บาลีวันละคำ

อนุมูลอิสระ (บาลีวันละคำ 2,642)

อนุมูลอิสระ

สวย แต่เข้าใจยาก

อ่านว่า อะ-นุ-มูน-อิด-สะ-หฺระ

แยกศัพท์เป็น อนุ + มูล + อิสระ

(๑) “อนุ” (อะ-นุ)

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

(๒) “มูล

บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + ปัจจัย

: มูลฺ + = มูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น

มูล” ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ –

(1) รากไม้ (root)

(2) โคน, ก้น (foot, bottom)

(3) หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

(4) กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

(5) ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

(6) แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มูล” ไว้ 4 คำ ที่มีความหมายตามนัยที่ประสงค์ในที่นี้คือ มูล ๑ บอกไว้ดังนี้ –

มูล ๑, มูล– : (คำนาม) โคน เช่น รุกขมูล; ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล, เค้า เช่น คดีมีมูล, ต้น เช่น ชั้นมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).”

(๓) “อิสระ

เขียนแบบบาลีเป็น “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

การประสมคำ :

อนุ + มูล = อนุมูล

อนุมูล + อิสระ = อนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ” เป็นศัพท์บัญญัติและเป็นศัพท์วิชาการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อนุมูล” ไว้ บอกความหมายไว้ว่า –

อนุมูล : (คำนาม) หมู่ธาตุซึ่งเมื่อเข้าสู่ปฏิกิริยาเคมีแล้ว ทั้งหมู่จะเข้าทําปฏิกิริยาด้วยกัน โดยไม่แตกแยกออกจากกัน เช่น อนุมูลไฮดรอกซิล (-OH) อนุมูลไนเทรต (-NO3). (อ. radical, radicle).”

อภิปราย :

จะเห็นได้ความหมายของ “อนุมูล” เป็นวิชาการเฉพาะจริงๆ คนทั่วไปอ่านแล้วจะเข้าใจยากมาก ดูความหมายตามรูปศัพท์ คือ “อนุมูล” ก็ไม่มีทางเดาถูกว่า “มูล” ในที่นี้หมายถึงอะไร

ส่วนคำว่า “อนุมูลอิสระ” พจนานุกรมฯ ยังไม่ได้เก็บไว้ จึงยังไม่มีทางรู้ได้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อนุมูล” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า radical หรือ radicle

รายการศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิยสภา บอกไว้ว่า “อนุมูลอิสระ” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า free radical (radical, free)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล radical ไว้ดังนี้ –

1. กรณฑ์ คือจำนวนที่เป็นราก เช่น จำนวนที่เป็นรากของ ๘๑ หรือ ๓ กำลัง ๔ คือ ๓, เครื่องหมาย root = radical sign

2. รากของคำ, ปัจจัย, หน่วยที่เป็นราก

3. รากของธาตุ, อนุมูลของสารประกอบ = radicle, เกี่ยวกับราก, อันเป็นมูลราก

4. สมุฏฐาน, ลึกซึ้ง, (การเปลี่ยนแปลง) อย่างถอนราก, (การแก้) สมุฏฐานของโรค

5. บุคคลที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก, บุคคลที่มีความเห็นรุนแรงในทางการเมือง, ฝ่ายซ้าย, ซึ่งมีความเห็นรุนแรง

และแปล radicle ว่า อนุมูลของสารประกอบ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล radical เป็นบาลีไว้ดังนี้ :

(1) mūlika มูลิก (มู-ลิ-กะ) = สิ่งที่ประกอบด้วยรากหรือต้นเหตุ

(2) nesaggika เนสคฺคิก (เน-สัก-คิ-กะ) = สิ่งที่ยืนตัวอยู่ (ไม่แปรเป็นอื่น)

(3) sabhāvaja สภาวช (สะ-พา-วะ-ชะ) = สิ่งที่เกิดและดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 6 กันยายน 2562 เวลา 18:30) อธิบายคำว่า “อนุมูลอิสระ” ไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

…………..

อนุมูลอิสระ (อังกฤษ: radical หรือมักใช้ว่า free radical) คือ อะตอม โมเลกุลหรือไอออนซึ่งมีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวหรือการจัดเรียงเป็นเชลล์เปิด (open shell) อนุมูลอิสระอาจมีประจุเป็นบวก ลบหรือเป็นศูนย์ก็ได้ ด้วยข้อยกเว้นบางประการ อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวเหล่านี้ทำให้อนุมูลอิสระว่องไวต่อปฏิกิริยาสูง

อนุมูลอิสระมีบทบาทสำคัญในการสันดาป เคมีบรรยากาศ พอลิเมอไรเซชัน เคมีพลาสมา ชีวเคมี และกระบวนการทางเคมีอีกหลายอย่าง ในสิ่งมีชีวิต ซูเปอร์ออกไซด์ ไนตริกออกไซด์และผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาของมันควบคุมหลายกระบวนการ เช่น ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือด ซึ่งควบคุมความดันโลหิตอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ อนุมูลอิสระยังมีบทบาทสำคัญในเมแทบอลิซึมตัวกลางของสารประกอบทางชีวภาพหลายชนิด

อนุมูลอิสระเกิดขึ้นเป็นปกติจากปฏิกิริยาในร่างกายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีธาตุเหล็ก ทองแดง แมงกานีส โคบอลต์ โครเมียม นิเกิลน้อย มักเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยร่างกายจะมีระบบกำจัดอนุมูลอิสระ แต่หากร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระจากภายนอก เช่น ได้รับจากอาหารบางชนิด จากขบวนการประกอบอาหาร เช่น การย่างเนื้อสัตว์ที่มีไขมันประกอบสูง การนำน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารที่อุณหภูมิสูง ๆ มาใช้อีก หรือจากสิ่งแวดล้อม เช่น แสงอาทิตย์ซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต การแผ่รังสี รังสีเอกซ์ หรือจากมลพิษ เช่น ควันบุหรี่ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์จากไอเสียรถยนต์ มากเกินไป หรือในภาวะที่ร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ลดลง ก็จะทำให้มีอนุมูลอิสระมากเกินไป เป็นสาเหตุของโรคภัยได้

…………..

สรุปว่า คำว่า “อนุมูลอิสระ” จากบาลีวันละคำวันนี้ให้ความหมายของศัพท์เมื่อแยกเป็นคำๆ เท่านั้น ส่วนความหมายรวมเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันหาความเข้าใจกันต่อไป ทั้งนี้เพื่อตอบปัญหาว่า จะพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่าอย่างไรชาวบ้านจึงจะพอเข้าใจได้ว่า “อนุมูลอิสระ” คืออะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อิสระที่สุดวิเศษ

: คือการไม่ต้องถูกกิเลสไสหัว

#บาลีวันละคำ (2,642)

6-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย