บาลีวันละคำ

สติมา (บาลีวันละคำ 2,636)

สติมา

คำไทยก็ดี คำบาลีก็ได้

อ่านว่า สะ-ติ-มา

สติมา” บาลีรูปคำเดิมเป็น “สติมนฺตุ” (สะ-ติ-มัน-ตุ) แยกคำเป็น สติ + มนฺตุ

(๑) “สติ

รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท

สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

(๒) “มนฺตุ” (มัน-ตุ)

ในทางไวยากรณ์บาลีเป็น “ปัจจัย” ตัวหนึ่งใน “ตัทธิต” (ตัด-ทิด, เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการสร้างคำคุณศัพท์โดยวิธีใช้ปัจจัยแทนศัพท์) ตัทธิตมีหลายชนิด ในที่นี้เป็นตัทธิตชนิดที่เรียกว่า “ตทัสสัตถิตัทธิต” (ตะ-ทัด-สัด-ถิ-ตัด-ทิด) ตัทธิตชนิดนี้ใช้ปัจจัยแทนคำว่า “อตฺถิ” (อัด-ถิ) ซึ่งแปลว่า “มีอยู่” มีปัจจัยหลายตัว หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “มนฺตุ” ปัจจัย

จับหลักสั้นๆ ว่า “มนฺตุ” ปัจจัย ต่อท้ายคำนามคำใด คำนามคำนั้นแปลว่า “มี-” (ต่อด้วยคำแปลของนามคำนั้น)

ในที่นี้ สติ (สติ, ความระลึกได้) + มนฺตุ (มีอยู่) = สติมนฺตุ (สะ-ติ-มัน-ตุ)

สติมนฺตุ” จึงแปลว่า “มีสติ

สติ” คำเดียว แปลทับศัพท์ว่า “สติ” ไม่ได้แปลว่า “มีสติ

มนฺตุ” แปลว่า “มีอยู่” ยังไม่รู้ว่าอะไรมีอยู่ อยากรู้ว่าอะไรมีอยู่ก็ดูที่คำข้างหน้า “มนฺตุ” ซึ่งนั่นก็คือ “สติ-” = สติมนฺตุ

สติมนฺตุ” จึงแปลว่า “มีสติอยู่” > “มีสติ” ไม่ใช่ “สติ” เฉยๆ

สติ” แปลว่า “สติ

สติมนฺตุ” แปลว่า “มีสติ

สติมนฺตุ” ยังเป็นรูปคำเดิม ต้องนำไปแจกด้วยวิภัตตินามก่อนจึงจะใช้ประกอบเป็นข้อความได้

สติมนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์

วิภัตตินามที่หนึ่ง เอกพจน์” คือ “สิ” : สติมนฺตุ + สิ เปลี่ยนรูปโดยสูตรว่า “เอา –นฺตุ กับ สิ เป็น อา

: สติม(นฺตุ + สิ = อา) : สติม + อา = สติมา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสติ

ขยายความ :

ในที่หลายแห่งในคัมภีร์ คำว่า “สติมา” นิยมใช้เป็นชุดควบกัน 3 คำ คือ “อาตาปี  สมฺปชาโน  สติมา

อาตาปี” หมายถึง มีความเพียร, มีความบากบั่น, มีความอุตสาหะ, มีความกระตือรือร้น (ardent, zealous, strenuous, active)

สมฺปชาโน” หมายถึง มีความคิด, รู้สึกตัว, มีความรู้สึก, เอาใจใส่, รอบคอบ (thoughtful, mindful, attentive, deliberate)

สติมา” หมายถึง มีสติ, มีความคิด, คิดคำนึง, มีความรำพึง (mindful, thoughtful, contemplative, pensive)

โปรดสังเกตว่า “สติมา” กับ “สมฺปชาโน” จะมีความหมายใกล้เคียงกัน ทั้ง 2 คำนี้ก็คือที่เรารู้จักมักคุ้นว่า “สติสัมปชัญญะ” นั่นเอง

คำว่า “สติมา” นี้เป็นคำที่ชอบกลอยู่ คือคำไทยพูดว่า “สติมา” ก็หมายถึง สติกลับคืนมา “มา” ในที่นี้เป็นคำไทย แปลว่า กลับมา กล่าวคือเมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้นทำให้ขาดสติ คือไม่ทันรู้ตัวว่าควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร ขณะนั้นถ้าตั้งสติใหม่ก็จะกลับรู้สึกตัวได้ นั่นคือสติ “กลับคืนมา” พูดสั้นๆ ว่า “สติมา” คือสติที่ขาดหายไปชั่วขณะหนึ่งนั้น บัดนี้กลับคืนมาแล้ว

มีคำง่ายๆ ที่นิยมพูดกันและจำกันได้ทั่วไป คือ –

สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด เกิดปัญหา

สติมา” จึงเป็นคำไทยก็ดี เป็นคำบาลีก็ได้

คำบาลี “สติมา” แปลว่า “มีสติ

คำไทย “สติมา” แปลว่า “สติกลับคืนมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา.

: สตางค์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นทุกเรื่องไป

: แต่สติจำเป็นทุกเรื่อง

#บาลีวันละคำ (2,636)

31-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย