บาลีวันละคำ

จตุลังคบาท (บาลีวันละคำ 2,641)

จตุลังคบาท

รู้ความ แต่ไม่รู้คำ

อ่านว่า จะ-ตุ-ลัง-คะ-บาด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

จตุลังคบาท : (คำโบราณ) (คำนาม) เจ้ากรมพระตำรวจหลวงประจำ ๔ เท้าช้างทรงของพระมหากษัตริย์หรือพระมหาอุปราชในเวลาสงคราม เช่น จตุลังคบาทสี่ตน ล้วนขุนพลสามรรถ. (ตะเลงพ่าย), จัตุลังคบาท ก็ว่า.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –

จตุลังคบาท : (คำโบราณ) (คำนาม) พลประจำ ๔ เท้าช้าง, สำหรับช้างทรงของพระมหากษัตริย์หรือพระมหาอุปราชในเวลาสงคราม มีเจ้ากรมพระตำรวจหลวงหรือข้าราชการ เช่น พระมหามนตรี พระมหาเทพ หลวงอินทรเทพ หลวงพิเรนทรเทพ ประจำ ๔ เท้าช้าง เช่น จตุลังคบาทสี่ตน ล้วนขุนพลสามรรถ (ตะเลงพ่าย), จัตุลังคบาท หรือ แวงจตุลังคบาท ก็ว่า.”

คลังความรู้ เรื่อง “จตุลังคบาท” ของราชบัณฑิตยสภา (เขียนโดย ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน เผยแพร่เมื่อ 24 พฤษภาคม 2553) อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

…………..

ผู้ที่จะเป็นจตุลังคบาทนี้ต้องเป็นคนที่มีความสามารถมากและเป็นนายทหารระดับสูง ตัวอย่างเช่น ช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาไชยานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี มีจตุลังคบาท คือ พระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ประจำเท้าหน้าขวา  พระมหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ประจำเท้าหน้าซ้าย  หลวงอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ประจำเท้าหลังขวา และหลวงพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ประจำเท้าหลังซ้าย  ต่อมา เมื่อเลิกทำสงครามด้วยช้างแล้ว เจ้ากรมพระตำรวจทั้ง ๔ ไม่ต้องเป็นจตุลังคบาท แต่ยังต้องตามเสด็จและทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิด ซึ่งในปัจจุบันก็คือตำรวจหลวงนั่นเอง

…………..

เรื่องความหมายเป็นอันไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาว่า คำว่า “จตุลังคบาท” ประกอบด้วยคำอะไรบ้าง

ต้นคำ “จตุ-” แปลว่า “สี่” (จำนวน 4) ไม่มีข้อสงสัย

ปลายคำ “-บาท” แปลว่า “เท้า” ก็ไม่มีข้อสงสัย

แต่กลางคำ “-ลังค-” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำไว้ แต่เมื่อต้นคำและปลายคำเป็นบาลีสันสกฤต กลางคำก็ควรจะเป็นบาลีสันสกฤตด้วยเช่นกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ลงฺค” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ลงฺค : (คำนาม)  ‘ลังค์,’ สมาคม; กามาสักต์, ผู้หนักในกาม; สวาท; การเดิรเขยก; onion; a lecher; a catamite; limping.”

ไม่มีความหมายที่พอจะลากเข้าความได้สนิท นอกจากความหมายที่ว่า “การเดิรเขยก” (limping) ถ้าลากเข้ามาใช้กับ “พลประจำ ๔ เท้าช้าง” จะต้องใช้จินตนาการเข้าช่วย เช่น พลประจำเท้าช้างจะต้องเดินเขยกตามจังหวะการก้าวเดินของช้าง-แบบนั้นกระมัง?

ในบาลีมีคำว่า “ลงฺคี” (ลัง-คี) รากศัพท์มาจาก ลคิ (ธาตุ = ไป, ถึง; เขยก) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น งฺ (ลคิ > ลํคิ > ลงฺคิ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ (ลบสระหน้า)

: ลคิ > ลํคิ > ลงฺคิ > ลงฺค + = ลงฺค + อี = ลงฺคี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาเลื่อนไปมา” หมายถึง กลอนประตู, ลิ่ม, ดาล, เครื่องกีดขวาง (bolt, bar, barrier, obstruction)

ความหมายของ “ลงฺคี” ที่ว่า “เครื่องกีดขวาง” (barrier, obstruction) ดูจะลากเข้าความได้ง่ายขึ้น คือหมายถึง ทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกีดขวางไม่ให้มีสิ่งใดๆ เข้ามาทำอันตรายเท้าช้าง เมื่อเท้าปลอดภัย ช้างก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ดังปรารถนา

ลงฺคี” กับ “ลงฺค” รากศัพท์เดียวกัน

เพราะฉะนั้นก็สันนิษฐานได้ว่า “-ลังค-” ที่อยู่กลางคำ “จตุลังคบาท” เป็นคำบาลีสันสกฤต แปลว่า “เครื่องกีดขวาง

จตุ-” แปลว่า “สี่” (จำนวน 4)

“-ลังค-” แปลว่า “เครื่องกีดขวาง

“-บาท” แปลว่า “เท้า

จตุลังคบาท” แปลว่า ทหารสี่นายผู้ทำหน้าที่ระวังป้องกันเท้าช้าง

นี่เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบาลีวันละคำยังอยากจะสันนิษฐานด้วยว่า “จตุลังคบาท” อาจเป็นคำที่พูดเพี้ยนเขียนผิดมาจากคำว่า “จตุรังคบาท” นั่นเอง

จตุรังค” ก็คือ จตุร + อังค = จตุรังค แปลว่า “องค์สี่” หมายถึง สิ่งที่มีส่วนประกอบเป็นจำนวน 4

จตุรังคบาท” แปลตามศัพท์ว่า “เท้าอันมีองค์สี่” หมายถึง ทหารสี่นายประจำเท้าช้าง

จตุรังคบาท” นั่นเอง เรียกกันไปเรียกกันมา เพี้ยนเป็น “จตุลังคบาท” แล้วก็กลายเป็น “ผิดจนถูก” ไปในที่สุด

…………..

โปรดระลึกว่า ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำ ไม่ว่าจะเป็นคำนี้หรือคำไหนอีก สามารถโต้แย้งหักล้างได้ทุกคำ ขอให้ถือว่าทุกคนเป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยกันหาความรู้ไปด้วยกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หัวสูงอยู่ได้ต้องอาศัยเท้า

: เป็นนายเขาอย่าดูถูกลูกน้องตน

#บาลีวันละคำ (2,641)

5-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย