู่เองเพราะมีการันต์ที่ ทำให้ –วร ไม่ออกเสียงไปด้วย – เหมือน “สิญจน์” มีการันต์ที่ ทำให้ –จน ไม่ออกเสียงไปด้วยฉะนั้น

แต่เกิดมีปัญหาตรงที่อักขรวิธีในเวลาที่เขียนคำว่า “นเรศวร” ท่านสะกดอย่างนี้ คือไม่ใส่การันต์ที่ แต่ให้คนอ่านเข้าใจเอาเองว่า –วร ไม่ต้องออกเสียง คือให้อ่านว่า นะ-เรด ซึ่งคนในเวลานั้นที่รู้ว่าคำว่า “นเรศวร” อ่านว่า นะ-เรด ก็ย่อมจะไม่มีปัญหาในการอ่าน เพราะรู้กันทั่วไป (ในเวลานั้น) ว่าอ่านกันอย่างไร

เทียบกับคำที่เรากำลังเห็นกันในปัจจุบัน อย่างเช่นคำว่า “วชิราลงกรณ” อันเป็นพระปรมาภิไธยในรัชกาลปัจจุบัน

“-ลงกรณ” สะกดอย่างนี้ (ไม่มีการันต์ที่ ) แต่อ่านว่า -ลง-กอน คือ ไม่ออกเสียง

คนในภายหลังเห็นคำว่า “นเรศวร” ไม่เข้าใจอักขรวิธีตามเจตนาของคนในเวลาโน้น จึงแทนที่จะอ่านว่า นะ-เรด ก็มีคนอ่านว่า นะ-เร-สวน คนอ่านอาจจะมีหลักอ้างอิงเทียบเคียง เช่นคำว่า “พระอิศวร” เราก็อ่านกันว่า -อิ-สวน สอดรับกันอยู่

ที่ว่ามานี้คือพยายามจะบอกเหตุผลที่ว่า ในคำว่า “นเรศวร” นี้เราไม่ได้คิดว่า “-วร” ที่อยู่หลัง “นเรศ-” คือ “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” แต่เราเข้าใจกันว่ามันคือ “-วร” ที่เป็นส่วนควบของ “อิศวร” (นร + อิศวร = นเรศวร)

…………..

สรุปก็คือ ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นด้วยว่า พระนามของสมเด็จพระนเรศวร (ตามที่เราเรียกกันมา) คนในเวลาโน้นเรียกกันว่า พฺระ-นะ-เรด

ในเวลาต่อมา คำที่ออกเสียงว่า พฺระ-นะ-เรด นี้มีการเขียนเป็น “พระนเรศวร” และคนในเวลาต่อมาพากันอ่านว่า พฺระ-นะ-เร-สวน มีคำว่า “อิศวร” ที่เราออกเสียงว่า อิ-สวน เป็นคำเทียบ

และนั่นหมายถึงว่า ในคำว่า “นเรศวร” นี้ เราไม่เคยคิดว่ามีคำว่า “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” รวมอยู่ด้วย แต่เข้าใจว่า “วร” ในที่นี้เป็นส่วนควบของ “อิศวร

บัดนี้ เมื่อมีผู้เสนอความเห็นว่า พระนาม “พระนเรศวรมหาราช” นี้มีคำว่า “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” รวมอยู่ด้วย คือแยกเป็น นเรศ + วร + มหาราช

หรือที่มีการเอ่ยพระนามว่า “พระนเรศวรราชาธิราช” คือแยกเป็น นเรศ + วรราชาธิราช และแปล “วรราชาธิราช” ว่า “พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ

นั่นคือ “วร” ในพระนามนี้ไม่ใช่ส่วนควบของ “อิศวร” (นเรศวร) แต่เป็น “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ

จึงเป็นภาระของผู้เสนอความเห็นที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า “วร” ในพระนามนี้ไม่ใช่ส่วนควบของ “อิศวร” (นเรศวร) แต่เป็น “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” ตามเหตุผลและหลักฐานเช่นนี้ๆ

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำเอาใจช่วยอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่านี่เป็นความจำเริญอย่างหนึ่งของวิชาการเกี่ยวกับภาษาและประวัติศาสตร์ จึงจะขอบอกจุดยุทธศาสตร์ที่ควรโจมตีให้แตกหักดังต่อไปนี้ –

จุดที่ ๑: เมื่อ “นเรศ” (นะ-เรด) มาจาก นร + อีศ และ “อีศ” นี้ในสันสกฤตเป็น “อีศฺวร” ด้วย การเขียน นะ-เรด เป็น “นเรศวร” (เจตนาให้อ่านว่า นะ-เรด) ก็ย่อมเป็นไปได้ นั่นแปลว่า “-วร” ในที่นี้ย่อมเป็นส่วนควบของ “อิศวร” ได้ด้วย จึงอาจไม่ใช่ “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” ตามความเห็นใหม่ก็ได้

ต้องแก้จุดนี้ให้ตกก่อน

คำเทียบที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเสนอไปแล้วคือคำว่า “ดิศวรกุมาร” (พระนามเดิมของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งมีผู้อ่านคำนี้ว่า ดิ-สวน-กุ-มาน เพราะเข้าใจว่า “-วร” ในที่นี้เป็นส่วนควบของ “ดิศวร” (ดิ + ศวร)

แต่มีหลักฐานว่า พระนามในภาษาบาลีที่ได้รับพระราชทานมาเป็น “ติสฺสวโร” (ติสฺส + วร) แปลว่า “ดิศผู้ประเสริฐ” เป็นการยืนยันว่า “-วร” ในที่นี้คือ “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” ไม่ใช่ “-วร” ที่เป็นส่วนควบของ “ดิศวร” ตามที่ตาเห็น

ผู้ที่อ่านว่า ดิ-สวน-กุ-มาน จึงยอมจำนนด้วยหลักฐาน และยอมรับว่าพระนามนี้ต้องอ่านว่า ดิด-สะ-วอ-ระ-กุ-มาน

ดูเพิ่มเติมที่: https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2391097390983984

…………..

ในคำว่า “นเรศวร” นี่ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันที่เด็ดขาดทำนองเดียวกันนี้ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาบาลีแบบนี้ แต่ต้องเป็นหลักฐานที่เมื่ออ้างแล้วใครได้ฟังก็ต้องยอมจำนนแบบเดียวกัน

จุดที่ ๒: หลักฐานตามที่ว่าในข้อแรกนั้นต้องไม่ใช่หลักฐานที่เกิดจาก “ความเห็น” แต่ต้องเป็น “ความจริง”

หลักฐานที่เกิดจาก “ความเห็น” ก็อย่างเช่น-อ้างว่า พระนามที่เรียกกันคือ พระ-นะ-เรด เพราะฉะนั้น “นเรศวร” จึงต้องแยกคำเป็น นเรศ (นะ-เรด ตามที่เรียกกัน) + วร ที่แปลว่า ประเสริฐ

อ้างอย่างนี้ก็ถูกแย้งกลับได้ว่า นะ-เรด นั่นแหละ แต่เขียนเป็น “นเรศวร” คือต้องอ่านว่า นะ-เรด ไม่ใช่ นะ-เร-สวน แต่คนภายหลังไม่เข้าใจเจตนาในอักขรวิธี ไปอ่านว่า นะ-เร-สวน เข้า

เหมือนคำว่า “ดูกร” เขียนอย่างนี้เจตนาจะให้อ่านว่า ดู-ก่อน (ตามอักขรวิธีในเวลานั้น) แต่คนภายหลังไม่เข้าใจ ไพล่ไปอ่านว่า ดู-กะ-ระ จนเวลานี้ ดู-กะ-ระ เป็นคำที่ถูกต้องไปแล้ว

นเรศวร” ต้องอ่านว่า นะ-เรด แต่คนภายหลังไปอ่านว่า นะ-เร-สวน และอ่านเช่นนี้กันทั้งบ้านทั้งเมืองไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปแล้ว ซ้ำยังมีคำว่า “อิศวร” (อิ-สวน) เป็นที่อ้างอิงได้อีก

เพราะฉะนั้น ในคำว่า “นเรศวร” จึงไม่มีคำว่า “วร” ที่แปลว่า “ประเสริฐ” แต่อย่างใด

คือ ไม่ใช่ นเรศ + วร

แต่เป็น นร + อิศวร

ถูกยันกลับแบบนี้จะว่าอย่างไร

ก็เถียงกันไม่จบเท่านั้นเอง

หลักฐานที่ยกมาหักล้างจึงต้องไม่ใช่ “ความเห็น”

แต่ต้องเป็น “ความจริง” ที่เถียงไม่ขึ้น

ผู้เขียนบาลีวันละคำมั่นใจว่าผู้เสนอคำอ่านแบบใหม่ต้องหาหลักฐานชนิดที่เถียงไม่ขึ้นมาให้เราดูกันได้

จุดที่ ๓: พระนาม “พระนเรศวรมหาราช” มีการเผยแพร่คำอ่านว่า พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มะ-หา-ราด

ไม่ทราบว่านี่เป็นการอ่านของผู้เสนอความเห็นโดยตรง หรือเป็นเพียงการสรุปของผู้ที่ได้อ่านความเห็นนั้นมาอีกต่อหนึ่ง

มีข้อสังเกตที่ควรเข้าใจให้ตรงกัน นั่นคือ ตามที่เข้าใจกันนั้น คำว่า “มหาราช” เป็นคำที่เราคิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งน่าจะได้แนวคิดตามคำที่ฝรั่งเรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่บางพระองค์ว่า the Great เช่น –

Alexander the Great

Asoka the Great

เราเอาคำว่า the Great มาแปลหรือแปลงเป็น “มหาราช” แล้วถวายพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ของเรา เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หมายความว่า ในสมัยของพระเจ้าแผ่นดินเหล่านี้ ผู้คนไม่ได้เรียกขานพระองค์โดยมีคำว่า “มหาราช” ต่อท้ายแต่ประการใด คนในยุคสมัยเราเป็นผู้คิดคำว่า “มหาราช” ถวายย้อนหลังกันเอง

แล้วก็ – “พระนเรศวรมหาราช” ตามที่เข้าใจกันก็คืออ่านว่า พฺระ-นะ-เร-สวน-มะ-หา-ราด นั่นคือ พระนเรศวร + มหาราช

แต่ตามที่อ่านใหม่ จะต้องแยกเป็น พระนเรศ + วรมหาราช

ก็จึงจะต้องอธิบายได้ว่า คำว่า “วรมหาราช” เป็นคำที่มีมาเก่า เราใช้กันมาก่อนที่จะรู้ว่าฝรั่งใช้คำว่า the Great ต่อท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์

หาไม่แล้วจะกลายเป็นว่า คำอ่าน พฺระ-นะ-เรด-วอ-ระ-มะ-หา-ราด เป็นเพียงความเห็นของผู้ที่ไปเห็นคำว่า “วรราชาธิราช” ซึ่งมีผู้บอกกันว่าสร้อยพระนามของพระนเรศวรคือ “วรราชาธิราช” (พระนเรศวรราชาธิราช) ก็เลยเอาคำว่า “วรราชาธิราช” มาประสมใหม่เป็น “วรมหาราช

นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องแก้ให้กระจ่าง มิเช่นนั้นจะพัลวันกันหมด

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาร่วมกัน

และในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ นี้ ขอให้พวกเราอ่านพระนาม “พระนเรศวรมหาราช” ว่า พฺระ-นะ-เร-สวน-มะ-หา-ราด ตามที่เคยอ่านกันมาไปก่อน จนกว่าทางราชการจะประกาศเป็นอย่างอื่น (ซึ่งจะมีการประกาศหรือไม่ก็ยังไม่มีใครบอกได้)

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีคำร้องขอดังต่อไปนี้ –

๑ ผู้ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็น จะเป็นใครบ้างก็ตาม ขอให้มองกันในแง่ดี เห็นความตั้งใจดี มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง มิได้ตั้งใจจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายใดๆ แต่มุ่งจะให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสำคัญ

ขอร้องไปยังผู้เสนอความเห็นว่า เมื่อตั้งเป็นประเด็นขึ้นแล้วก็อย่าปล่อยให้เงียบหายไปกับสายลม แต่ควรดำเนินการต่อไปให้ถึงที่สุดจนกว่าจะเห็นผล ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม

๒ ความมุ่งหมายในการแสดงความคิดเห็นก็คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง แต่ละคนแต่ละฝ่ายจึงไม่ควรยึดถือความคิดเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่พึงยึดถือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง ความเชื่อความคิดเห็นเดิมๆ ก็อาจต้องเปลี่ยนใหม่ได้ถ้ามีข้อมูลหลักฐานที่ถูกต้องดีกว่า

ดังเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี่เอง กล่าวคือ ครั้งหนึ่งกระทรวงกลาโหมเคยกำหนดให้วันที่ 25 มกราคม เป็น “วันกองทัพไทย” ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชา

สมัยนั้น เด็กชายที่เกิดวันที่ 25 มกราคม พ่อแม่นิยมตั้งชื่อว่า “ทัพไทย” กันเป็นจำนวนไม่น้อย ยังเป็นพยานได้อยู่

ครั้นต่อมา มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบทบทวนวันเดือนปีที่แน่นอน ได้พบหลักฐานว่า วันที่กระทำยุทธหัตถีนั้นเมื่อคำนวณตามปฏิทินแล้วตรงกับวันที่ 18 มกราคม หาใช่วันที่ 25 มกราคมดังที่เชื่อกันมาแต่เดิมไม่

ในที่สุดกระทรวงกลาโหมก็ประกาศเปลี่ยน “วันกองทัพไทย” จากวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ตามหลักฐานใหม่

๓ พึงระลึกว่า สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้คือความคิดความเห็นของกันและกัน ไม่ใช่พิจารณาตัวของผู้คิดเห็น เราอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดความเห็นของเขา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเกลียดตัวเขาไปด้วย ตรงกันข้าม ไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นไปในทางใดๆ ก็ควรมีเมตตาไมตรีจิตต่อกันเสมอ

ข้อนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยยังสับสนกันอยู่มาก ในการแสดงความคิดเห็นใดๆ เรามักจะมุ่งติเตียนกัน เหยียบย่ำกัน จนถึงหักโค่นกัน จึงแทนที่จะให้สติปัญญาแก่กันและกันเพื่อนำไปสู่ข้อยุติที่ถูกต้องเหมาะสม หรือได้ความจริงเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็กลับสร้างความขุ่นข้องหมองใจ ชิงชังเกลียดชังกัน อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง

๔ จึงขอร้องว่า ในการแสดงความคิดเห็น ขอให้มีไมตรีจิตต่อกันเป็นที่ตั้ง ดังคำพระที่ว่า มีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา คือมองเห็นกันและกันเป็น “เพื่อนรัก” ของตน มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน สมัครสมานกัน เกื้อกูลกัน ช่วยกันแสวงหาความรู้ความจริง เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือชาติบ้านเมืองร่วมกัน

…………..

#บาลีวันละคำ (2,612) : ครั้งพิเศษ

7-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย