บาลีวันละคำ

วิทยากล (บาลีวันละคำ 2,635)

วิทยากล

จริงหลอกๆ หลอกจริงๆ

อ่านว่า วิด-ทะ-ยา-กน

ประกอบด้วยคำว่า วิทยา + กล

(๑) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”

(๒) “กล

บาลีเป็น “กลา” (กะ-ลา) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กลฺ + = กล + อา = กลา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขานับด้วย 1 เป็นต้น

กลา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เสี้ยวเล็ก ๆ ของส่วนที่เต็ม, โดยทั่วๆ ไปถือว่าหนึ่งใน 16; ส่วนที่ 16 ของวงพระจันทร์; หรือมีบ่อยแบ่งส่วนที่ 16 ออกเป็นอีก 16 ส่วน และแบ่งออกเป็นอีก 16 ส่วน แล้วแบ่งเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ คือส่วนที่เล็กน้อยเหลือประมาณ (a small fraction of a whole, generally the 16th part; the 16th part of the moon’s disk; often the 16th part again subdivided into 16 parts and so on: one infinitesimal part)

(2) อุบายวิธี, การหลอกลวง (an art, a trick)

กลา” ในบาลี นำมาใช้ในภาษาไทยเป็น “กล” (กน, ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า กน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กล, กล– : (คำนาม) การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล. (คำวิเศษณ์) เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (คำที่ใช้ในกฎหมาย).”

จะเห็นได้ว่า ความหมายของ “กล” ในภาษาไทยเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง

ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม

วิทยา + กล = วิทยากล เป็นคำไทยที่รูปคำบาลีสันสกฤตมาบัญญัติขึ้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิทยากล : (คำนาม) การแสดงที่อาศัยกลวิธีและความไวทำให้ผู้ชมสนเท่ห์.”

อภิปราย :

วิทยากล” เป็นการแสดง มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงโดยมีความสนเท่ห์ของผู้ดูเป็นเครื่องรองรับ หมายความว่า ที่เกิดความบันเทิงก็เพราะมีความสนเท่ห์ว่าสิ่งที่ตาเห็นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้ารู้วิธีทำที่เรียกว่า “จับได้” เสียแล้ว ความบันเทิงก็คลายไปหรือหมดไป

เรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเรารู้ความจริง เราก็จะรู้ว่าควรทำ ควรพูด หรือควรคิดอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ แต่ถ้าไม่รู้ความจริง ท่าทีของเราต่อสิ่งนั้น เรื่องนั้น หรือบุคคลนั้นๆ ก็จะผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น อันเป็นที่มาของการทำผิด พูดผิด และคิดผิด

จะเห็นได้ว่า การรู้ความจริงหรือการไม่รู้ความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงเพราะไม่ได้เห็นกับตา

: อย่าเพิ่งด่วนปฏิเสธว่าไม่มีจริง

: แม้จะได้เห็นกับตา

: ก็อย่าเพิ่งด่วนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

#บาลีวันละคำ (2,635)

30-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย