บาลีวันละคำ

อุปสัค (อุปสคฺค) – อุปสรรค (อุปสรฺค) (บาลีวันละคำ 2,640)

อุปสัค (อุปสคฺค) – อุปสรรค (อุปสรฺค)

วงการบาลีจะใช้ใช้คำไหน

คำที่ออกเสียงว่า อุ-ปะ-สัก หรือ อุบ-ปะ-สัก บาลีเป็น “อุปสคฺค” อ่านว่า อุ-ปะ-สัก-คะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + สชฺ (ธาตุ = ขัดข้อง, ขวาง; ตอบ, ชี้แจง) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน คฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (สชฺ + + ) แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น

: อุป + สชฺ = อุปสชฺ + + = อุปสชคณ > อุปสชค > อุปสคฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ขัดขวางประโยชน์” (2) “ชี้แจงความหมาย” หมายถึง (1) เครื่องกีดขวาง, อุปสรรค, ความยุ่งยาก, อันตราย (attack, trouble, danger) (2) ศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ คือ อุปสรรค, บุรพบท (prefix, preposition)

บาลี “อุปสคฺค” สันสกฤตเป็น “อุปสรฺค

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อุปสรฺค” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปสรฺค : (คำนาม) ‘อุปสรรค,’ อุตบัต, ลางหรือนิมิตต์ร้าย, อุปราค, ฯลฯ; สิ่งขวางหน้า; บทนำ, นิบาตอันใส่ไว้น่าธาตุ, บุรพบท; โรค; ผีสิง; อาการตาย; a portent, an evil omen, an eclipse, etc.; an obstacle; a prefix, a particle prefixed to roots, a preposition; disease; possession by an evil spirit; indication or symptom of death.”

อภิปราย :

มีคำถามว่า บาลี “อุปสคฺค” สันสกฤต “อุปสรฺค” วงการบาลีจะใช้คำไหน “อุปสัค” หรือ “อุปสรรค”?

ทั้งนี้เนื่องจากในหนังสือบาลีไวยากรณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อกล่าวถึง prefix ใช้ว่า “อุปสัค

เรื่องนี้ตอบได้ง่าย คือ คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้สะกดเป็น “อุปสรรค” (อิงสันสกฤต)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปสรรค : (คำนาม) เครื่องขัดข้อง, ความขัดข้อง, เครื่องขัดขวาง. (ส. อุปสรฺค; ป. อุปสคฺค); คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น วัฒน์ = เจริญ อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง ปักษ์ = ฝ่ายปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.”

และคำที่สะกดเป็น “อุปสัค” พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บไว้

ส่วนกรณีที่หนังสือบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ใช้ว่า “อุปสัค” (อิงบาลี) ก็เนื่องจากเป็นการสะกดตามที่นิยมหรือที่ตกลงกันในเวลานั้น หรืออาจเป็นพระมติส่วนพระองค์ของท่านผู้นิพนธ์ว่าควรสะกดแบบนั้น และเมื่อตำราชุดนั้นพิมพ์ติดต่อกันมาโดยวิธีรักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ ก็ถือว่าถูกต้องตามความประสงค์ในที่นั้น

ในที่ทั่วไป คำนี้ถือว่าไม่มีปัญหา คือต้องสะกดเป็น “อุปสรรค” แล้วก็สะกดเช่นนี้จนลงตัวทั่วไปอยู่แล้ว

ที่อาจจะยังมีปัญหาก็เฉพาะในวงการเรียนบาลีของคณะสงฆ์ไทย กล่าวคือเมื่อสะกดคำนี้-เช่นในการเขียนตอบปัญหา-จะให้ใช้แบบไหน “อุปสัค” ตามตำราบาลีไวยากรณ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น หรือ “อุปสรรค” ตามพจนานุกรมฯ ซึ่งก็คือตามที่ใช้กันทั่วไป

เรื่องนี้ถ้าจะแก้ก็แก้ไม่ยาก นั่นคือคณะสงฆ์หรือผู้รับผิดชอบเพียงแต่ออกประกาศชี้แจงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ยุติแน่นอน เท่านี้ก็เสร็จแล้ว ถ้าคณะสงฆ์เคยมีประกาศเรื่องนี้ออกมาแล้ว ก็เอาประกาศนั้นมาทบทวนยืนยัน เรื่องก็ยิ่งจบง่าย

แต่ที่จะยากก็คือ คณะสงฆ์ไทยท่านไม่นิยมวินิจฉัยหรือตัดสินปัญหาให้เด็ดขาด แต่นิยมใช้วิธีปล่อยปัญหานั้นให้คาราคาซัง ทำกันทั่วไป เห็นกันทั่วไป จนเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องถูกต้องไปแล้วก็มี

เมื่อเข้าใจธรรมชาติเช่นนี้แล้ว ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากทำใจ แล้วก็ช่วยกันศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ให้ถูกต้อง เพื่อรักษาตัวไม่ให้ทำอะไรผิดตามกันไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ว่ามีปัญหา แต่ไม่ยอมแก้

นับว่าเป็นยอดอุปสรรค

: แต่การไม่ยอมรับรู้ว่ามีปัญหา

ต้องถือว่าเป็นโคตรอุปสรรค

—————–

(บรรเทาความสงสัยของพระคุณท่าน ศ. สุรเมธี

หรือพอร้ายพอดีอาจทำให้สงสัยหนักขึ้นไปอีก)

#บาลีวันละคำ (2,640)

4-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย