พิธีกร ไวยาวัจกร มรรคนายก (บาลีวันละคำ 2,613)
พิธีกร ไวยาวัจกร มรรคนายก
ต่างกันอย่างไร
(๑) “พิธีกร”
อ่านว่า พิ-ที-กอน ประกอบด้วยคำว่า พิธี + กร
(ก) “พิธี” บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
ในที่นี้แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย : วิธิ > พิธิ และแปลงเสียง อิ ที่ ธิ เป็น อี : พิธิ > พิธี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
“พิธี : (คำนาม) งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคลเป็นต้น เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่น ทำให้ถูกพิธี; การกําหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุพิธีในเทพพู้น. (ม. คําหลวง ทศพร). (ป., ส. วิธิ).”
(ข) “กร” บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ”
“กร” ยังหมายถึง “มือ” ได้ด้วย แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน”
พิธี + กร = พิธีกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำพิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิธีกร : (คำนาม) ผู้ดําเนินการในพิธี เช่น พิธีกรในงานมงคลสมรส, ผู้ดำเนินรายการ เช่น พิธีกรในการสัมมนา.”
“พิธีกร” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทย ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์บาลี
(๒) “ไวยาวัจกร”
อ่านว่า ไว-ยา-วัด-จะ-กอน ประกอบด้วยคำว่า ไวยาวัจ + กร
(ก) “ไวยาวัจ” บาลีเป็น “เวยฺยาวจฺจ” อ่านว่า เวย-ยา-วัด-จะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + วฏฺ (ธาตุ = หมุน, แจก) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย (วิ > วฺย) แล้วแปลง วยฺ เป็น เวยฺย, แปลง ฏ ที่สุดธาตุกับ ย (ณฺย ปัจจัย) เป็น จฺจ
: วิ > วฺย + อา + วฏฺ = วฺยาวฏฺ + ณฺย = วฺยาวฏณฺย > วฺยาวฏฺย > วฺยาวจฺจ > เวยฺยาวจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “การหมุนไปรอบด้านอย่างวิเศษ” หมายถึง การบริการ, การเอาใจใส่, การรับใช้, การงาน, งาน, หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, หน้าที่การงาน (service, attention, rendering a service; work, labour, commission, duty)
(ข) “กร” บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย (ดูข้างต้น)
เวยฺยาวจฺจ + กร = เวยฺยาวจฺจกร (เวย-ยา-วัด-จะ-กะ-ระ) แปลว่า “ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ” หมายถึง ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระของสงฆ์, ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวยฺยาวจฺจกร” ว่า servant, agent (คนรับใช้, ตัวแทน)
“เวยฺยาวจฺจกร” ภาษาไทยใช้ว่า “ไวยาวัจกร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไวยาวัจกร : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ. (ป. เวยฺยาวจฺจกร).”
(๓) “มรรคนายก”
อ่านว่า มัก-คะ-นา-ยก ประกอบด้วยคำว่า มรรค + นายก
(ก) “มรรค” บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
“มคฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
ในที่นี้ “มคฺค” ใช้อิงสันสกฤตเป็น “มรรค”
(ข) “นายก” บาลีอ่านว่า นา-ยะ-กะ รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง อี ที่ นี เป็น เอ แปลง เอ เป็น อาย (นี > เน > นาย), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: นี > เน > นาย + ณฺวุ > อก : นาย + อก = นายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำ” หมายถึง ผู้นํา, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้นำทาง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นายก” ว่า a leader, guide, lord (ผู้นำ, ผู้นำทาง, ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่)
มคฺค + นายก = มคฺคนายก > มรรคนายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำทาง”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“มรรคนายก : (คำนาม) “ผู้นำทาง” คือ ผู้จัดการทางกุศล หรือ ผู้ชี้แจงทางบุญทางกุศลและป่าวประกาศให้ประชาชนมาทำบุญทำกุศลในวัด. (ส. มารฺค + นายก).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
มรรคนายก : “ผู้นำทาง”, ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธี ตามปกติทำหน้าที่ประจำอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดนั้นๆ, ผู้นำทางบุญของเหล่าสัปบุรุษ
ความแตกต่างที่เป็นหลักๆ :
(๑) “พิธีกร” = ผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการเมื่อมีพิธีหรือมีงานเท่านั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นงานบุญ
(๒) “ไวยาวัจกร” = ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระและวัดในกิจทั่วไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเงิน ไม่ว่าจะมีพิธีหรือการจัดงานใดๆ หรือไม่ก็ตาม
(๓) “มรรคนายก” = พิธีกรในงานบุญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับศาสนพิธี แม้ไม่มีพิธีก็อาจช่วยกิจเกี่ยวกับงานบุญทั่วไปได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้คนให้ถูกกับงานที่ทำ
: ใช้คำให้ถูกกับงานของคน
#บาลีวันละคำ (2,613)
8-8-62